3 ชนิดยาเสพติด ปริมาณเผาทำลายมากสุด มูลค่าเกือบหมื่นล้าน
สธ. เปิดปฏิบัติการ “NEVER STOP TO ZERO ไม่หยุดผลิต ไม่หยุดเสพ เราไม่หยุดเผา” ปล่อยขบวนรถขนย้ายยาเสพติดของกลาง น้ำหนักรวมกว่า 37 ตัน มูลค่าเกือบ 9,968 ล้านบาท จาก 59,789 คดี ขณะที่ปี67บำบัดฟื้นฟูรักษาแล้วกว่า 260,000 คน
เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2568 ที่ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานปล่อยขบวนรถขนย้ายยาเสพติดของกลางเพื่อทำการเผาทำลาย ครั้งที่ 59 โดยมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญ ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด อย่างเด็ดขาด และครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่าย การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้า การปราบปรามและยึดทรัพย์ผู้ค้า การกวาดล้างเครือข่ายค้ายาเสพติด ให้ความสำคัญกับแนวคิด เปลี่ยน "ผู้เสพเป็นผู้ป่วย" เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม และสร้างความปลอดภัยในสังคม
การเผาทำลายยาเสพติดของกลางครั้งที่ 59 นี้ มีน้ำหนักรวมหีบห่อมากถึง 37 ตัน เฉพาะยาเสพติดของกลางรวม 29.33 ตัน จาก 59,789 คดี มากสุดเป็นเมทแอมเฟตามีน / แอมเฟตามีน (ยาบ้า) น้ำหนักกว่า 22,596 กิโลกรัม รองลงมา เมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) เฮโรอีน เอ็มเอ็มดีเอ/เอ็มดีเอ็มเอ คีตามีน คาโคอีน และยาเสพติดอื่นๆ รวมมูลค่าถึง 9,967,830,254 บาท
โดยจะขนย้ายจากคลังเก็บรักษายาเสพติดของกลาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อนำไปเผาทำลายที่ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดตลอดเส้นทาง ใช้เตาเผาขยะอันตราย (Hazardous Waste Incinerator) อุณหภูมิสูง 1,200 องศาเซลเซียส ด้วยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ พร้อมระบบควบคุมมลพิษที่เหลือจากการเผาทำลาย และมีการตรวจสอบควบคุมสารมลพิษไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเผาทำลายจะดำเนินการต่อเนื่อง 36-38 ชั่วโมง
“การขนย้ายยาเสพติดของกลางไปเผาทำลาย น้ำหนักรวมหีบห่อกว่า 36,500 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าราว 10,000 ล้านบาท ครั้งที่ 59 เป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนว่า ยาเสพติดที่ถูกยึดมา จะไม่ถูกนำกลับไปหมุนเวียนในสังคมอีก”นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับภารกิจด้านการรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา ได้นำผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาทั้งโดยหน่วยบริการสาธารณสุข การบำบัดโดยชุมชนที่ชุมชน (CBTx) กรมคุมประพฤติ รวมกว่า 260,000 คน แยกเป็น การสมัครใจเข้ารับบำบัด60% เจ้าหน้าที่นำส่ง 30% และศาลสั่งบำบัด 10 % ทำให้สามารถส่งคนดีกลับคืนสู่สังคมไปแล้วกว่า 130,000 คน