'นวดไทย' กำลังถูกตั้งคำถาม เรื่อง 'คุณภาพ'
“นวดไทย” มรดกโลก หากจะดันเป็น “ซอฟท์พาวเวอร์” การควบคุมคุณภาพเป็นโจทย์สำคัญ เรียกร้องยกเลิกใบอนุญาตแบบตลอดชีพ ขณะที่สธ.เร่งยกระดับ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
KEY
POINTS
- ประมาณการว่าการนวดไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจเกือบ 2 แสนล้านบาท และยังขาดแคลนหมอนวดจากความต้องการอีก 70,000 คนทั้งหมอนวดอาชีพและหมอนวดวิชาชีพ
- แต่“นวดไทย” ความหวัง “ซอฟท์พาวเวอร์” กำลังถูกจับตาและตั้งคำถามเรื่อง“ควบคุมคุณภาพ” และมีการเรียกร้องให้ยกเลิกใบอนุญาตแบบตลอดชีพ
- “นวดไทย” กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ย้ำก่อนเปิดร้านนวดต้องขออนุญาตตามกฎหมาย หมอนวดต้องขึ้นทะเบียน ขณะที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ย้ำถึงข้อควรระวังและข้อห้าม
“นวดไทย" ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น”มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”ประจำ ปีพุทธศักราช 2554 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “ตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ”ในปีพุทธศักราช 2562 ซึ่งประกาศรับรองโดย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเนสโก -UNESCO ) และเป็นหนึ่งในสิ่งที่ประเทศไทยจะผลักดันเป็นซอฟท์พาวเวอร์(Soft power)
2 แสนล้านมูลค่าเศรษฐกิจนวดไทย
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประเมินว่า หมอนวดยังขาดแคลนจากความต้องการอยู่อีกราว 70,000 คน แยกเป็น หมอนวดอาชีพ 50,000 คน และหมอนวดวิชาชีพ 20,000 คน
หากสามารถดำเนินการยกระดับให้ได้จำนวนตามต้องการจะสร้าง มูลค่าเศรษฐกิจขั้นต่ำจากการนวดเกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี แยกเป็น รายได้จากนวดอาชีพ ราว 46,500 ล้านบาทและนวดวิชาชีพ 143,616 ล้านบาท และมีร้านสปาและนวดไทยที่ขออนุญาตในประเทศไทยมากถึงราว 15,000 ร้าน
ทว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นานนี้ กรณีแรกนักร้องในจ.อุดรธานีเสียชีวิตและมีประวัติเคยไปนวดไทย และอาจจะมีการนวดบิดคอ และกรณีที่ 2 เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลป่าตอง โดยทราบว่าโรงพยาบาลป่าตองได้ไปรับผู้เสียชีวิตมาจากร้านนวดแห่งหนึ่ง ในพื้นที่หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต
กรณีแรกผลการตรวจสอบพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนวดไทย รวมถึง ร้านนวดมีการขออนุญาตถูกต้อง ส่วนกรณีที่ 2 จากการตรวจสอบของศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 11 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต พบว่า ร้านนวด “Swiss Palm” ซึ่งตั้งอยู่ใน หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เป็นร้านนวดเถื่อนไร้การขออนุญาตตามกฎหมายและ หมอนวดบางรายก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียน
2 เหตุการณ์ ทำให้คนหันมาให้ความสนใจ “นวดไทย”มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการ “ควบคุมคุณภาพการให้บริการ” จากที่เห็นมีการเปิดให้บริการแทบจะทุกตรอก ซอกซอย
เรียกร้องยกเลิกใบอนุญาตตลอดชีพ
ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก หัวหน้าหน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กล่าวว่า การกำหนดมาตรฐานที่เป็นกรอบชัดเจนเหมือนกันทั่วประเทศ เพื่อปิดช่องโหว่ของปัญหา จึงขอเสนอให้ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้มาช่วยกันกำหนดแผน ช่วยกันดูในเรื่องการให้ข้อมูลสถานบริการนวด รวมถึง ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการนวดเพื่อให้เกิดการรับรู้ที่ตรงกัน
“ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ ใบอนุญาตให้บริการนวดเพื่อสุขภาพเป็นแบบตลอดชีพ ที่ ไม่ใช่ใบประกอบวิชาชีพ จึงขอเรียกร้องและเสนอต้องต่ออายุทุกๆ 5 ปี ให้เหมือนกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ อีกทั้ง ในช่วงการต่ออายุใบอนุญาต ผู้ให้บริการนวดเพื่อสุขภาพต้องเข้ารับการอบรมเป็นระยะให้เพื่อความรู้ทันสมัย รวมถึง กฎระเบียบ ข้อห้าม ข้อควรระวัง จะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง”ภก.ยงศักดิ์กล่าว
ร้านนวดไทย ต้องขออนุญาต
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 กำหนดให้กิจการสปาและกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม เป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โดยผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต้องได้รับใบอนุญาต ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
หากกระทำความผิดด้วยการใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” “นวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันในประการที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โดยมิได้เป็นผู้รับอนุญาต
ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และมาตรา 42 ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท
ตรวจสอบร้านนวดไทย ก่อนรับบริการ
การป้องกันอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ที่อาจจะเกิดจากบริการนวดที่ไม่ได้มาตรฐาน กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ประชาชนเลือกรับบริการกับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสปา หรือร้านนวดที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น โดยตรวจสอบหลักฐานซึ่งแสดง ณ จุดบริการ ประกอบด้วย
1.ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ออกโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
2.ตราสัญลักษณ์มาตรฐาน สบส. เป็นรูปมือจีบสีทองและดอกกล้วยไม้สีม่วง
และ 3.หากเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภท สปา จะต้องมีใบอนุญาตของผู้ดำเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพแสดงเพิ่มเติม
หากไม่มีการแสดงหลักฐานข้างต้นก็ขอให้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่าสถานที่ดังกล่าวเป็น สปาเถื่อน ร้านนวดเถื่อน ขอให้แจ้งมาที่กรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
หมอนวดไทย ต้องผ่านการอบรม
ขณะที่ นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การนวดไทยเป็นกระบวนการดูแลสุขภาพ ที่ต้องมีหลักการหรือองค์ความรู้ในการนวดตามแนวเส้นประธานสิบ ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย สำหรับการนวดไทย แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การนวดเพื่อผ่อนคลาย หรือนวดเพื่อสุขภาพ และ การนวดเพื่อการรักษา ประกอบด้วย
1.หลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง กลุ่มนี้จะไม่มีการบิด ดัด เป็นการนวด คอ บ่า แขน ขา สะบักและหลัง วัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
2. หลักสูตรการนวดเพื่อการรักษา เป็นหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ 330 ชั่วโมง 372 ชั่วโมง 800 ชั่วโมง และ 1,300 ชั่วโมง เพื่อบำบัดรักษาแต่ละกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มปวดกล้ามเนื้อ นิ้วล๊อค หัวไหล่ติด เข่าเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
ปัจจุบันมีสถานฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองรวม 27 แห่ง แบ่งเป็น 23 แห่งในประเทศไทย และ 4 แห่งในต่างประเทศ
ในส่วนผู้ให้บริการด้านการนวดมี 3 ประเภท 1.ให้บริการนวดเพื่อสุขภาพ (หมอนวด) เรียน 150 ชั่วโมง อยู่ในกำกับของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และผ่าน พ.ร.บ.ปฏิบัติงานในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อสุขภาพ และสปา
2.ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย เรียนตั้งแต่ 330 ชั่วโมง 372 ชั่วโมง 800 ชั่วโมง และ 1,300 ชั่วโมง อยู่ในกำกับของสภาการแพทย์แผนไทย ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และคลินิก ทั้งภาครัฐและเอกชน
3. แพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่มีใบประกอบวิชาชีพ จากสภาการแพทย์แผนไทย ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และคลินิกทั้งภาครัฐและเอกชน
ข้อควรระวัง-ข้อห้ามนวดไทย
สำหรับข้อห้ามและข้อควรระวังในส่วนผู้ให้บริการ ข้อห้าม ได้แก่ 1.ห้ามนวดบริเวณที่เป็นมะเร็ง 2.ผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศา 3.บริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน 4. ผู้ที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ 5.กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ที่ยังไม่หายดี และ 6. โรคติดเชื้อทางผิวหนังทุกชนิด
ข้อควรระวัง ได้แก่ 1.สตรีมีครรภ์ 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 3.ใส่อวัยวะเทียมหลังผ่าตัดกระดูก 4.ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง และ 5.ผู้ที่เพิ่งรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ (ไม่เกิน 30 นาที) และก่อนให้บริการนวดไทย
เพิ่มความเชี่ยวชาญพิเศษหมอนวดไทย
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาการนวดไทย ด้วยการส่งเสริมและยกระดับอาชีพและวิชาชีพการนวดไทยให้มีมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการ และสนับสนุนให้นำมาใช้เป็นทางเลือกในการรักษาร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสภาการแพทย์แผนไทย ได้เร่งเดินหน้าเพิ่มความเชี่ยวชาญพิเศษให้กับหมอนวดไทย ใน 7 กลุ่มอาการ จะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังเหล่านี้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพนวดไทยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็จะได้รับค่าตอบแทนหรือรายได้เพิ่มขึ้น ได้แก่
- กลุ่มปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Office syndrome)
- โรคหัวไหล่ติด
- โรคนิ้วล็อก
- ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (ปวดสลักเพชร)
- หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- อัมพฤกษ์ อัมพาต
- และกลุ่มระบบสืบพันธุ์