ต้องป้องกัน! สถิติชี้ ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการ ‘ล้ม’ เฉลี่ยวันละ 3 คน
รู้หรือไม่? ทุกๆ 8 ชั่วโมงจะมี "ผู้สูงอายุ" เสียชีวิตจากการหกล้ม 1 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน และทุกปีจะมีผู้สูงอายุประสบเหตุดังกล่าวมากกว่า 3 ล้านคน
ปี 2565 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 20 หรือสูงถึง 12 ล้านคน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ว่า ในปี 2580 ไทยจะมีสัดส่วนของ "ผู้สูงอายุ" เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 30 โดยเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังหรืออยู่กับผู้สูงอายุด้วยกัน กว่าร้อยละ 30 เช่นกัน
โดยหนึ่งในปัญหาที่จะมาพร้อมกับ "สังคมสูงวัย" แน่ๆ ก็คือ ปัญหาการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือป่วยติดเตียง นอกจากจะสร้างความสูญเสียให้กับครอบครัวแล้ว ยังถือเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐต้องแบกรับภาระในการดูแลประชากรกลุ่มนี้มากขึ้น
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลไว้เมื่อ 7 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมาระบุว่า การ “พลัดตกหกล้ม” ในผู้สูงอายุเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขที่นับวันก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนของผู้สูงอายุในสังคมไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอายุมากขึ้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสการบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โดยสถานการณ์การพลัดตกหกล้มในประเทศไทยพบว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุประสบเหตุ #หกล้ม ทุกปี ซึ่งสถานที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ พบว่า 65% เกิดเหตุในบ้าน และ 30% เกิดเหตุในห้องน้ำ ส่วนสาเหตุที่ทำให้หกล้มพบว่าส่วนใหญ่เกิดจาก การลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกัน และมาจากการที่พักอาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่มีราวเกาะในห้องน้ำ และใช้ส้วมนั่งยอง เป็นต้น
ประกอบกับก่อนหน้านี้ มีผลสำรวจจาก “กรมควบคุมโรค” (ณ เม.ย. 2562) รายงานเอาไว้ว่า 50% ของผู้เสียชีวิตจากการหกล้มในประเทศไทย พบว่าเป็นผู้สูงอายุ โดยทุกๆ ปี จะมีผู้สูงอายุประสบเหตุพลัตตกหกล้ม มากกว่า 3 ล้านคน รวมถึงพบว่ามีการใช้บริการรถฉุกเฉิน ด้วยสาเหตุพลัดตกหกล้มเฉลี่ยวันละ 140 ครั้ง หรือ 50,000 ครั้ง/ปี
อีกทั้งในปี 2560 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการล้ม 1,046 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน หรือ 8 ชั่วโมงต่อ 1 คน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสถิติว่ามีผู้สูงอายุป่วย/บาดเจ็บ จากการพลัดตกหกล้มสูงถึง 45% เมื่อเทียบกับอุบัติเหตุอื่นๆ และเพศหญิงมีการพลัดตกหกล้มสูงกว่าเพศชาย 1.6 เท่า
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าปัญหาการ “ล้ม” ในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด และในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะยิ่งลุกลามเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นแปรผันตามสภาพสังคมผู้สูงอายุที่จะมีคนชนราเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ โดยนายแพทย์โอภาสได้มีคำแนะนำแก่ประชาชน ดังนี้
- จัดห้องน้ำให้อยู่ติดกับห้องนอน ไม่ควรมีกลอนประตู
- ห้องนอนมีแสงสว่างเพียงพอทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็นได้ชัดเจน
- พื้นเรียบเสมอกัน แบ่งพื้นที่เป็นส่วนแห้ง ส่วนเปียกปูด้วยวัสดุผิวหยาบและมีความหนืด หรือใช้แผ่นรองกันลื่น
- ใช้โถส้วมเป็นแบบชักโครกหรือแบบนั่งราบ และติดตั้งราวจับบริเวณโถส้วมและเก้าอี้นั่งอาบน้ำ
- มีเก้าอี้นั่งอาบน้ำ ติดอยู่กับที่ มีพนักพิงและที่พักแขน
- ทำประตูห้องน้ำให้เป็นบานเลื่อนแบบกว้างเพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้เปิดปิดหรือเข้าออกได้อย่างสะดวก
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ขอความร่วมมือชุมชนหรือเพื่อนบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่บริเวณใกล้เคียง ให้ช่วยกันดูแลถามไถ่ผู้สูงอายุที่อาจอยู่เพียงลำพัง และหากพบเห็นสิ่งผิดปกติขอให้รีบโทรแจ้งผู้ใหญ่บ้าน หรือบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โทร.1669 ทันที
------------------------------------------
อ้างอิง : กองป้องกันการบาดเจ็บ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค, DDC Watch กรมควบคุมโรค