ร่วมสร้างเมืองอนาคตผ่านเกม Minecraft | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

ร่วมสร้างเมืองอนาคตผ่านเกม Minecraft | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

กระบวนการสำคัญในการทำความเข้าใจและเข้าถึงปัญหาสังคมเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรกลุ่มเปราะบางนั้นมีความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์เทรนด์อนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป

ล่าสุด การรับฟังเสียงกลุ่มเปราะบางผ่านการใช้เกม Minecraft ภายใต้แนวคิดกระบวนการ Block by Block ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการต่อยอดเพื่อเข้าถึงเสียงของประชาชนกลุ่มคนเล็กคนน้อย เพื่อการตอบโจทย์นโยบายภาพใหญ่ของสังคม

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้นำเสนอกระบวนการ Block by Block ภายใต้โครงการ Global Public Space เพื่อใช้พัฒนานโยบายท้องถิ่น การออกแบบพื้นที่สาธารณะปลอดภัยเพื่อช่วยตอบโจทย์เมืองอย่างมีส่วนร่วม

แนวทางที่สำคัญคือการออกแบบ workshop เพื่อทำงานร่วมกันกับชุมชน โดยการนำเกม Minecraft มาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้คนในชุมชนสามารถเห็นภาพเสมือนจริงของการวางแผนและออกแบบในพื้นที่ได้โดยตรง 

โดยที่ชุมชนท้องถิ่นจะร่วมวางแผน ออกแบบ พัฒนา ดำเนินการ ติดตามและประเมินผลพื้นที่สาธารณะของตนเอง อีกนัยหนึ่ง กระบวนนี้ช่วยให้เข้าถึงการ “รับฟัง” เสียงของประชาชนที่ไม่ค่อยมีโอกาสในการแสดงความเห็น แต่มักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการวางแผนออกแบบของเมือง

หัวใจสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบและวางผังเมือง คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่มีพื้นฐานทักษะการออกแบบ สามารถเข้าถึงการใช้เครื่องมือผ่านเกม เพื่อสามารถอธิบายความเห็นและความต้องการของตนให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นต่อผู้เชี่ยวชาญ

ร่วมสร้างเมืองอนาคตผ่านเกม Minecraft | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

หากไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้ได้ อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับการแสดงความเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องด้วยทักษะการนำเสนอ ข้อมูลเทคนิค และที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่นในการส่งต่อความเห็นของตนเองออกมา ช่องว่างเหล่านี้จะยิ่งมีมากขึ้นในประชาชนที่มาจากกลุ่มเปราะบางที่มีต้นทุนทางสังคมและโอกาสทางการศึกษาที่น้อยกว่าคนกลุ่มอื่น

Minecraft เป็นเกมคอมพิวเตอร์ที่ออกมาสู่ตลาดตั้งแต่ปี 2554 ขายไปมากกว่า 200 ล้านเกมทั่วโลก แนวทางของเกมเปรียบเหมือนกับการเล่นเลโก้ในรูปแบบดิจิทัล ผู้เล่นสามารถเก็บสะสม สร้างและปรับเปลี่ยนบล็อก (block) เพื่อไปสู่การออกแบบโลกเสมือนจริงรอบๆ ตัว 

กระบวนการสร้างจะใกล้เคียงกับการทำงานก่อสร้างในชีวิตจริง ที่มีบทบาทของคนร่วมทำงานที่หลากหลาย และสามารถเล่นไปพร้อมๆ กันได้ โครงการที่นำเกม Mindcraft ไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างแบบมีส่วนร่วมได้ทดลองใช้กับโครงการจัดการผังเมืองมากกว่า 75 เมืองทั่วโลก

วิธีการของ Block by Block ประกอบไปด้วยการแลกเปลี่ยนกับชุมชน การเยี่ยมชมพื้นที่จริง การนำเสนอผ่านขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้นตอน

1.การลงมือสำรวจผ่านการลงพื้นที่จริง โดยการเดินสำรวจซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการจับรายละเอียดเกี่ยวกับการออกแบบที่สะท้อนแง่มุมทางสังคมกับชุมชนออกมา ผู้เข้าร่วมสามารถตรวจสอบและสังเกตสภาพปัจจุบันและสะท้อนคิดข้อท้าทายและโอกาสที่เกิดขึ้น

2.การกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน เมื่อผู้เข้าร่วมได้สำรวจลงพื้นที่จริงแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะใช้ร่วมกันสำหรับพื้นที่ โดยการทบทวนค่านิยมสำคัญ อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม มุมมองความเท่าเทียมทางเพศสภาพ วิถีการปกครองของพื้นที่ อุปสรรคในการเข้าถึงการใช้พื้นที่อย่างเท่าเทียม รวมทั้งเป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่ เมื่อได้พัฒนาทิศทางร่วมกันที่ชัดเจนแล้วจะนำไปสู่การจัดการกับความท้าทายในภายหลังผ่านเกม Minecraft

ร่วมสร้างเมืองอนาคตผ่านเกม Minecraft | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

3.การร่วมสร้างสรรค์และออกแบบ แนวทางการทำงานร่วมกันผ่านเกม Minecraft กับพื้นที่่ที่ได้มีการสำรวจก่อนหน้าที่ โดยใช้แนวทางของเกมเพื่อทดลองจัดการกับความท้าทายที่ระดมสมองกันมาก่อนนี้ เกมทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในเชิงสถาปัตยกรรม เพื่อตอบโจทย์และนำเสนอหาทางออกร่วมกันผ่านการออกแบบ

4.การจัดลำดับความสำคัญ เป็นอีกกระบวนการที่สำคัญในการร่วมกันตัดสินใจสำหรับทางเลือกในอนาคต โดยผ่านความเห็นชอบที่เป็นมติส่วนใหญ่ และการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคนิคและงบประมาณ โดยที่กระบวนการนี้ต้องให้ความสำคัญต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ด้วย

5.การออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ ถือเป็นขั้นตอนการรวมผลลัพธ์ที่เกิดจากความร่วมมือของทั้งประชาชนในชุมชนและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องของกระบวนการ Block by Block ในรูปแบบที่ลงรายละเอียดผ่านข้อเสนอการออกแบบทางเทคนิค รายละเอียดวัสดุ เทคนิคการก่อสร้าง และต้นทุน 

โดยมีการรวบรวมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าใจเชิงเทคนิค ภาครัฐระดับท้องถิ่น สถาปนิก นักวางผังเมือง และผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันให้ข้อเสนอแนะทางการออกแบบเมือง

อนาคตประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นเพื่อตอบสนองทิศทางการเปลี่ยนแปลงปัญหาเชิงสังคมและกายภาพของเมืองที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

โจทย์สำคัญของการนำ “เกม” มาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยรับฟังเสียงกลุ่มคนเปราะบางในสังคม และลดช่องว่างของการสะท้อนความคิดเห็น จะช่วยให้แนวคิดระดับโลกอย่างการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind) สามารถเกิดขึ้นได้จริงในระดับประเทศผ่านเครื่องมือนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์อนาคตประเทศร่วมกัน.

ร่วมสร้างเมืองอนาคตผ่านเกม Minecraft | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล
คอลัมน์ คิดอนาคต
ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล
สถาบันอนาคตไทยศึกษา
Facebook.com/thailandfuturefoundation