เปิดเหตุผล กลุ่มแพทย์รุมค้าน 'เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’

บุคลากรทางการแพทย์รุมค้าน ‘เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์พ่วงกาสิโน’ ชี้กระทบกลุ่มเปราะบาง ชี้ ไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ตามที่ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งเดิม จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2568 แต่ล่าสุดรัฐบาลถอนออกไปก่อนนั้น
ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ในนามของจิตแพทย์ผู้มีบทบาทในการดูแลปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นไทย ขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ปัญหาการติดพนันในเด็กและวัยรุ่นไทยมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสื่อออนไลน์ของศูนย์คุณธรรม ปี พ.ศ. 2566 พบว่า เด็กและเยาวชนมากกว่า 20% เคยมีประสบการณ์เล่นพนันออนไลน์ และในจำนวนนี้ กว่า 70% เริ่มเล่นตั้งแต่อายุไม่ถึง 18 ปี
เพิ่มความเสี่ยงเด็กเข้าสู่วงจรของการพนัน
นอกจากนี้ยังพบว่าเยาวชนจำนวนมากมีหนี้จากการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว และผลการเรียน เป็นปัญหาอันหนักหน่วงที่จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทุกคนต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากในการทำงานช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา
2. รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาการติดพนันในเด็กและวัยรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันยังมีเว็บไซต์พนันเถื่อนจำนวนมากที่เด็กและวัยรุ่นสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยผ่านสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ โดยไม่มีระบบการยืนยันตัวตนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เด็กสามารถเล่นพนันได้แม้ขณะกำลังเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียน ปัญหานี้ยังไม่มีมาตรการควบคุมและป้องกันที่เพียงพอ
3. การเปิดให้มีธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรอย่างถูกกฎหมาย เป็นการขยายพื้นที่ของธุรกิจพนันอย่างเป็นทางการ แม้ร่างกฎหมายจะกำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเข้าถึง แต่ในทางปฏิบัติ การดำเนินธุรกิจย่อมมีแรงจูงใจในการเพิ่มรายได้
อาจนำไปสู่การทำการตลาดโดยตรงหรือโดยอ้อมกับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและวัยรุ่น ไม่ว่าจะผ่านโซเชียลมีเดีย การสร้างภาพลักษณ์ให้การพนันเป็นเรื่องทันสมัย หรือการจัดกิจกรรมสันทนาการควบคู่กับการพนัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะเข้าสู่วงจรของการพนันตั้งแต่อายุยังน้อย
กลุ่มแพทย์จุฬาร่วมค้าน
ขณะที่กลุ่มแพทย์จุฬารุ่นที่ 23 "เพื่อนร่วมรุ่น-นิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่น2510 และเครือข่ายจำนวน 455 คน ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (พ.ศ....) ระบุว่า หากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้รับความเห็นชอบจากสภาผ่านออกมาเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้จากหลักฐานทางวิชาการและประสบการณ์จากหลายประเทศที่ได้เปิดให้มีกาสิโนอย่างเสรี พบว่า
1. การพนันในบ่อนกาสิโนส่งผลกระทบทางลบโดยตรงต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของประชาชน บุคคลที่ติดการพนันมักมีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และฆ่าตัวตายสูงกว่าค่าเฉลี่ย การเสพติดการพนันยังสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้สารเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว การล้มละลายแล้ว รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะยอมทำการโจรกรรม หรือฉ้อโกงเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อเอาเงินมาใช้หนี้พนัน ซึ่งได้ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในบุคคลที่ติดหนี้พนันในรูปแบบอื่น ๆ
2. กาสิโนเป็นแหล่งกระตุ้นพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเยาวชน เช่น ความหมกมุ่นการพนันทำให้ลดความเอาใจใส่ต่อการเรียน การติดหนี้พนัน อาจทำให้เยาวชนตัดสินใจเลือกที่จะก่ออาชญากรรมบางอย่างเพื่อใช้หนี้พนัน ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดอนาคตของเยาวชนเหล่านั้นไปโดยปริยาย
แม้ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จะมีข้อจำกัดด้านอายุของผู้เข้าไปในสถานประกอบการพนัน แต่ประสบการณ์ในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่าเยาวชนยังสามารถเข้าถึงการพนั้นผ่านทางช่องทางระบบตัวแทน หรือหลบเลียงเข้าไปเล่นในกาสิโนเองได้อย่างง่ายดาย ซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อพัฒนาการ ของเยาวชน และชีวิต
กาสิโนไม่ใช่ทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
3. การเปิดกาสิโนไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รายได้จากการพนันเป็นรายได้ที่แลกมาด้วยต้นทุนทางสังคมที่สูงมาก ทั้ง ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของ ประชาชนที่จะสูญเสียไปกับการพนัน และในรายที่ติดการพนันอย่างมาก ก็จะก่อให้เกิดหนี้สินครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันปริมาณหนี้สินครัวเรือนของครอบครัวไทยก็สูงมากอยู่แล้ว
จากรายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจของไทยในพ.ศ.2567 จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ พบว่าประชากรไทยมีหนีครัวเรือนเป็นมูลค่ากว่า 16.2 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 91 ของ ผลิตภัณฑ์รายได้รวม ในประเทศ (gross domestic product - GDP)
ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นได้แก่ อินโดนีเชีย อินเดีย จีนและ มาเลเซีย จะมีสัดส่วนของหนี้ครัวเรือน ต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 16,37, 62 และ 68 ตามลำดับเท่านั้น แสดงว่าปัจจุบันประชากรไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงกว่าประเทศอื่นมากอยู่เป็นหลายเท่าตัวอยู่แล้ว หากเปิดให้มีบ่อนคาสิโนเสรี ย่อมจะทำให้เกิดภาวะเป็นหนี้ครัวเรือนของทั้งประเทศสูงกว่านี้อีกมาก
4. หากประชาชนไทยสามารถเข้าไปเล่นพนันในบ่อนกาสิโนได้อย่างถูกกฎหมาย ย่อมทำให้ ประสิทธิภาพของการทำงานต่าง ๆ ลดลง ซึ่งจะทำให้ผลิตภาพแรงงาน (หมายถึงผลผลิตที่ทำได้ต่อแรงงานหนึ่งคน) ลดลงตาม และจะมีผลทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวหรือรายได้รวมของประเทศลดลง ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถก้าวข้ามจากประเทศในระดับรายได้ปานกลาง ( middle income country) ไปสู่ประเทศในระดับรายได้สูง (high income country) ได้
5. ประเทศไทยยังไม่มีระบบควบคุมและบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งเพียงพอ ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถควบคุมปัญหาการพนันออนไลน์และบ่อนพนันเถื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดคาสิโนถูกกฎหมายจะยิ่งเพิ่มความสลับซับซ้อนของปัญหา และขยายช่องว่าง และช่องโหว่ ให้เกิดการฟอกเงินและคอร์รัปชันมากยิ่งขึ้น
จึงขอคัดค้านการออกพระราชบัญญัติดังกล่าวและเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภา พิจารณาผลกระทบด้านสุขภาพ สังคมและจริยธรรมอย่างรอบด้าน และยุติความพยายามในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้โดยทันที ผู้บริหารประเทศ เป็นผู้ที่รับผิดชอบนำพาพาหาวาแห่งรัฐสยามนี้ให้เดินไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริงในอนาคต ผู้บริหารประเทศจึงควรส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ควรนำอนาคตของประเทศไปแลกกับรายได้ระยะสั้นที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง และผลเสียนานับประการ