เกิดเป็นหญิง แท้จริงไม่ลำบาก | วรากรณ์ สามโกเศศ
ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราอย่างชัดเจนก็คือ "ผู้หญิงมาแรง" กล่าวคือสัดส่วนตำแหน่งงาน ที่สำคัญของราชการและเอกชนเป็นของผู้หญิงมากขึ้น
บัณฑิตเกียรตินิยมในแต่ละปีของทุกมหาวิทยาลัยล้วนเป็นผู้หญิงทั้งนั้น คณะในมหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันกันมากก็มีผู้หญิงสอบเข้าได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในการแข่งขันใดก็ตาม รางวัลชนะเลิศมักเป็นผู้ของหญิง ฯลฯ อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยอย่างลึกซึ้งในเรื่องของสาเหตุ
ผลที่เกิดขึ้นและการแก้ไขถึงแม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะผู้หญิงถูกหาประโยชน์มาเนิ่นนานแล้วก็ตาม ปรากฏการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หากเกิดขึ้นทั้งโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและโลกตะวันตก ขณะนี้เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันในระดับโลก
หนังสือชื่อ Of Boys and Men (2022) โดย Richard V. Reeves ถูกกล่าวขวัญกันมากเพราะได้เปิดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา เขารวบรวมข้อเท็จจริงในสหรัฐอเมริกามาดังนี้
(1) ในห้องเรียนเด็กชายมีปัญหาในการเรียนมากกว่าเด็กหญิงโดยเฉลี่ย สำหรับเด็กอายุ 5 ขวบ เด็กหญิงมีความพร้อมมากกว่าเด็กชาย 14% เมื่อวัดจากคะแนนโดยเปรียบเทียบในกลุ่มที่พ่อแม่มีคุณลักษณะเหมือนกัน
(2) เมื่อถึงชั้นมัธยมปลาย สองในสามที่ได้คะแนนสูงสุด 10% ของชั้นเรียนคือผู้หญิงและสองในสามของคะแนนต่ำสุด 10% คือผู้ชาย
(3) ในปี 2020 ในคณะนิติศาสตร์ 16 แห่งของมหาวิทยาลัยชั้นยอดของสหรัฐ ไม่มีผู้ชายแม้แต่คนเดียวที่เป็นบรรณาธิการของวารสารของคณะ (คนที่ได้คะแนนสูงสุดประกอบความเหมาะสมอื่น ๆ จะได้รับเกียรตินี้)
(4) ผู้ชายก็สู้ผู้หญิงไม่ได้ในเรื่องงาน หนึ่งในสามของชายที่เรียนจบเพียงชั้นมัธยมปลาย (5 ล้านคน) ว่างงาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เลวร้ายสุดสำหรับชายอายุ 25-34 ปี
(5) ในด้านผลตอบแทน ผู้ชายที่เริ่มทำงานในปี 1983 ได้รับผลตอบแทนในรูปของค่าเงินที่แท้จริงตลอดชีวิตน้อยกว่าคนรุ่นพ่อ ในขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้หญิงได้รับเพิ่มขึ้น 33%
(6) ในด้านสังคม สามในสี่ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากเรื่องการใช้ยาเสพติดและฆ่าตัวตายเป็นชาย
(7) ตอนโควิด-19 ระบาดตั้งแต่แรกถึงกลางกันยายนในปี 2021 ทุก ๆ หญิงกลางคน 100 คน ที่ตายจากโควิด-19 จะมีชายตายด้วยโรคเดียวกัน 184 คน
(8) ในสหรัฐอเมริกา 57% ของปริญญาตรีเป็นผู้หญิง และตัวเลขคล้ายคลึงกันปรากฏในโลกตะวันตกด้วย ฯลฯ
ตัวเลขคร่าวๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ชายกำลังสู้หญิงไม่ได้ หลายคนอาจสะใจและบอกว่า “ถึงทีข้าเอ็งอย่าร้อง” แต่ในเชิงวิชาการแล้วการเข้าใจปรากฏการณ์และสาเหตุจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายต่อไปในอนาคต
นักคิดหลายคนให้ความเห็นหลากหลายกัน และกินความไปถึงเรื่องความแข็งแกร่งทางร่างกายของหญิงที่โดยแท้จริงแล้วเหนือกว่าชายด้วย Reeves และคนอื่น ๆ ให้ความเห็นว่า
(1) อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในเชิงกีดกันกระทบเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ตัวอย่างเช่นในชุมชนยากจนและครอบครัวมีปัญหา เด็กหญิงมีความสามารถที่จะ “ปีนกำแพง” หนีออกมาได้สูงกว่าเด็กชาย
ในแคนาดางานวิจัยพบว่าในครัวเรือนที่ยากจนที่สุด มีความเป็นไปได้ที่ผู้ชายจะยากจนเหมือนเดิมสองเท่าของผู้หญิงในลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ลูกชายของพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมีอัตราเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่ำกว่าลูกสาวที่อยู่ในสภาพเดียวกัน
(2) โครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือการเลื่อนฐานะในสังคมมักได้ผลกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เช่น การเรียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง การรักษางานที่มีอยู่ การได้รับปริญญา ฯลฯ
(3) ผู้ชายกำลังลำบากส่วนหนึ่งเพราะงานในโรงงานจำนวนมากไม่พึ่งพาความแข็งแรง เช่น การยกของหรือแบกหามของคนทำงานชายอีกต่อไปเพราะมีการใช้หุ่นยนต์ และเครื่องทุ่นแรงมากขึ้นทุกที
(4) ผู้หญิงมักมีพลังใจในการทำงาน มีความทะเยอทะยาน ต้องการทำงานหนัก มีการวางแผน ฯลฯ ที่เหนือกว่าผู้ชาย
(5) ผู้ชายจำนวนมากมีชีวิตที่เปล่าเปลี่ยวและอันตราย ประมาณร้อยละ 15 ของชายไม่มีเพื่อนสนิท โดยเพิ่มจาก 3% ในปี 1990 หนึ่งในห้าของคนเป็นพ่อมิได้อยู่กับลูก (ในปี 2014 สัดส่วนคนหนุ่มอยู่กับพ่อแม่สูงกว่าอยู่กับภรรยา หรือแฟน)
(6) สังคมมิได้ปลูกฝัง และฝึกฝนทักษะด้านอารมณ์ (emotional skills) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในโลกปัจจุบันอย่างเพียงพอให้แก่เด็กชายเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่วัฒนธรรมกำหนดมาให้คือการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องมีความเชื่อมั่นและมีความสามารถ
สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างมากในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนเพศหญิงจะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องได้ดีกว่าดังหลักฐานที่ได้เห็น
หลายคนมีความเห็นว่าสิ่งที่เห็นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะโดยธรรมชาติหญิงมีลักษณะธรรมชาติที่แข็งแกร่ง ทนทาน มีความสามารถในการต่อสู้กับความยากลำบาก (ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่า “ถึก”) มีความอดทน และอดกลั้นสูงกว่าชายดังนั้นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างสูงจึงเป็นโอกาสให้หญิงได้แสดงความสามารถออกมา
มีผู้ให้ความเห็นในเรื่องความแข็งแกร่งของหญิงดังนี้
(1) มีหลายคำจำกัดความของ “ความแข็งแรง” ถ้าเป็นความแข็งแรงทางกายภาพ เช่น ร่างกายสูงใหญ่ สามารถยกของหนักและทำงานออกแรง ฯลฯ ผู้ชายเหนือกว่าอย่างแน่นอน แต่ถ้า “ความแข็งแรง” กินความถึงความแข็งแกร่งของร่างกายที่มาจากความเป็นหญิงข้างในและของสภาพจิตใจแล้ว ชายมิได้เหนือกว่าหญิง
(2) หญิงมีความสามารถในการอยู่รอดเชิงชีววิทยาสูงกว่าชายดังเห็นได้จาก
(ก) โดยเฉลี่ยทั่วโลกหญิงมีอายุยืนกว่าชายประมาณ 5-6 ปี (สาเหตุอาจมาจากการที่พระเจ้าต้องการให้หญิงมีช่วงเวลาที่สงบก่อนตายบ้าง)
(ข) ในจำนวน 43 คนทั่วโลกที่มีอายุเกินกว่า 110 ปีเป็นหญิง 42 คน
(ค) เป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ว่าโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูงเกิดในผู้ชายก่อนผู้หญิงหลายปี
(ง) อัตราความก้าวหน้าของหลายโรคสูงกว่าในเพศชาย
(จ) ในการติดเชื้อสารพัดโรค ผู้หญิงมีภูมิต้านทานโดยเฉลี่ยสูงกว่าชายและเมื่อติดเชื้อร้ายแรง ผู้หญิงก็มีโอกาสรอดมากกว่าชาย สามารถตอบรับต่อยาและมีระยะเวลาของการติดเชื้อสั้นกว่า
(มีแพทย์อธิบายว่าอาจเนื่องมาจากการที่หญิงมีฮอร์โมน estrogen และprogesterone สูงกว่าจึงช่วยให้มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่า และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ผู้หญิงเป็นโรคประเภท autoimmune สูงกว่าเพราะมีระบบต่อสู้การติดเชื้อที่ดีจนโจมตีเซลล์ของตัวเอง)
(ฉ) ถึงแม้จะมีหลักฐานว่ามีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชายที่ป่วยไข้และเจ็บปวดเป็นประจำ แต่ก็เป็นเพราะผู้หญิงเป็นเพศต่อสู้อยู่รอดได้ดีกว่า ดังนั้นจึงมี “แผลเป็น” จากการอยู่รอดมากกว่าชาย นอกจากนี้ผู้หญิงมีทางโน้มที่จะเข้ารับบริการแพทย์มากกว่าชาย ฯลฯ
สิ่งที่ทำให้ผู้ชายในยุคปัจจุบัน “อ่อนแอ” กว่าเพศหญิง ก็เพราะโดยสัญชาตญาณแห่งการแสวงหาความตื่นเต้นอยู่เสมออันเป็นผลจากระดับของฮอร์โมนชายในร่างกาย ผู้ชายจึงตอบรับสิ่งที่ดึงดูดใจให้ออกนอกเส้นทางมากกว่าหญิง
ในปัจจุบันสามารถเล่นการพนันได้จากห้องนอน ซึ่งเป็นสถานที่แห่งความบันเทิงใจมากกว่าแต่ก่อน เพราะมีสื่อสังคมที่ช่วยให้หาคู่ได้ง่ายขึ้น
แอลกอฮอร์ก็ถึงมือได้ง่ายกว่าเพราะพลังของการตลาด มองไปทางไหนก็มีแต่ความสนุกที่ตื่นเต้น จนสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ในระยะปานกลางเช่นการเรียนหนังสือและพัฒนาตนเองมีความสำคัญลดน้อยลงไป
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ “ชาย” ไม่ทัน “หญิง” ในปัจจุบันก็มาจากสิ่งที่อยู่ในร่างของความเป็นชายนั่นแหละ.