เปิดผลสำรวจพฤติกรรม 4 ความเสี่ยงสุขภาพ ช่วงสงกรานต์ 2568

เปิดผลสำรวจพฤติกรรม 4 ความเสี่ยงสุขภาพ ช่วงสงกรานต์ 2568

สบส. เผยผลสำรวจ 4 พฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ ช่วงสงกรานต์ 2568 ยังฉลองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กว่า 16 % เมนูอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะมาเป็นที่ 1 ส่วนอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น

นพ.อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส.  กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ประชาชนส่วนใหญ่ต่างวางแผนเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อกลับไปพบปะครอบครัว หรือเพื่อนฝูงเหมือนกับในทุกๆปี  ซึ่งการที่ประชาชนได้มีโอกาสพบปะกับบุคคลใกล้ชิดในช่วงเทศกาล สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลย คือ การเลี้ยงฉลองซึ่งมักจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ หรืออาหาร

สบส.จึงร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 - 12 เก็บข้อมูล “พฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพในช่วงเทศกาลสงกรานต์” ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม -  10 เมษายน 2568 จากประชาชน 121,515 คน พบข้อมูลดังนี้

1. การเดินทางช่วงสงกรานต์  พบว่าส่วนใหญ่วางแผนเดินทางกลับภูมิลำเนา 61.41 % และเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว 76.61 %

2.การวางแผนฉลองสงกรานต์ ผู้ให้ข้อมูลมีแผนที่จะฉลองสงกรานต์ 52.13 % โดยจะฉลองสงกรานต์แบบไร้แอลกอฮอล์อยู่ที่บ้าน 31.69 % ฉลองด้วยการดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่บ้าน 14.65% ฉลองแบบไร้แอลกอฮอล์นอกบ้าน 4.29 % และฉลองด้วยการดื่มแอลกอฮอล์นอกบ้าน 1.5 %

3.รูปแบบการเล่นน้ำสงกรานต์  จะเล่นสงกรานต์โดยเน้นแป้ง 61.52% และเล่นสาดน้ำท้ายรถกระบะ 28.91% ใช้น้ำเย็น/น้ำแข็ง 16% และใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง 10.25%

4 .อาหารที่จะฉลองในช่วงสงกรานต์ จะฉลองด้วยอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ 29.48  %อาหารเพื่อสุขภาพ (ลดแป้ง น้ำตาล ไขมัน) 21.01 %อาหารประเภทส้มตำ ยำ ลาบ ก้อย 20.34 %อาหารประเภทย่าง เช่น หมูย่าง เนื้อย่าง ลูกชิ้นย่าง 19.96 % และอื่นๆ  9.21%

สิ่งที่น่าสนใจจากข้อมูลผลสำรวจในครั้งนี้ พบว่าประชาชนหันมาเลี้ยงฉลองสงกรานต์แบบไร้แอลกอฮอล์ และอาหารสุขภาพเป็นจำนวนมากแสดงถึงความใส่ใจสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น โดยการงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทานอาหารที่ลดแป้ง น้ำตาล ไขมัน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs

สอดรับกับนโยบาย “คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” ของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2568 นับได้ว่าเป็นความสำเร็จในการดำเนินงานตามนโยบายการป้องกัน และลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งกรม สบส. ก็พร้อมจะให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การงดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ งดสูบบุหรี่ ฯลฯ ผ่านเครือข่ายยุว อสม. และ อสม. รวมทั้ง เฝ้าระวังพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพในด้านต่างๆ ทั้งในและนอกช่วงเทศกาลต่างๆ