(16.00น.) รพ.สธ. 63 แห่ง 17 จังหวัด ตึกมีรอยร้าว เหตุแผ่นดินไหว

(16.00 น.) สธ.รายงานเบื้องต้น รพ.ใน 17 จังหวัด ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่วนใหญ่พบอาคารมีรอยร้าว
เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.วันที่ 28 มี.ค.2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือ Emergency Operations Center (EOC) โดยมีการรายงานผลกระทบเบื้องต้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พบว่า
รพ.ใน 17 จังหวัดได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่พบว่าอาคารมีรอยร้าว ประกอบด้วย
- เขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 8 จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ พะเยาน่าน ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
- เขตสุขภาพที่ 2 พิษณุโลกเพชรบูรณ์
- เขตสุขภาพที่ 3 ชัยนาท
- เขตสุขภาพที่ 4 นนทบุรี
- เขตสุขภาพที่ 5 นครปฐมสมุทรสาคร
- เขตสุขภาพที่ 7 มหาสารคาม
- เขตสุขภาพที่ 8 เลย
- เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ได้สั่งการ คือ
1.ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา
2.สำรวจประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งอาคาร อุปกรณ์ ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และคนไข้ โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเตรียมประเมินความเสียหายโครงสร้าง
3.กรณีหมดเหตุอาฟเตอร์ช็อกแล้ว หากอาคารไม่ร้าว หรือเห็นว่ามีความปลอดภัย ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตัดสินใจในการทำแผนนำคนไข้กลับเข้าที่เดิม
4.เตรียมความพร้อมทีมแพทย์ออกไปดูแลประชาชนทีได้รับบาดเจ็บตามที่ร้องขอ
5.เตรียมพร้อมโรงพยาบาล บุคลากร เครื่องมือ เวชภัณฑ์ให้มีความพร้อมมากขึ้น
6.จัดทีมประสานงานอำนวยการสั่งการและทีมสื่อสาร โดยมอบหมาย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นโฆษกสื่อสาร
7.เตรียมระบบชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต
8.จัดเตรียมทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ทั้งจากกรมสุขภาพจิต 1,000 คน และจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ดูแล
ด้าน นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ที่เสียหายค่อนข้างมากคือ รพ.เลิดสิน พบว่า อาคารร้าว ทางเชื่อมตึกยุบตัวลง แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ สำหรับคนไข้หนักก็มีการส่งต่อออกมาหมดเรียบร้อยแล้ว เคสที่ต้องผ่าตัดก็ผ่าตัดเรียบร้อย โดยสรุปเคสผู้ป่วยต่างๆ ของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ สามารถจัดการได้เรียบร้อย
และได้รับรายงานว่า ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) มีเด็กเสียชีวิต 1 ราย อายุ 1 เดือน โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกในสมอง อาการค่อนข้างวิกฤต และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือร่วมกับญาติคนไข้ตั้งแต่แรกแล้วว่า เป็นรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งในช่วงที่เกิด แผ่นดินไหว และกำลังย้ายออกจากไอซียู เด็กหัวใจหยุดเต้น 1 ครั้ง และปั๊มหัวใจขึ้นมา แล้วก็หยุดเต้นอีก โดยบุคลากรได้พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว.