ไขคำตอบ! ทำไมสถิติการ “‘ฆ่าตัวตาย”’ ในวัยรุ่นทั่วโลกถึงสูงขึ้น ?

ไขคำตอบ! ทำไมสถิติการ “‘ฆ่าตัวตาย”’ ในวัยรุ่นทั่วโลกถึงสูงขึ้น ?

10 กันยายน “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” ชวนรู้ สาเหตุของการ “ฆ่าตัวตาย” นั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่หนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือการเกิด “บาดแผลสะสม” ในจิตใจมานานตั้งแต่วัยเด็กจากคนรอบตัว

เนื่องใน วันที่ 10 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” หรือ World Suicide Prevention Day กำหนดขึ้นโดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) ประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 2003 เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าในแต่ละปี มีข้อมูลพบว่าในแต่ละปีมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เฉลี่ยต่อเวลาแล้วเท่ากับว่าในทุกๆ 40 วินาที จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน

ด้วยเหตุนี้การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย จึงถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ที่ผ่านมาพบว่า ประชากรไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 4,500-5,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติอย่างมาก โดยหนึ่งในสาเหตุที่เกี่ยวข้องในเชิงลึกกับพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย คือ “โรคทางจิตเวช” โดยเฉพาะปัญหา “โรคซึมเศร้า” ซึ่งถือเป็นภาวะโรคเรื้อรัง ไม่สามารถหายได้เอง และผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือทางการแพทย์และนักจิตวิทยาอย่างเหมาะสม

ในปัจจุบันยังคงมีหลายคนที่ไม่เข้าใจถึงปัญหาของโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่เกิดจากปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก จนอาจเกิดเป็นบาดแผลในใจขึ้นมา โดยที่ผู้คนรอบตัวไม่ได้ตั้งใจและไม่ได้ให้ความสนใจเด็กเท่าที่ควร จนนำไปสู่การเลือกจบชีวิตของตัวเด็กเอง และในปัจจุบันการฆ่าตัวตายถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของวัยรุ่น

จากความสำคัญดังกล่าว “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปสำรวจว่าอะไรคือบาดแผลในใจของเยาวชนที่สะสมมายาวนาน จนทำให้เกิดการพยายามฆ่าตัวตายตามมา เพราะการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นนั้นบางครั้งสาเหตุไม่ได้มาจาก “โรคซึมเศร้า” เสมอไป แต่เป็นผลกระทบมาจากคนรอบข้าง

 

  • วัยรุ่น-วัยทำงานตอนต้น เป็นกลุ่มที่ฆ่าตัวตายสูงสุดในไทย

ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต พ.ศ. 2560-2564  พบว่า อัตราจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จและทำร้ายร่างกายตนเองในวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้นหรือช่วงอายุ 15-34 ปี เพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีจำนวนมากกว่าวัยทำงานที่อายุเกิน 34 ปีขึ้นไป ถึง 4 เท่า 

อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ

- กลุ่มวัยเรียนอายุ 15-24 ปี ในปี 2563 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 428 คน และปี 2564 เสียชีวิต 439 คน

- กลุ่มวัยทำงานตอนต้น อายุ 25-34 ปี  พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ในปี 2564 จำนวน 956 คน มากกว่า ปี 2563 ที่มีจำนวน 896 คน

 

  • จากบาดแผลในวัยเด็กสู่ปัญหาการ “ฆ่าตัวตาย”

ความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย ที่สามารถเกิดได้ตั้งแต่วัยเด็กนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

- ไม่ได้รับความอบอุ่นเท่าที่ควร : เนื่องจากผู้ปกครองปล่อยปละละเลย ไม่ได้ให้ความอบอุ่นกับเด็กมากเท่าที่ควร เช่น ไม่ให้ความสนใจ มีการทำร้ายทั้งทางร่างกายและด้วยคำพูด หรือ การทำให้เด็กรู้สึกผิด เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทางลบในครอบครัว

- เข้มงวดกับเด็กมากเกินไป : ผู้ปกครองบางคนมีความหวังดีและต้องการให้ลูกมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบก็จริง แต่ถ้าหากที่บ้านมีกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไปก็อาจจะกลายเป็นการสร้างความกดดันให้กับตัวเด็ก

- บาดแผลทางจิตใจร้ายแรงอื่นๆ : กรณีนี้เป็นสาเหตุที่รุนแรงที่สุดที่จะสะสมอยู่ภายในจิตใจของเด็กจนนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น เนื่องจากไม่สามารถหาทางออกได้ เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทอดทิ้ง การถูกทำร้ายร่างกาย หรือ ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 ของเด็กที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน หรือกล่าวได้ว่าเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสำเร็จในอนาคต

 

  • ผู้ใหญ่ต้องรู้! พฤติกรรมของเด็กแบบไหน? เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

รู้หรือไม่? ลักษณะของพฤติกรรมบางอย่างของเด็ก หากผู้ใหญ่สังเกตดูดีๆ ก็จะรับรู้ได้ว่าเด็กคนนั้นๆ กำลังมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตาย เช่น 

- เด็กพูดจาหรือโพสต์โซเชียลในทำนองที่ว่าตัวเองไร้ค่า มีแต่ความล้มเหลว ทำอะไรไม่สำเร็จ รู้สึกท้อแท้ 

- เด็กพูดจาหรือโพสต์โซเชียลว่าตัวเองเป็นภาระ ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร คิดถึงคนที่ตายไปแล้ว 

- เด็กสนใจข่าวการฆ่าตัวตายบ่อยๆ จนผิดปกติ 

- เด็กขาดความสนใจในตัวเอง ปล่อยเนื้อปล่อยตัวไม่ดูแลตัวเอง ไม่กินข้าว ไม่อาบน้ำ ไม่นอน ชอบเก็บตัวตามลำพัง แยกตัวจากครอบครัวและเพื่อนฝูง 

- เด็กขาดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง ไม่รู้สึกสนุกสนานกับสิ่งที่เคยชอบ 

- เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มเหล้าจัด ขับรถเร็ว พูดบ่น หรือเขียนข้อความเกี่ยวกับความคิดอยากตาย จัดการกับภาระสุดท้ายต่างๆ เช่น ทำพินัยกรรมยกสมบัติส่วนตัวให้ผู้อื่น เป็นต้น

หากพบว่าบุตรหลานหรือคนใกล้ชิดเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในลักษณะดังข้างต้น ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากการฆ่าตัวตายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน เพราะฉะนั้นการได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่ในกรณีที่บุตรหลานยังไม่พร้อมไปพบแพทย์ ผู้ปกครองเองก็สามารถไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเบื้องต้นก่อนได้

แม้ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังสามารถป้องกันได้ และควรเริ่มป้องกันตั้งแต่วัยเด็กโดยผู้ปกครองควรศึกษาข้อมูลด้านจิตวิทยาในการเลี้ยงดูบุตรหลานในเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เผลอทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเด็กๆ จะเก็บเอาสิ่งใดไปคิดจนกลายเป็นบาดแผลที่ฝังอยู่ในใจของพวกเขาบ้าง

อ้างอิงข้อมูล : กรมสุขภาพจิต และ รพ.มนารมย์