“กราดยิง” ปัญหาใต้พรม ทางออกกับการอยู่ร่วมกับมัน | ว่องวิช ขวัญพัทลุง
เมื่อโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น สิ่งแรกที่จะถูกตั้งเป็นคำถามเสมอ คือ “ความรัดกุม และเท่าทันของกฎหมาย” ในฐานะการเป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องรักษาไว้ซึ่งการ “ดำรงอยู่ของสังคม”
ยิ่งเมื่อกฎหมายที่นำมาบังคับใช้นั้นใช้มาเป็นเวลานาน คำตอบของปัญหามักยิ่งเด่นชัดขึ้นเสมอสำหรับทุกคน จนหลงลืมข้อเท็จจริงสำคัญหนึ่งที่ว่า “เรา” คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการผลักดันให้เกิดความรุนแรงอันรวมไปถึงปัญหาของสังคม ในสถานะของ “มรดกแห่งสังคม”
คำพูดเหล่านี้ถูกพิสูจน์ตั้งแต่ “ศตวรรษที่ 19” โดยนักอาชญาวิทยาชาวอิตาลี “ซีซาร์ ลอมโบรโซ” ที่เชื่อมั่นว่า การกระทำความผิดของมนุษย์สามารถอธิบายได้ด้วยการเก็บข้อมูลแบบวิทยาศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจมูลเหตุจูงใจ และนำไปลดการก่ออาชญากรรมที่ “ต้นเหตุ” กล่าวคือ การก่ออาชญากรรมทุกครั้งผู้ก่อเหตุจะใช้เวลาในการตัดสินใจผ่านประสบการณ์ พฤติการณ์ ทั้งภายในและภายนอก อันเป็นตัวกระตุ้นการกระทำให้เกิดขึ้น “ช้า” หรือ “เร็ว”
“ตัวกระตุ้นภายใน” มีตัวชี้วัดคือ เหตุทางชีวภาพ และเหตุทางจิตวิทยา กล่าวคือ บุคคลดังกล่าวนั้นมีสภาพทางร่างกายที่สมประกอบหรือไม่ มีโรคร้าย หรือโรคทางจิตติดตัวทั้งแบบรู้ตัว หรือแบบแอบแฟงหรือไม่
สิ่งเหล่านี้คือดัชนีชี้ความต่างของการตัดสินใจจะเป็น “อาชญากร” ได้อย่างชัดเจน เปรียบเสมือน “ตัวละครหลัก” ของเรื่องที่แตกต่างกันไปตามกระแสของ “พล็อตเรื่อง” ซึ่งพล็อตเรื่องนั่นก็คือ “ตัวกระตุ้นภายนอก” หรือ “เหตุทางสังคมวิทยา” ที่หมุนเวียนมากระทบผ่านทาง สภาพเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว หรือแม้กระทั่งความรักและศาสนา
ดังนั้น หากเราสามารถเข้าใจ “เหตุ” อันเป็นตัวกระตุ้นต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะเข้าใจพฤติกรรมของบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการก่อ “อาชญากรรม” และนำมาซึ่งการลดอาชญากร
การกราดยิง ถือเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงประเภทหนึ่งที่ยากต่อการยับยั้ง เนื่องจาก “อาชญากร” ไม่ได้จำเพาะเจาะจงกระทำต่อผู้เสียหายกลุ่มใดเป็นสำคัญ ผู้ยับยั้งเหตุไม่สามารถล่วงรู้ถึง “เหตุ” อันเป็นตัวกระตุ้นภายใน ทำได้แค่คาดคะเนจากความน่าจะเป็นของ “ตัวกระตุ้นภายนอก” อันเป็นสภาพแวดล้อมหรือเหตุทางสังคมวิทยา
กรณีที่หนองบัวลำภูนั้น สังคมต่างมุ่งเป้าไปที่ ความกดดันในอาชีพ ความเครียดทางเศรษฐกิจ การใช้สารเสพติด รวมไปถึงความหละหลวมของการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง
พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อันเป็นกฎหมายที่บังคับใช้มากว่า 75 ปี ถูกมองว่าเป็นปัญหาเชิงกฎเกณฑ์แห่งสังคมที่ “ล้าสมัย” ไม่เท่าทันต่อการก่ออาชญากรรม
แม้ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะผ่านการแก้ไขปรับปรุงมาแล้วก็ตาม และเช่นเดียวกัน “ปัญหายาเสพติด” ที่ถูกยกขึ้นกล่าวอ้างถึงขนาดต้องกลับไปทำสงครามกันอีกรอบเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยแห่งสังคม
การผ่าทางตันโดยการแก้ไขปัญหาทั้งสองนี้ใช่ว่าจะผิดเสียทีเดียว แต่ก็ใช่ว่านั้นคือทั้งหมดของทางออกเช่นกัน กล่าวคือ แม้ว่าข้อมูลสถิติขององค์กรวิจัย Small Arms Survey ชี้ว่ามีคนไทยกว่า 10.3 ล้านคนครอบครองอาวุธปืน แต่กลับจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายราว 6.2 ล้านกระบอกเท่านั้น
ประเด็นคือ อีกกว่าครึ่งที่ถือครองโดยผิดกฎหมายนั้น เกิดขึ้นด้วยความ “ล้าสมัย” ของกฎหมาย หรือการขาดความตระหนักต่อการใช้กฎหมายอย่างศักดิ์สิทธิ์ของทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายและประชาชนเอง
มากไปกว่านั้นการทำสงครามกับ “ยาเสพติด” ก็สามารถถอดบทเรียนได้อย่างชัดเจนกว่า 10 ปี ว่าไม่สามารถทำให้หมดไปได้ ทั้งยังกระตุ้นให้มีการกระทำความผิดที่รุนแรงชนิดอื่น ๆ ตามมาจากทั้งตัวอาชญากรเอง หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจก็ตาม
เห็นชัดว่า “การควบคุมตัวกระตุ้นภายนอก” ไม่สามารถนำมาซึ่งการลดอาชญากรรมรูปแบบนี้ เป็นเพียงแค่การประวิงเวลาในการลงมือกระทำความผิดเท่านั้น มิอาจเปลี่ยนสิ่งที่ผู้ก่อเหคุต้องการได้
เช่นนี้ “การถอดบทเรียน” ผ่านทางตัวกระตุ้นภายในจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของปัญหานี้ เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีสถิติการกระทำผิดรูปแบบนี้เป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2019 เกิดเหตุจำนวน 417 ครั้ง
แต่การครอบครองปืนในที่สาธารณะของบางรัฐกลับสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้เสรีภาพในการมีไว้เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นกับตนเองตามรัฐธรรมนูญ
แม้เสรีภาพนี้จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา แต่สหรัฐฯกลับเลือกทางออกที่จะ “ถอดบทเรียน” จากตัวผู้ก่อเหตุมากกว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเป็นหลัก เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุแห่งการกระทำ และนำมาเรียนรู้เพื่อจะอยู่ร่วมกับปัญหา ภายใต้เงื่อนไขที่รู้ดีว่าไม่สามารถทำให้กลายเป็น “ศูนย์” แต่เป็นไปเพื่อ “ลด” สถิตินั้นลงมาในทุก ๆ ปี
ในสหรัฐฯ รัฐและนักวิชาการร่วมมือศึกษาโปรเจคที่ชื่อว่า “The Violence Project : How to stop a mass shooting epidemic” ซึ่งผลลัพธ์ในการศึกษาผ่าน “เหตุ” อันเป็นตัวกระตุ้นทั้งสองรูปแบบออกมาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ
อาชญากรรมประเภทนี้มีตัวกระตุ้นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 ปีหลัง จาก “สภาวะทางจิต” และ “ความขัดแย้งในตัวเอง” กลายเป็น “ปัญหาด้านความสัมพันธ์”, “ความเกลียดชัง” และ “การต้องการมีชื่อเสียง”
มากไปกว่านั้นยังพบว่าก่อนลงมือกระทำ ผู้ก่อเหตุจะเริ่มแสดงอาการความบกพร่องทางอารมณ์ ทางความประพฤติ แยกตัวจากผู้อื่น จิตฟุ้งซ่าน รวมถึงเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะแสดงออกมาก่อนกว่าหนึ่งปีโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเสพติด
นั่นหมายความว่า หากสามารถบ่งชี้การแสดงออกของผู้ใกล้ชิด ก็สามารถที่จะลดอาชญากรรมรูปแบบนี้ได้ เพียงแค่การช่วยกัน “ใส่ใจ” อีกทั้งพบว่าสถานที่ก่อเหตุมักเป็นสถานที่ที่ผู้ก่อเหตุคุ้นชินและมีการรักษาความปลอดภัยระดับต่ำ
เช่น สถานที่ทำงาน มหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะ “สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนเด็กเล็ก” เพื่อง่ายต่อการกระทำความผิด และกลายเป็นจุดสนใจของสังคมตอบโจทย์ความต้องการมีชื่อเสียงของตน
ดังนั้น การแก้กฎหมาย หรือปราบปรามยาเสพติด จึงเป็นเพียการเปลี่ยนเครื่องมือเท่านั้น มิได้เข้าใจเหตุอันเป็นต้นทางของปัญหาเพื่อเข้าใกล้ความเป็นจริงสู่การ “ลดปัญหา” ซ้ำร้ายยังเป็นการวิ่งวนตามหาสังคมที่ “ไร้ซึ่งปัญหา” อันไม่มีอยู่จริง.