เช็คชื่อ จ.ที่เผาเกษตรเพิ่มขึ้น 5,000 % ฝุ่น PM 2.5 กำลังขยายวงคลุมประเทศ

เช็คชื่อ จ.ที่เผาเกษตรเพิ่มขึ้น 5,000 % ฝุ่น PM 2.5 กำลังขยายวงคลุมประเทศ

เปิดรายงานสำรวจสถานการณ์สุขภาพและการเผาที่เกี่ยวข้องกับ ฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 พบพื้นที่เสี่ยงคนจม PM 2.5 กำลังขยายวงกว้าง มากกว่าแค่ภาคเหนือ-กรุงเทพฯ

KEY

POINTS

  • PM 2.5 ปี 2567 คนไทยป่วยโรคเกี่ยวข้องสัมผัสมลพิษทางอากาศเหยียบ 6 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2563 แนวโน้มการป่วยด้เพิ่มมากขึ้น  เฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี  2567  ผู้ป่วย 1,898,763 ราย
  • PM 2.5 จับตาพื้นที่เสี่ยงปี 2568 จากการเผา ภาคเหนือ ภาคตะวันตก พื้นที่เกษตรอื่นๆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก พื้นที่นาข้าว
  • PM 2.5 จับตา 5 จังหวัดใน 5 ภูมิภาคที่มีการเผาเพิ่มขึ้นมากที่สุด เทียบทั้งประเท ศจ.ระยอง มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากท

ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและกรุงเทพมหานคร แต่มีรายงานข้อมูลล่าสุด พบว่า PM 2.5 กำลังขยายวงกว้างครอบคลุมภูมิภาคต่างๆของประเทศมากขึ้น 

คนไทยป่วยเหยียบ 6 ล้านคน

ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการรับสัมผัส มลพิษทางอากาศ ปี  2567  จำนวนผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค   5,998,587 ราย  มากที่สุด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 2,590,178 ราย รองลงมา กลุ่มโรคตาอักเสบ  2,047,033 ราย

โดยนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาแนวโน้มการป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้น  เฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี  2567  ผู้ป่วย 1,898,763 ราย

จุดเริ่มของ PM 2.5

แหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ประกอบด้วย

1. ภาคการเกษตร ทั้งข้าว ข้าวโพด อ้อย และเกษตรอื่นๆ  เกิดขึ้นจากการเผาฟางข้าว ตอซังและเศษวัสดุทางการเกษตร หลังจากทำการเก็บเกี่ยว เพื่อเตรียมหน้าดินเพาะปลูกใหม่ในฤดูกาลถัดไป เพราะการเผาจะประหยัดกว่าการใช้แรงงานเก็บเกี่ยวหรือการไถกลบเอง

2. ภาคป่าไม้   ไฟป่าทั้งการเกิดได้เองตามธรรมชาติจากการที่ป่าเริ่มผลัดในช่วนช่วงดูแล้งกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี และเมื่อเกิดฟ้าผ่าหรือกิ่งไม้เสียดสีกันก็ทำให้ติดไฟ หรือเกิดจากฝีมือมนุษย์ ทั้งการลักลอบเผา การตั้งแคมป์ การเผาเกษตรที่ลุกลามไปยังพื้นที่ป่า โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีมานี้ เกินกว่า 90% เกิดจากฝีมือมนุษย์

3. ภาคอุตสาหกรรม โดนเฉพาะโรงงานที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง และโรงงานที่ประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองทั้งโรงงานกิจการผสมซีเมนต์ โรงงานกิจการหลอมโลหะ หรือโรงงานกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ โดยโรงงานเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงหลายพื้นที่ในภาคกลาง และภาคตะวันออก

4. ภาคคมนาคม เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลที่มีการสันดาปไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดแก๊สไอเสียออกมา พร้อมกับเขม่าควันดำ เช่น แก๊สไนในโตรเจนออกไซด์ ส่วนน้ำมันดีเซลที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จะก่อให้เกิดเป็นไฮโดรคาร์บอน เมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศจะกลายเป็นควัน เขม่าสีดำ ออกมาจากท่อไอเสีย ฟุ้งกระจายใน อากาศ เป็นสาเหตุของฝุ่น PM2.5

5. ฝุ่นควันข้ามแดน โดยเฉพาะในจังหวัดที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันตกที่ติดกับเมียนมา ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดกับลาว รวมไปถึงภาคตะวันออกที่ติดกับกัมพูชา โดยมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น มีส่วนเชื่อมโยงกับการปลูกข้าวโพดเชิงอุตลาหกรรมในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน

 6. ภาคเมือง กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดในพื้นที่เมือง  โดยเฉพาะพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้เกิดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายในอากาศ รวมไปถึง การเผาในที่โล่ง การฌาปนกิจศพ

พื้นที่เกษตรเผาไหม้สูงสุด

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ สำนักข่าว Rocket Media Lab และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data-Driven Society) เปิดเผยรายงานสถานการณ์เด่นทางสุขภาพ “จากไฟป่า สู่ไฟเกษตร” รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่การเผา ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตัวเลขผู้ป่วยโรคจากมลพิษทางอากาศ ระหว่างปี 2566-2567

นายสันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลในช่วงฤดูกาลฝุ่นในไทยระหว่างปี 2566-2567 พบว่า การเผานาข้าวและไร่ข้าวโพด คือ พื้นที่เกษตรที่มีการเผาไหม้สูงสุด 11 ล้านไร่ จากพื้นที่เผาไหม้ทั้งหมด 19 ล้านไร่

ขณะที่พื้นที่ไฟป่าลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจาก 7 ล้านไร่ เหลือ 3.2 ล้านไร่ เฉพาะ 1 ปีที่ผ่านมา ภาคเหนือ มีพื้นที่การเผาสูงที่สุดสม่ำเสมอทุกช่วงต้นปี ประกอบกับฝุ่นควันข้ามแดนจากการเผาซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกิดผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดปอดมากที่สุด ประมาณ 20,000 คนต่อผู้ป่วยมลพิษทางอากาศแสนคน

อีสาน-ตะวันออกเผาพุ่ง 300-500 %

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่เผาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 500% ภาคตะวันออก เพิ่มสูงขึ้น 371% รองลงมาภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ

 ที่สำคัญพบว่า ฝุ่นควันข้ามพรมแดน จากประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น จาก 1.3 ล้านตัน ในปี 2566 เพิ่มเป็น 2 ล้านตัน ในปี 2567


เช็คชื่อ จ.ที่เผาเกษตรเพิ่มขึ้น 5,000 % ฝุ่น PM 2.5 กำลังขยายวงคลุมประเทศ

การเผา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด มลพิษฝุ่น PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น จากข้อมูลจำนวนผู้ป่วยรายโรค จากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2565-31 ต.ค. 2566 และ 1 พ.ย. 2566-31 ต.ค.2567  พบว่า

ภาคตะวันออก มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอัตราการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เผาไหม้ที่อยู่ในอันดับ 2 โดยเพิ่มจาก 7.8 แสนคน ในปี 2566 เป็น 9 แสนคน ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 14%

โดยเฉพาะ จ.สระแก้ว ที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น 16% ซึ่ง จ.สระแก้ว เป็นจังหวัดที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดในภาคตะวันออก และมีอาณาเขตติดกับกัมพูชาที่พบเป็นพื้นที่ที่มีจุดการเผาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีที่ผ่านมา สะท้อนปัญหาการเผานาข้าวและไร่ข้าวโพด เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 จึงควรสร้างความร่วมมือเร่งแก้ปัญหาอย่างเคร่งครัด

จับตา 5 จ.ในแต่ละภาค พื้นที่เผาพุ่ง

ดังที่กล่าว การเผาพื้นที่เกษตรเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ก่อให้เกิด PM 2.5 ซึ่งในรายละเอียดรายงาน นี้ระบุพื้นที่ที่จะต้องจับตาในปี 2568 เป็นรายจังหวัดมรแต่ละภูมิภาคด้วย

  • ภาคเหนือ ใน 9 จังหวัด พื้นที่ต้องจับตาเป็นพื้นที่เกษตรอื่นๆ โดยเฉพาะจ.แพร่ มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆในภาค โดยเพิ่มขึ้น จาก 319,262 ไร่ในปี 2566 เป็น 689,195 ไร่ในปี  2567 หรือเพิ่มขึ้น 115.87 %
  • ภาคตะวันตก ต้องจับตาพื้นที่เกษตรอื่นๆ เช่นกัน  โดยเฉพาะจ.เพชรบุรี  มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆในภาค โดยเพิ่มขึ้น จาก 3,146  ไร่ในปี 2566 เป็น 97,652 ไร่ในปี  2567 หรือเพิ่มขึ้น 3,004.01 %
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ต้องจับตาพื้นที่นาข้าว  โดยจ.ร้อยเอ็ด มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆในภาค โดยเพิ่มขึ้น จาก 18,616  ไร่ในปี 2566 เป็น 476,786 ไร่ในปี  2567 หรือเพิ่มขึ้น 2,461.16 %
  • ภาคกลาง ต้องจับตาพื้นที่นาข้าว โดยจ.พระนครศรีอยุธยา มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆในภาค โดยเพิ่มขึ้น จาก 2,809  ไร่ในปี 2566 เป็น 70,029  ไร่ในปี  2567 หรือเพิ่มขึ้น 2,393.02 %
  • ภาคตะวันออก ต้องจับตาพื้นที่ข้าว โดยจ.ระยอง มีจำนวนพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆในภาค โดยเพิ่มขึ้น จาก 6 ไร่ในปี 2566 เป็น 321 ไร่ในปี  2567 หรือเพิ่มขึ้น 5,250 %