'น้ำประปาหมู่บ้าน' แค่ 4 % ผ่านรับรองความปลอดภัย

น้ำประปาหมู่บ้านแค่ 4 % ผ่านรับรองความปลอดภัยนำมาบริโภคได้ “เดชอิศม์” จับมือ 12 หน่วยงาน เร่งปรับปรุงคุณภาพ นำร่องจ.สงขลา ตั้งเป้าปี 68 น้ำประปาหมู่บ้านทั่วประเทศ ผ่านเกณฑ์ 1,750 แห่ง
นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาคุณภาพน้ำประปาไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของน้ำประปาหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้มากที่สุด ข้อมูลจากกรมอนามัยในการสุ่มเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2561-2567 จำนวน 10,271 แห่ง พบว่า มีเพียง 420 แห่ง คิดเป็น 4 %เท่านั้น ที่ผ่านการรับรองเป็นน้ำประปาหมู่บ้านสะอาด ที่มีความปลอดภัยสำหรับนำมาบริโภคในครัวเรือน ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับน้ำประปาในเขตเมือง
ปัญหาสำคัญ คือ ยังขาดความครอบคลุมในการตรวจวิเคราะห์เพื่อประเมินคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน อันเนื่องมาจากขาดงบประมาณดำเนินการ ซึ่งทั้งประเทศมีประปาหมู่บ้าน ทั้งหมด 69,028 แห่ง ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายเดชอิศม์ ขาวทอง จึงมีนโยบายพัฒนาและยกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้สะอาดและปลอดภัยครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย
นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุขนอกจากการส่งเสริมสุขภาพ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี มีความเป็นอยู่ที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบาย 3C Clear Clean Chlorine “น้ำประปาหมู่บ้านสะอาด” ที่จังหวัดสงขลา พร้อมมอบธงขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวแก่ 7 จังหวัดด้ามขวานประเทศไทย ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2568 ตนพร้อมด้วยพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ลงนามความร่วมมือ 12 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสงขลา สันนิบาตเทศบาลจังหวัดสงขลา ชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา การประปาส่วนภูมิภาคเขต 5
สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 12 สงขลา สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 สงขลา สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 สงขลา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ถือว่าจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดแรกที่จะมีการขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำประปา หมู่บ้านสะอาด สู่การยกระดับเมืองสุขภาพดี
การพัฒนายกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านเป็นการลงทุนที่สร้างผลลัพธ์อันคุ้มค่าในระยะยาว ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืน โดยจังหวัดสงขลาทุกแห่ง 141 แห่ง เป็นกุญแจสำคัญและเป็นหน่วยงานที่จะช่วยผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย นั่นคือทุกแห่งตั้งงบประมาณสนับสนุนปีละ 1 หมื่นบาทในการพัฒนาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน เพื่อประชาชนชาวจังหวัดสงขลาทั้ง 16 อำเภอ 127 ตำบล 1,180 หมู่บ้าน ประชาชน 1.4 ล้านคน จะมีน้ำประปาสะอาดใช้เพียงพอทุกคน
“ในปี 2568 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าให้น้ำประปาหมู่บ้านในประเทศ ผ่านเกณฑ์น้ำประปาสะอาด 1,750 แห่ง และน้ำประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสงขลาอย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง" นายเดชอิศม์กล่าว
ด้านพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะการจัดน้ำดื่มที่สะอาดและเพียงพอเป็นประเด็นที่ทั่วโลก ให้ความสำคัญและเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 (Sustainable Development Goal: SDG6) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยกำหนดเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)
“การลงนามนี้ เพื่อหน่วยงานในระดับพื้นที่ร่วมมือกันพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านในพื้นที่เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลของจังหวัดสงขลา ให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ ของกรมอนามัย พ.ศ.2563 ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนมีน้ำบริโภคที่สะอาด ปลอดภัย เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนและสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG6) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ภายในปี พ.ศ. 2570” พญ.อัมพร กล่าว
ขณะที่นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า จากประสบการณ์นับตั้งแต่การได้ทำหน้าที่แพทย์ จะพบมาโดยตลอดว่าประชาชนมีการเจ็บป่วยด้วยโรคตับอักเสบ โรคมะเร็ง โรคไต โรคตับ โรคอุจาระร่วง โรคทางเดินอาหาร ฯลฯ ซึ่งล้วนมีที่มาจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด ซึ่งหน่วยงาน สช. ในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการสานพลัง เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ก็เคยใช้กลไกของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในการผลักดันเรื่องนี้มาแล้ว
ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2559 เรื่อง “น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน” ที่ คสช. ได้มีมติเห็นชอบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามบทบาทหน้าที่นั้น มีสาระสำคัญในการเสนอให้กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสนับสนุน อปท. วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบกิจการ เพื่อจัดให้ประชาชนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย โดยสนับสนุนงบประมาณ วิชาการ และอื่นๆ ตามบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ พร้อมยังระบุให้ อปท. จัดน้ำดื่มสาธารณะที่ปลอดภัยไว้บริการในชุมชนอย่างน้อย 1 แห่ง
สำหรับมติดังกล่าวได้นำมาสู่การขับเคลื่อนเรื่องน้ำดื่มที่ปลอดภัยของหลายหน่วยงานเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการที่กรมอนามัย จัดทำตัวอย่างการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จัดทำร่างมาตรฐานตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติทั่วไป หรือการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้หน่วยงาน 50 เขต ตรวจสอบคุณภาพน้ำและตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน เป็นต้น และการลงนามร่วมกันครั้งนี้จึงถือว่าเป็นความหวังที่สำคัญ ที่เราจะร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป