6 มาตรการ แก้ปัญหา PM 2.5 ทำได้ทันที แต่ยังไม่ทำ

6 มาตรการ แก้ปัญหา PM 2.5 ทำได้ทันที แต่ยังไม่ทำ

ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ ชง 6 มาตรการแก้ปัญหาPM 2.5   ตั้ง “คณะกรรมการลุ่มอากาศ”- กลไกการตลาดรวมพลังผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าเชื่อมแหล่งกำเนิดมลพิษ-ยกเว้นภาษีที่ดินให้พื้นที่ใช้พักฟาง 

KEY

POINTS

  • PM 2.5 เรื้อรังยังแก้ปัญหาไม่ได้ แนวโน้มปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภาคเหนือและกรุงเทพมหานครอีกต่อไป แต่กำลังขยายวงกว้างมากขึ้นทั่วประเทศ

"ฝุ่น PM 2.5" นับเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนภาคเหนือและกรุงเทพมหานครมาไม่น้อยกว่า 10 ปี และยังแก้ไม่ได้  ที่สำคัญดูเหมือนปัญหาจะขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยมากขึ้น

ล่าสุด จากการเปิดเผยรายงานสถานการณ์เด่นทางสุขภาพ “จากไฟป่า สู่ไฟเกษตร”ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ สำนักข่าว Rocket Media Lab และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data-Driven Society)

ซึ่งรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่การเผา ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตัวเลขผู้ป่วยโรคจากมลพิษทางอากาศ ระหว่างปี 2566-2567  ภายในกิจกรรม PM2.5 Talk Forum รู้ลึกก่อนใคร….สถานการณ์ฝุ่นปี 2567 เพื่อเฝ้าระวังอนาคต พบว่า การเผามีพื้นที่ใหม่ๆเกิดขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก

ไม่ซื้อสินค้าเชื่อมแหล่งก่อ PM 2.5  

ช่วงหนึ่งของงานมีการเสวนา “มองข้อเท็จจริงและอนาคตการเผาที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5”  ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ นำเสนอ 6 มาตรการในการแก้ปัญหาที่มองว่าสามารถทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ประกอบด้วย

1.ข้อมูลการตลาด ภาคประชาสังคมและพลังผู้บริโภคต้องเข้มแข็ง ด้วยการช่วยกันค้นหาเปิดเผยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับแหล่งกำเนิดPM 2.5 และไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้น  เป็นการลดแหล่งกำเนิดจากการเผาต่างๆ  เช่น จากโรงงานน้ำตาล 60 แห่งมี 20 แห่งที่ยังรับซื้อ้อยที่มีการเผา ก็เปิดเผยชื่อโรงงานและยี่ห้อน้ำตาล เป็นต้น 

2.ลดแหล่งกำเนิดจากการใช้รถ เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันEURO 5 เป็น EURO 6 ในราคาที่ไม่แพงมากนัก ร่วมกับการกวดขันและติดตามรถควันดำร่วมกับภาคประชาชน
ยกเว้นภาษีที่ดี พื้นที่พักฟาง

3.ภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีการพูดน้อยถึงว่าเป็นแหล่งก่อPM 2.5 ควรมีการนำโดรนมาบินปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อวัดปริมาณมลพิษที่ปล่อยออกมาแทนการใช้วิศวกรปีนขึ้นไปวัด

4.ขอให้กระทรวงการคลัง ออกระเบียบเรื่องภาษีที่ดิน  ในการกำหนดพื้นที่ยกเว้นภาษีที่ดิน  ให้กับพื้นที่พักฟาง  ก็จะได้พื้นที่ว่างของภาคเอกชนมาให้เกษตรกรพักฟางทุกตำบลทั่วประเทศจะได้ไม่ต้องมีการเผาพื้นที่เกษตร แต่จะต้องมีการดูแลที่ดีไม่ให้ฟางเกิดไฟไหม้ และรอให้ผู้มาซื้อฟางไปทำอาหารสัตว์ หรือโรงงานไฟฟ้าชีวมูล

ตั้งคณะกรรมการลุ่มอากาศรับมือ PM 2.5 

5.จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มอากาศ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนจังหวัดที่อยู่ในทิศทางลมทั้ง 3 แบบคือ ลมหนาว ,ลมตะวันตกเฉียงใต้ และลมตะเภาที่ส่งผลต่อการพัดพา ฝุ่นPM2.5 โดยก่อนที่จะถึงช่วงเวลาของสภาอากาศและทิศทางลงแต่ละแบบเกิดขึ้น คณะกรรมการนี้ก็มาบริหารจัดการร่วมกันภายใต้สูตร 8/3/1 โดยร่วมวางแผนลดปัญหาล่วงหน้า 8 เดือน ส่วนช่วง 3 เดือนที่สภาพอากาศปิดเป็นฝาชีก็ไม่ให้มีการเผา และ 1 เดือนหลังจากนั้นใช้ในการถอดบทเรียนเพื่อปรับในปีต่อไป

และ6.ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งสภาลมหายใจให้เกิดขึ้นทุกจังหวัด ลงลึกถึงระดับพื้นที่ และนำไปสู่การจัดตั้งสภาลมหายใจCLMV เพื่อร่วมขับเคลื่อนปัญหาระหว่างประเทศ 

5 มาตรการในแผนปฏิบัติการฯ ฉบับ2

ขณะที่กลไกของภาครัฐที่มีการดำเนินการแก้ปัญหาอยู่นั้น  ศิวพร รังสียานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง  กรมควบคุมมลพิษ  กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2568 – 2570) มีแนวคิดพัฒนาระบบบริหารจัดการมลพิษทางอากาศแบบูรณาการ โดยการป้องกัน ลดและควบคุมหล่งกำเนิด เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิในอากาศสะอาด

มุ่งเน้นสร้างเครื่องมือ กลไก เทคโนโลยี กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการจูงใจ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และการบังคับใช้กฎหมาย  สอดคล้องและรองรับพ.ร.บ.อากาศสะอาด โดยมี 2 เป้าหมายสำคัญ คือ 1.ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ใน 24 ชั่วโมง ลดลงอยู่ในระดับที่มาเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ2.พื้นที่เผาไหม้(Burn Scar)ลดลง ไม่น้อยกว่า 50 % เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี 

ดำเนินการ 5 มาตรการ คือ 1.พื้นที่เมือง เรื่องคมนาคม อุตสาหกรรม 2.พื้นที่ป่า ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชน 3.พื้นที่เกษตรกรรม เกษตรพื้นที่ทั่วไป เกษตรในป่า  4.มลพิษข้ามแดน และ5.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ 

การขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ในระดับชาติ อำนวยการ มอบหมาย ควบคุมกำกับ และติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นตามความเหมาะสมและจำเป็น

ระดับกลุ่มจังหวัด/ข้ามเขต เป็นรูปแบบ แนวทางและวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสมชองแต่ละกรณี จากลักษณะเฉพาะของสภาพปัญหาพื้นที่ที่มีสภาพปัญหาซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องข้ามพื้นที่หรือข้ามจังหวัด หรือมีความเฉพาะของระบบนิเวศ หรือกลุ่มเฉพาะด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรมหรืออื่นๆ 

และระดับพื้นที่ ระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ(Single Command) ภายใต้พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่