ประเทศอันดับ 1 ของโลกสำหรับ SE | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ
ผลสำรวจล่าสุด โดย Thomson Reuters Foundation ในปี 2562 ได้จัดอันดับให้ “แคนาดา” เป็นประเทศที่ดีที่สุดอันดับ 1 ของโลกในการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ขณะที่ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 24
เมื่อนึกถึงประเทศต้นแบบในการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE) คนส่วนใหญ่มักจะกล่าวถึงสหราชอาณาจักร (UK) สหรัฐ เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ซึ่งโดดเด่นเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมเชิงนโยบายที่ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองคือ ประเทศแคนาดา
ผลสำรวจล่าสุด โดย Thomson Reuters Foundation ในปี 2562 ได้จัดอันดับให้ “แคนาดา” เป็นประเทศที่ดีที่สุดอันดับ 1 ของโลกในการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม
การจัดอันดับของ Thomson Reuters Foundation พิจารณาปัจจัยต่างๆ หลายมิติ เช่น การส่งเสริมของภาครัฐ การดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะสูง ความรู้ความเข้าใจของประชาชน การเข้าถึงการลงทุน และการอยู่ได้ทางธุรกิจ เป็นต้น
ปรากฏว่าประเทศ 5 อันดับแรกของโลกที่ดีที่สุดสำหรับการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม คือ แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เบลเยียม และสิงคโปร์ ในอาเซียนนอกจากสิงคโปร์แล้ว ประเทศที่น่าจับตามองคืออินโดนีเซีย ได้อันดับที่ 9 และฟิลิปปินส์ ได้อันดับที่ 22 ในขณะที่ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 24
สำหรับกรณีแคนาดา จุดเริ่มต้นของการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในแคนาดาไม่เรียบง่ายนัก เนื่องด้วยเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก สามารถแบ่งได้เป็น 6 เขตเวลา ประกอบด้วยประชากรที่มีเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย การพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมในระยะเริ่มแรกในแคนาดาค่อนข้างขาดการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และไร้ทิศทางที่ชัดเจน
กระทั่งทศวรรษ 90 ที่คนในสังคมแคนาดาเริ่มค้นหา แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและสร้างงานให้คนในชุมชน อาทิ มีการก่อตั้ง “Potluck Café” วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพและราคาเข้าถึงได้สำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางในชุมชน
โดยนำกำไรจากการให้บริการจัดเลี้ยง กลับมาลงทุนในกิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายทางสังคม หรือการริเริ่มโครงการ “Recycling Depot” ภายใต้ United We Can ซึ่งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนในชุมชนผ่านการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์
ในช่วงเวลาเดียวกัน ภาครัฐได้ริเริ่มโปรแกรมที่สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เกิดใหม่ เช่น การจัดตั้ง “Toronto Enterprise Fund” ซึ่งเป็นกองทุนสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่สร้างโอกาสในการทำงานให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความท้าทายในการเข้าถึงตลาดแรงงาน และ “Enterprising Non-Profits” ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคม ผ่านการส่งเสริมทักษะ การเข้าถึงเงินทุน การขยายตลาด และการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง
การริเริ่มดังกล่าวได้ส่งแรงกระเพื่อมต่อเนื่องมาถึงทศวรรษถัดมา มีการก่อตั้งชุมชน the Canadian Community Economic Development Network (CCEDNet) เมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาชุมชนและสังคม
มีการจัดงาน The Canadian Conference on Social Enterprise (CCSE) เป็นครั้งแรกปี 2547 ที่เมืองโทรอนโต และครั้งถัดมาปี 2550 ที่เมืองแวนคูเวอร์
นอกจากนี้ มีการก่อตั้งสภาวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศแคนาดา (Social Enterprise Council of Canada) ซึ่งช่วยสร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลสำหรับผู้ประกอบการเพื่อสังคม รวมถึงการเข้าถึงเงินทุนและบริการทางการเงิน นโยบายสาธารณะ และเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กลายเป็นรากฐานสำคัญของการส่งเสริมเชิงนโยบายสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมทั่วประเทศ
ระบบนิเวศของวิสาหกิจเพื่อสังคมในแคนาดาก่อร่างและมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในปี 2559 เมื่อรัฐบาลกลางพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมและการเงินเพื่อสังคม (Social Innovation and Social Finance, SI/SF)
พร้อมทั้งเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ผ่านการสนับสนุนเงินทุนจำนวนมากถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าหรือประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท
รายงานจาก Thomson Reuters Foundation สรุปในภาพรวมว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศแคนาดาได้รับประโยชน์จากเงื่อนไข 4 ประการ ได้แก่
- เงื่อนไขการทำธุรกิจที่เอื้อเฟื้อต่อวิสาหกิจเพื่อสังคม
- การสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาล
- ความง่ายในการเข้าถึงเงินทุนและการลงทุน
- การมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งจากคนรุ่นใหม่และผู้หญิง
Joel Solomon พาร์ทเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน Renewal Funds ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศแคนาดาและสหรัฐ กล่าวว่า การที่แคนาดาเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อโครงข่ายความปลอดภัยของสังคม (Social Safety Net) การจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม และการยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นที่ยอมรับและเคารพจากคนในสังคม
การเรียนรู้จากประสบการณ์ของแคนาดา จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนำมาประยุกต์เพื่อสร้างระบบนิเวศในการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เติบโตได้
การมีกองทุนหรือเครื่องมือทางการเงิน หน่วยงานส่งเสริม บุคลากรที่มีความสามารถสูง และการสร้างเครือข่ายชุมชนวิสาหกิจเพื่อสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชนคนรุ่นใหม่
คอลัมน์ คิดอนาคต
อภิวรรณ ดวงภุมเมศ
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)