ชมฟรี! 1 ปี มีครั้งเดียว "Night at the Museum 2022" @ คณะวิทย์ จุฬาฯ 16-18 ธ.ค.นี้
สุดสัปดาห์นี้ หากใครมองหาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ พืช สัตว์ ธรณีวิทยา และเทคโนโลยีทางภาพ ห้ามพลาด! จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้เข้าชมฟรี Night at the Museum 2022 พบกับ 4 พิพิธภัณฑ์ + 1 นิทรรศการพิเศษ ยามค่ำคืน ตั้งแต่วันนี้ ถึง 18 ธันวาคม 2565 เวลา 12.00 - 22.00 น
การรวมตัวภารกิจพิพิธภัณฑ์ครั้งสำคัญ มาร่วมสร้างสีสันยามค่ำคืน! เทศกาลยิ่งใหญ่แห่งปี 1 ปี มีครั้งเดียว "NIGHT AT THE MUSEUM FESTIVAL 2022" Make your own night with Museum Experiences @ ที่ตึกชีววิทยา ชั้น 2 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตั้งแต่วันนี้ (16 ธ.ค.) เวลา 17.00 น.ทุกคนจะได้ สัมผัสประสบการณ์เที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนด้วยตัวคุณ กับ 4 พิพิธภัณฑ์ + 1 นิทรรศการ โดยนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน สามารถเข้าชม "ฟรี"
ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่าการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night at the Museum) เป็นความร่วมมือของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2559 การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในปีนี้เป็นการกลับมาจัดงานครั้งยิ่งใหญ่หลังจากหยุดไป 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
10 ปี "พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ" เตรียมพบนิทรรศการชุดใหม่ อำลานิทรรศการฉลองพระองค์
แนะตั้ง"พิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย" บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์เด็ก
"ทีทีบี" เปิด “พิพิธภัณฑ์ครุฑ” แห่งแรกในอาเซียน
“นิทรรศการศิลปะ” ART IN RESONANCE ที่ "โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ"
เรียนรู้เสริมจินตนาการ 4 พิพิธภัณฑ์ + 1 นิทรรศการ ยามค่ำคืน
“พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมในช่วงวัน-เวลาราชการอยู่แล้ว สำหรับการแสดงนิทรรศการในช่วงกลางคืน มีความพิเศษคือ เป็นการเปลี่ยนเวลาในการจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งมุมมองในช่วงเวลากลางคืนจะแตกต่างจากช่วงที่มีแสงในกลางวัน การจัดแสงจะมีความสวยงามของธรรมชาติอีกมุมหนึ่งที่เกิดขึ้นต่างจากการรับรู้ปกติ” ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ กล่าว
ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์ในจุฬาฯ คือความเป็นธรรมชาติของสิ่งที่จัดแสดงในงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางคณะวิทยาศาสตร์ใช้ในการเรียนการสอนและการวิจัยของแต่ละภาควิชาอยู่แล้ว วิทยากรผู้ให้ความรู้แก่ผู้ชมภายในพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนจะเป็นนิสิตในภาควิชา โดยนิสิตจะมีวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาษากึ่งวิชาการแบบเข้าใจง่าย ทำให้เกิดความสนุกสนานในการรับรู้
“เราเปิดทั้ง 4 พิพิธภัณฑ์ในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ผู้สนใจเข้าชม เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์จะเกิดแรงบันดาลใจ เปิดการรับรู้ใหม่ๆ เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคณะวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่มาเข้าชมงานทางวิทยาศาสตร์ แต่มีการผสมผสานความเป็นศิลปะเข้าไปให้แต่ละคนได้คิด ได้จินตนาการในแบบของตนเอง นิทรรศการยามค่ำคืนเหมาะกับผู้ชมทุกวัย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ผู้ปกครองพามาเข้าชมนิทรรศการกันทั้งครอบครัว จะได้ตื่นตาตื่นใจ ช่วยพัฒนาการเรียนรู้และเสริมสร้างจินตนาการให้กว้างไกลยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ กล่าว
ไฮไลท์ในแต่ละพิพิธภัณฑ์ ที่ไม่ควรพลาด
พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night at the Museum) ที่จัดแสดงที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ประกอบด้วย
1.พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พบกับนิทรรศการเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างจริงที่หาชมได้ยาก
- ตัวอย่าง งูจริง ทั้งงูพิษและงูไม่มีพิษ ที่พบได้บ่อยตามบ้านเรือน
- ความหลากหลายของกิ้งก่าที่มีลักษณะคล้ายงู เช่น จิ้งเหลนเรียวขาเล็ก จิ้งเหลนด้วง สางห่า (จิ้งเหลนเรียวขาเล็ก) ฯลฯ
- ตัวอย่างจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยแท้ จาก จ.นครสวรรค์ (specimens ขนาด 100 ซม.) และผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้ (เนื้อแห้ง)
- ตะพาบหรือปลาฝา เหมือนเต่าธรรมดาแต่ไม่มีกระดอง ตะพาบข้าวตอกและตะพาบแก้มแดง ซึ่งเป็นตะพาบที่พบได้ยากในประเทศไทย รวมถึง เต่านา เต่าบัว เต่าหับ และเต่าดำ ที่มักจะโดนจับไปเป็นสัตว์ปล่อย และการจัดแสดงตัวอย่างเต่าชนิดต่างๆ ที่พบในประเทศไทย
2.พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ
- จัดแสดงวิวัฒนาการการถ่ายภาพ และกล้องถ่ายรูป เรียนรู้การถ่ายภาพพื้นฐาน
- สารเรืองแสงในกระดาษ แสงสีผสม RGB ขายของที่ระลึก และจัดซุ้ม studio ถ่ายภาพ Portrait ฟรี
- หมึกเรืองแสง และสารช่วยเพิ่มความขาวในกระดาษที่ใช้ในการพิมพ์ โดยจัดแสดงภาพ หรือ งานศิลปะที่ใช้สีเรืองแสง ประเภทกระดาษขาวที่ใช้สารเพิ่มความขาว (Optical Brightening Agent) แบบต่าง ๆ
- Photobooth บริการจัดบูธถ่ายภาพบุคคลบริเวณโถงลิฟต์ ชั้น 1 เพื่อเป็นจุด Check Point ในงาน
- กิจกรรม DIY เกี่ยวกับกระดาษอัดภาพขาวดำ เพื่อเรียนรู้หลักการทำงานพื้นฐานของกระดาษอัดภาพและสารเคมีที่ใช้ในห้องมืด
3.พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา
- จัดแสดง “สีสันแห่งธรณีวิทยาและอนาคตของเรา (The Colors of Geology and Our Future)” สีสันของแร่ภายใต้แสงที่ตามองเห็นและแสง UV สีสันของแร่ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ สีสันของแผนที่ธรณีวิทยาและภาพถ่ายดาวเทียม สีสันของสัตว์ดึกดำบรรพ์
- หินเรืองแสง
- จัดแสดงตัวอย่างหินดวงจันทร์เทียมแรกของประเทศไทย
- นิทรรศการครบรอบ 18 ปี มหาภัยสึนามิ 2547
- นิทรรศการผลงานวิจัยด้านการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นหินใต้ผิวดินเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
4.พิพิธภัณฑ์พืช ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์
- พบกับงาน "Amazing Night Plants in BCU"
- Night pollination ความอัศจรรย์ของดอกไม้ที่บานยามค่ำคืน กลิ่นของดอกไม้จะช่วยนำทางเหล่าแมลงมาช่วยถ่ายเรณู
- Night blooming (Nocturnal Plant) ความงามที่ซ่อนอยู่หลังอาทิตย์อัสดงลับขอบฟ้า
- Nyctinasty ภาษากายแห่งพฤกษา หลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่ฝืนแสงตะวัน
- Bioluminescence (Noctiluca scintillans) สาหร่ายเรืองแสง หรือ พรายน้ำ พรายกระซิบ แสงระยิบจากท้องทะเล
- พืชชนิดใหม่ ที่ค้นพบโดยกลุ่มนักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์พืช ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- จัดแสดงปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสงหรือพรายน้ำ (phosphorescence) โดยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า แพลงก์ตอน (Plankton)
- ดอกไม้เรืองแสง จัดแสดงการเรืองแสงของโครงสร้างดอกไม้ ในมุมมองการมองผ่านแสงแบบต่างๆ เช่น UVA light (Black light) และ Inflorescence
- Sex of the nigh flowers หรือการผสมเกสรดอกไม้ที่บานกลางคืน นำเสนอการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของพืชและสัตว์พาหะ ที่ช่วยในการผสมเกสรในเวลากลางคืน เช่น มด ค้างคาว ผีเสื้อกลางคืน ฯลฯ
- เทคนิคการถ่ายภาพดอกไม้ผ่านโทรศัพท์แบบพกพา (เฉพาะกลางวัน)
- การจัดกิจกรรม DIY ทำ mini-terrarium และ mini-herbarium specimens (เฉพาะกลางวัน)
5. นิทรรศการพิเศษ "เพนกวินและแมวน้ำ" สนับสนุนโดย ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- จัดแสดงศิลปะการจัดวาง อาดีรีเพนกวิน (Adelie Penguin) ในรูปแบบ Science meets art การพบกันของวิทยาศาสตร์กับศิลปะ การจัดวางที่จะสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าชม ผ่านการดูด้วยตา การสัมผัสด้วยมือหรือผัสสะต่างๆ
- การแสดงขนของแมวน้ำแวดเดิล (Weddell Seal) แมวน้ำแวนเดิลมีรูปหน้าที่ยิ้ม ทำให้เป็นที่นิยมของนักถ่ายภาพ มีขนที่สั้นและหนาที่จะช่วยให้ทนหนาวได้ถึง – 20 องศาเซลเซียส
Night at the museum – แมลงภู่ราตรี แมงป่อง
- ณ ลานอะตอม
- แมลงภู่ราตรี ประกอบด้วยกล่องโชว์แมลงสองกล่อง ข้องในใส่แมลงภู่ไว้ และกล้องสเตอริโอครับ เป้าหมายคือแสดงความแตกต่างของแมลงภู่กลางวันและกลางคืน ส่องใต้กล้องได้
- แมงป่อง ประกอบด้วยกล่อง/ตู้แสดงแมลงป่องเป็น ๆ และตัวอย่างดองเล็กน้อย กับไฟฉาย UV เป้าหมายคือ ให้คนเห็นว่าแมงป่องซึ่งหากินกลางคืนมีการเรืองแสงใต้ UV light เด็กสามารถส่องเล่นได้
สำหรับการเดินทางไปคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สามารถไปได้ง่ายๆ ดังนี้
- รถไฟใต้ดิน (MRT) สถานีสามย่าน
- รถไฟ BTS สถานีสยาม และ ต่อรถจุฬาฯ Shuttle Bus
- รถเมลล์ (สาย 16, 29, 34, 36, 47, 50 และ 93) ลงป้ายหน้าสนามพระบรมรูป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มีที่จอดรถบริการฟรีในคณะวิทยาศาสตร์ (วันที่ 16 ธ.ค. เริ่มจอดได้เวลา 18.00 น. ส่วนวันที่ 17-18 ธ.ค. เริ่มจอดได้ตั้งแต่เที่ยง)
อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์สถานธรรมชาติวิทยาฯ ที่ตึกชีววิทยา ชั้น 2 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น. ซึ่งสามารถเข้าชมได้ฟรี ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/NHMCU