รู้จัก “Alien Species” สัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานระบบนิเวศ
ทำความรู้จัก “Alien Species” หรือ “Alien Aquatic Species” ในแหล่งน้ำไทย "สัตว์น้ำต่างถิ่น" จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้หลายด้าน ที่ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งใจ "ปล่อยปลาเพื่อทำบุญ"
ปล่อยปลาแล้วได้บุญ !? ไม่ใช่การตั้งคำถามคัดค้านความเชื่อทางศาสนา แต่การปล่อยปลาลงในแหล่งน้ำต่างๆ มีหลายเรื่องที่ควรเข้าใจมากกว่าแค่การปล่อยปลาให้เป็นอิสระ
เพราะหากหลังจากที่เราปล่อยปลาลงไปในแหล่งน้ำแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือสัตว์เหล่านั้นไม่สามารถอยู่รอดได้อย่างที่เราจินตนาการ หรือปล่อยลงไปแล้วปลาเหล่านั้นกลับเป็น “Alien Aquatic Species” หรือ “Alien Species” ที่รุกรานสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมในแหล่งน้ำ และกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำเสียอย่างนั้น
- “Alien Species” คืออะไร ?
เอเลียนสปีชีส์ เป็นคำเรียกของสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น คือ สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในถิ่นใดถิ่นหนึ่ง แต่ถูกนำเข้ามาจากถิ่นอื่น ซึ่งอาจจะสามารถดำรงชีวิตอยู่และสืบพันธุ์ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของปัจจัยแวดล้อมและการปรับตัวของชนิดพันธุ์นั้นๆ
ข้อมูลจาก "กรมประมง" กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงสัตว์น้ำกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “Alien Aquatic Species” หรือสัตว์น้ำต่างถิ่นในประเทศไทย ที่บางชนิดส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศสูง
นอกจากนี้สัตว์ต่างถิ่นยังสามารถแบ่งได้ตามบทบาทที่มีต่อระบบ นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมออกได้เป็น 2 ประเภท
1. ประเภทที่ไม่รุกราน (Non invasive)
สำหรับกลุ่มนี้เป็นพันธุ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือระบบนิเวศโดยตรง หรือชัดเจนนัก เพราะใช้ชีวิตแบบไม่แข่งขันหรือขัดต่อการดำรงชีพของสัตว์ชนิดอื่นหรือสมดุลของระบบนิเวศ มักเป็นชนิดพันธุ์ที่พบน้อยหรือไม่แพร่พันธุ์ในธรรมชาติ อย่างไรก็ตามสภาพของนิเวศที่เปลี่ยนไปอาจมีผลให้ชนิดพันธ์ดังกล่าวเจริญแทนที่ และขัดขวางการฟื้นตัวของสมดุลนิเวศ
ในบางครั้งสัตว์น้ำในประเภทนี้ เช่น ปลานิล ปลาไน และปลาจีน รวมถึงปลาเศรษฐกิจต่างๆ ที่ถูกปล่อยลงแหล่งน้ำทั่วไป
2. ประเภทที่รุกราน (Invasive alien species, IAS)
เป็นชนิดที่แพร่พันธุ์ได้เร็วและมีความสามารถในการปรับตัวแข่งขันแทนที่ชนิดพันธุ์พื้นเมืองได้ดี แถมยังมีการดำรงชีวิตที่ขัดขวางหรือกระทบต่อสมดุลนิเวศ ทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบชนิดพันธุ์พื้นเมือง หรืออาจเป็นศัตรูต่อผลผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำการเกษตรได้ ตัวอย่างเช่น ปลากดเกราะ ปลาดุกอัฟริกัน (ดุกรัสเซีย) และลูกผสม และหอยเชอรี่
ที่มาภาพ: เอกสาร กรมประมง
- ปลาเหล่านี้มากจากไหน ?
การที่สัตว์น้ำต่างถิ่นเข้าไปอาศัยในธรรมชาติได้นั้น ล้วนมีต้นตอจากมนุษย์โดยแบ่งได้ 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
1. โดยไม่ตั้งใจ (Accidentally) เช่น การหลุดหนีจากที่เลี้ยงลงไปอุบัติเหตุขณะขนส่งและโดยภัยธรรมชาติทำให้ที่เลี้ยงพังทลายลง เช่น น้ำท่วม พายุ
2. โดยตั้งใจ (Deliberate) เป็นการปล่อยเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ของมนุษย์โดยตรง เช่น เพื่อการทำบุญตามความเชื่อ ปล่อยทิ้งเนื่องจาก เบื่อที่จะเลี้ยง หรือขาดทุนในการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า และการปล่อยทิ้งเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่นำเข้ามาหรือครอบครองอย่างผิดกฎหมาย
การปล่อยโดยความตั้งใจอีกประเภท คือการปล่อยโดยหน่วยงานราชการเองเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการเพิ่มผลผลิตแหล่งน้ำในธรรมชาติและแหล่งน้ำที่ถูกสร้างขึ้น หรือการปล่อยในพิธีการและโครงการต่างๆ เช่น โครงการประชาอาสา โครงการประมงหมู่บ้าน ฯลฯ รวมไปถึงการปล่อยเพื่อทำบุญของประชาชนที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วย
- สัตว์น้ำต่างถิ่นลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
1. ผลกระทบไม่ชัดเจนหรือทางอ้อม (Inobvious)
ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงหรือเห็นได้ชัดเจนในเวลาอันสั้น หรือบางชนิดอาจไม่มีผลกระทบในสถานการณ์ปกติแต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสมดุลนิเวศ สัตว์น้ำชนิดนั้นก็อาจเป็นปัจจัยซ้ำเติมหรือปรับตัวเจริญขึ้นแทนที่สัตว์น้ำพื้นเมืองได้ และทำให้ระบบนิเวศไม่อาจพื้นตัวกลับสภาพเดิมได้อีก เช่น ปลานิลในอ่างเก็บน้ำบางแห่ง ปลากดเกราะในที่ลุ่มน้ำภาคกลางที่มีการแพร่พันธุ์แทนที่ปลาพื้นเมือง หลังจากที่เกิดความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำแล้ว
2. ผลกระทบชัดเจน (Invasive)
สำหรับผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจน และรุนแรงในเวลาอันสั้น จากการแพร่พันธุ์สร้างประชากรอย่างรวดเร็ว และปรับตัวเข้ากับสภาพแหล่งน้ำแทนที่สัตว์น้ำพื้นเมืองหรือสร้างผลกระทบต่อสมดุลนิเวศ รวมทั้งเศรษฐกิจเป็นระยะยาว
ผลกระทบของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่นำเข้ามาต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่
- เป็นผู้ล่าปลาพื้นเมืองเดิม มักเป็นปลากินเนื้อขนาดใหญ่ มีผลต่อประชาการและองค์ประกอบชนิดเดิมของแหล่งน้ำ ทำให้จำนวนชนิดเปลี่ยนแปลงและก่อผลเสียต่อสมดุลนิเวศได้ในภายหลัง เช่น ปลาดุกรัสเซีย
- เป็นตัวแก่งแย่ง คือเป็นผู้แย่งถิ่นอาศัย อาหารหรือที่วางไข่ของปลาพื้นเมืองเดิม ทำให้บางชนิดที่อ่อนไหวสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำได้ เช่น ปลานิล
- นำโรคหรือปรสิต สัตว์น้ำหลายชนิดเป็นรังโรคหรือปรสิตเดิมที่มันมีความทนทานอยู่แล้ว แต่สัตว์น้ำพื้นเมืองไม่มีภูมิต้านทานดังกล่าว เมื่อเข้ามาอยู่ในแหล่งน้ำก็อาจแพร่โรคระบาดได้ โดยเฉพาะในฤดูหนาว เช่น ปลาจีน เป็นพาหะนำโรคหนอนสมอและราปุยฝ้าย สัตว์น้ำบางชนิดอาจนำพยาธิมาสู่มนุษย์ได้ เช่น หอยเชอรี่ กับพยาธิ Angiostoma
- รบกวนหรือทำลายสภาพนิเวศ สัตว์น้ำบางชนิดที่เป็นผู้ล่าหรือกินพืช มีผลต่อองค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำและพืชน้ำในถิ่นอาศัยเดิมที่เคยมีสมดุลอยู่ แต่เมื่อถูกปล่อยลงไปก็ไปทำลายสมดุลและเกิดผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาว เช่น หอยเซอรี่ มีผลกระทบต่อสังคมพืชน้ำที่มีต้น,ใบอ่อน จะกัดกินทำลายจนหมดและเกิดการเปลี่ยนสังคมพืชในแหล่งน้ำทำให้ความหลากชนิดของสัตว์น้ำลดลงในเวลาต่อมา
- ทำให้พันธุกรรมเสื่อม สัตว์น้ำต่างถิ่นบางชนิดมีลักษณะทางพันธุ์กรรมที่ใกล้เคียงกับชนิดพื้นเมืองอาจมีการผสมพันธุ์ทำให้เกิดลูกผสมหรือทำให้ลูกที่เกิดมามีอัตรารอดต่ำลงหรือเป็นหมันในรุ่นต่อไปได้
--------------------------------------------------------
อ้างอิง: กรมประมง, สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ