“ผึ้ง” ก็สื่อสารได้ แอบฟังผึ้งคุยกัน ผ่านนวัตกรรม “Smart Hive”
ทำไมเราจึงต้องฟังเสียง “ผึ้ง” หากเป็นคนทั่วไปอาจมองว่าไม่จำเป็น แต่สำหรับคนเลี้ยงผึ้งแล้ว หากไม่สามารถรับรู้ได้ว่าผึ้งคิดอะไร อาจกลายเป็น “หายนะ” เพราะการรุกรานจากศัตรูธรรมชาติ จะทำให้ “ผึ้งทิ้งรัง” และนั่นหมายความว่ารายได้ก็สูญไปเช่นกัน
หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า “น้ำผึ้ง” กลายเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแพร่หลายเนื่องจากน้ำผึ้งถือเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย ช่วยต้านทานโรคต่างๆ ได้ดี ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจและรักษาเรื่องสุขภาพมากขึ้น และจากความต้องการของตลาด ส่งผลให้น้ำผึ้งได้รับความนิยมมากขึ้น ร้านค้าต่างๆ ที่เน้นอาหารคลีน เน้นธรรมชาติ เน้นอาหารปลอดสาร เริ่มให้ความสนใจน้ำผึ้งมากขึ้น
หลายครั้งที่กว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจะรู้ว่ารังผึ้งในฟาร์มของตนเองโดนบุกโดยกองทัพต่อหรือมดแดง หรือโดนสารพิษจากสารเคมีอันตราย ก็สายเกินไป เพราะเกิด “การทิ้งรังของผึ้ง” Colony Collapse Disorder - CCD) เป็นการอพยพของผึ้งไปจากรังอย่างฉับพลัน ถือเป็นความเสียหายระดับ “หายนะ” ของคนเลี้ยงผึ้งนั้น เกิดจากการรุกรานของศัตรูทางธรรมชาติ ซึ่งในประเทศไทยมี “ตัวต่อ” “มดแดง” “นกกินผึ้ง” และ “ยาฆ่าแมลง” เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง
ทำไม ผึ้งถึงทิ้งรัง
รศ.ดร. อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) อธิบายว่า ขณะผึ้งออกหากินจะมีโอกาสถูกมดแดง มดดำ รวมถึงตัวต่อ จับกินเป็นอาหารอยู่แล้ว แต่หากสัตว์เหล่านี้พบรังผึ้ง มันจะยกขบวนกันมาเป็นกองทัพเพื่อเอาตัวผึ้ง น้ำหวานและของต่างๆ ในรังไปเป็นอาหาร ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์บุกรุกรังผึ้งแบบนี้ จะทำให้ผึ้งเกิดอาการเครียด และเลือกที่จะทิ้งรังในที่สุด หรือแม้กระทั่งมีเหตุการณ์โดนสารเคมี ก็อาจจะทำให้ประชากรผึ้งล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้รังอ่อนแอ
“หากมีอุปกรณ์ที่สามารถแจ้งให้เจ้าของฟาร์มได้รู้ทันทีที่รังผึ้งโดนบุกหรือเมื่อรังเกิดสภาวะเครียดก็จะแก้ปัญหา “การทิ้งรังของผึ้งได้ไม่ยาก” เพราะมีวิธีการจัดการตามมาตรฐานฟาร์ม เช่น การปิดช่องทางออกเดิม หรือจัดการให้ผึ้งสามารถย้ายไปสู่รังใหม่ที่เตรียมไว้ การดูแลรังผึ้งเป็นพิเศษเพื่อให้สุขภาพรังฟื้นฟู แต่จะทำอย่างไรให้สามารถรู้ล่วงหน้า ว่ารังผึ้งรังนั้นกำลังอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการทิ้งรังหรือการอ่อนแอจนรังล่มสลาย”
“เพราะระยะเวลาที่ผึ้งจะทิ้งรัง หลังจากโดนฝูงมดหรือตัวต่อบุกรัง อาจมีระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง หรืออาจเป็นวันก็ได้ ซึ่งการตรวจสอบด้วยการเปิดรังดูตามรอบการดูแลรังอาทิตย์ละครั้งอาจไม่ทันการณ์ ขณะที่การเปิดรังดูบ่อยเกินไปก็จะเป็นการรบกวนผึ้งในรัง ที่อาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำผึ้งของรังนั้นได้”
แล้วเราจะรู้ภาษาของผึ้ง ได้อย่างไร
จากโจทย์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนา “โมดูลแปลภาษาผึ้ง” ที่สามารถแจ้งให้เจ้าของฟาร์มหรือผู้ดูแลระบบที่อยู่ ให้ทราบได้ทันทีที่รังผึ้งโดนจู่โจมจากศัตรูหรือรังอยู่ในสภาวะเครียด นับเป็น “โมเดลแปลภาษาผึ้งโพรง” ตัวแรกของโลก
“แมลงกลุ่มผึ้งจะมีการสื่อสารกันด้วยการเต้นรำ เสียง และกลิ่นหรือฟีโรโมน เช่น “การเดินวงกลมคล้ายเลข 8” คือ “ภาษาผึ้ง” ที่ใช้เพื่อบอกระยะและทิศทางของแหล่งอาหารที่มันพบให้กับเพื่อนตัวอื่น ๆ ในรังได้รู้ ซึ่งตรงนี้จะมีความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ เช่น
- การเดินส่ายไปมาขึ้นไปข้างบนเป็นเวลาครึ่งวินาทีของผึ้งโพรง จะเท่ากับบอกว่ามีอาหาร (ดอกไม้) อยู่ห่างจากรังประมาณ 500 เมตร
- นอกจากภาษาผึ้งที่ดูจากการเดินแล้ว ยังมี “ภาษาผึ้งชนิดเสียง” ที่เกิดจากการขยับขาไปเสียดสีกับปีก ซึ่งพบว่าเสียงเหล่านี้มีจะรูปแบบและระดับความถี่ของเสียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ และเป็นอีกรูปแบบของภาษาผึ้งที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสามารถถอดรหัสออกมาเป็น “ระดับความเครียดของผึ้ง” ที่มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรังและนำไปสู่การทิ้งรังของผึ้งในที่สุด
งานวิจัยดังกล่าวนำไปสู่การสร้าง “Smart Hive” หรือนวัตกรรมเพื่อการเลี้ยงผึ้งแบบอัจฉริยะ ที่จะทำให้การเลี้ยงผึ้ง ง่ายและสะดวกขึ้น เมื่อเกิดปัญหาในรัง ระบบนี้จะแจ้งเตือนทันที ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้น
Smart Hive แอบฟังผึ้ง แจ้งเตือนเจ้าของฟาร์ม
รศ.ดร. อรวรรณ กล่าวว่า Smart Hive เป็นการต่อยอดจาก “Bee Box ซึ่งเป็นผลงานของทีมนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ที่มีตนเองเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเมื่อหลายปีก่อน และผลงานชิ้นนี้สามารถคว้ารางวัลนวัตกรรมทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียนเมื่อหลายปีก่อน
จากสิ่งที่ทีมนักศึกษาเขาทำได้ในตอนนั้น คือ การวิเคราะห์เสียงที่เกิดขึ้นในรังของผึ้งโพรงและพบเอกลักษณ์ของเสียงเกิดจากการขยับขาและปีกขณะรังถูกโจมตี เช่น เสียงขู่ มีลักษณะเสียงเหมือนคลื่นทะเล และเสียงที่ใช้เตือนสมาชิกในรังถึงการรบกวนของศัตรูธรรมชาติ
จากผลงานดังกล่าว ทางเราได้มีการวิจัยต่อ โดยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการวิเคราะห์อัลกอริทึม (Algorithm) ของฐานข้อมูลเสียงในรังผึ้ง ทำให้ตอนนี้ระบบของเราสามารถแปลภาษาผึ้งที่เกิดจากการเสียดสีของขากับปีกของผึ้งโพรงและผึ้งพันธุ์ ออกมาเป็นระดับความเครียดโดยรวมของผึ้งในรัง ณ เวลานั้นแบบ real time โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ
- “ระดับสีเขียว” ที่แสดงว่าเหตุการณ์ในรังยังปกติ
- “ระดับสีเหลือง” ใช้บอกการบุกรุกโดยศัตรูทางธรรมขาติ ได้แม่นยำถึง 80 เปอร์เซ็นต์ (เริ่มเครียด) และ
- “ระดับสีแดง” ที่อาจแปลได้ว่า “ฉันต้องการย้ายรังแล้ว (เครียดมาก)
“โดยหากเสียงที่วิเคราะห์แล้วเข้าข่าย ระดับสีเหลืองหรือสีแดง จะมีการแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลระบบหรือเจ้าของฟาร์มทราบในทันที ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทัน ก่อนที่ผึ้งโพรงจะทิ้งรังไป”
หัวหน้าศูนย์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจาก ระบบ Smart Hive จะมีการติดตั้งไมโครโฟนเพื่อส่งข้อมูลเสียงให้กับโมดูลแปลภาษาผึ้งแล้ว ไปในกล่องเลี้ยงผึ้งแล้ว ยังเพิ่มการติดตั้งกล้องไว้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การเฝ้าดูเหตุการณ์ที่เกิดในกล่อง กับติดตามพัฒนาการของรังไปได้พร้อมๆ กัน โดยในส่วนของงานวิจัยที่จะดำเนินการต่อ มีทั้งการวิเคราะห์ถึงระดับเสียงสีเหลืองว่า เกิดจากตัวต่อ หรือมดชนิดไหน
รวมถึงทำให้สามารถแปลเสียงในระดับสีเขียว ที่ปัจจุบันสามารถแปลได้บางคำ เช่น “ดีใจจังนางพญามาแล้ว” “อาหารเยอะจังเลย” ให้มีความหมายที่มนุษย์สามารถเข้าใจมากขึ้น หรือชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการเลี้ยงผึ้งโพรง รวมถึงผึ้งชนิดอื่นๆ ต่อไป
“การที่ Smart Hive สามารถแก้ปัญหาผึ้งทิ้งรัง ให้กับผู้เลี้ยงหรือผู้ดูแลที่มีประสบการณ์เลี้ยงผึ้งมาไม่นาน จึงน่าจะเหมาะในการทำเป็นธุรกิจเพื่อบริการให้กับฟาร์มเลี้ยงผึ้งขนาดกลางหรือขนาดเล็กอย่างรีสอร์ท หรือคนที่เลี้ยงผึ้งเป็นงานอดิเรก โดยในส่วนของเราเองได้มีการนำติดตั้งไว้ที่ วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งและชันโรง ที่อำเภอบ้านคา และที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมแบบออนไลน์ให้กับผู้ที่สนใจจะเลี้ยงผึ้งให้มีความเข้าใจในพฤติกรรมและการแสดงออกของผึ้งในรังมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร. อรวรรณ กล่าว
ศูนย์วิจัยผึ้ง สร้างงาน สร้างอาชีพ
อนึ่ง ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Native Honeybee and Pollinator Center) หรือ Bee Park มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) (มจธ.ราชบุรี) ซึ่งก่อตั้งมากกว่า 10 ปี มีการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปต่อยอดขยายผลในเรื่องการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนด้วยการเลี้ยงผึ้งและชันโรงกระจายสู่ชาวบ้านในพื้นที่
การทำงานดังกล่าว ภายใต้ บีแซงโมเดล (Beesanc Model) ซึ่งมีแนวคิดในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
เป้าหมายหลักในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้การบริหารจัดการของภาคธุรกิจบวกกับความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมสังคมเป็นกลไกหลักในการกระบวนการผลิต พัฒนา สร้างน้ำผึ้งพื้นเมืองมูลค่าสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
นอกจาก เป็นชื่อแบรนด์แล้ว Beesanc ยังเป็นโมเดลการเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองไทย ที่เป็นการนำองค์ความรู้จากการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบคุณลักษณะน้ำผึ้งที่ตลาดต้องการ เช่น รส กลิ่น สี ปริมาณน้ำผึ้ง หรือชนิดน้ำหวานจากดอกไม้ที่ผึ้งเก็บมาโดยมีคุณสมบัติทางยาบางชนิด ซึ่งความพิเศษดังกล่าวนำไปสู่การสร้างอาชีพให้กับชุมชนและเป็นการปลูกฝังให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร หันมาใส่ใจธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
น้ำผึ้งที่เกษตรกรเครือข่ายนำมาขายกับศูนย์ฯ จะได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ผู้ซื้อจะทราบว่าใครเป็นผู้ผลิต ผลิตจากที่ไหน ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถไปซื้อกับเกษตรกรผู้ผลิตเองได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้แบรนด์ Beesanc หรือถ้าเกษตรกรต้องการทำแบรนด์ของตัวเอง มจธ. ก็มีอาจารย์และนักวิจัยเข้าไปช่วยดูช่วยพัฒนาแบรนด์ให้ด้วย
รศ.ดร.อรวรรณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน Beesanc มีการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ผู้สนใจในการเลี้ยงผึ้งและชันโรง โดยทางชุมชนได้ขยายเครือข่ายไปยังเด็กชายขอบและโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากกลุ่มเยาวชนในพื้นที่เหล่านี้ หลังจากจบการศึกษาระดับประถมไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ดังนั้นการมีอาชีพรองรับพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะทำให้เด็กและเยาวชนนอกระบบเหล่านี้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว รวมทั้งสามารถดูแลระบบนิเวศในพื้นที่บ้านเกิดของเขาต่อไป
“ตอนนี้ได้ขยายการเลี้ยงผึ้งและชันโรงไปยังเด็กชายขอบและเด็กนอกระบบ รวมทั้งมีการเพิ่มหลักสูตรเข้าไปในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อเป็นการปูพื้นฐานการเลี้ยงตั้งแต่ต้นจนกระทั่งเด็กจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อจบออกไปสามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมโครงการนี้สามารถนำน้ำผึ้งมาขายให้กับศูนย์ฯ ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ศูนย์ฯ กำหนด โดยเรามีการรับซื้อทั้งหมด เช่น เป็นน้ำผึ้งแท้จากธรรมชาติ มีการเก็บน้ำผึ้งที่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น ซึ่งราคาที่ได้จะเป็นไปตามกลไกของตลาด”
โมเดลการเลี้ยงผึ้ง Beesanc มีความหมายว่า “สวรรค์ของผึ้ง” มาจากการรวมกันของคำว่า Bee ที่แปลว่าผึ้ง และ Sanctuary ที่แปลว่าสวรรค์หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โมเดลนี้สนับสนุนให้เกิดการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นมิตรกับผึ้ง ทั้งในแง่ความปลอดภัยจากสารเคมี การปลูกพืชอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำผึ้ง และการปลูกพืชสมุนไพรชนิดพิเศษ ที่เพิ่มคุณค่าทางสุขภาพให้กับน้ำผึ้งที่ผลิตได้ ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ค่อยๆ อุดมสมบูรณ์ขึ้นทีละน้อย จนวันหนึ่งก็จะมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตพืชปลอดสารพิษ์พร้อมกับสามารถผลิตน้ำผึ้งให้รายได้เสริมให้ครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม
ศูนย์ฯ เครือข่ายทั่วประเทศ
อาจารย์ปรีชา รอดอิ่ม ห้องปฏิบัติการวิจัยผึ้งพื้นเมือง มจธ. ราชบุรี กล่าวเสริมว่า หากคนที่สนใจ ต้องการเรียนรู้ทางด้านการเลี้ยงผึ้งและชันโรง ปัจจุบัน มีศูนย์เครือข่ายที่เป็นวิทยากรต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดได้ทั่วประเทศ ได้แก่
- จ.ราชบุรี อำเภอบ้านคา และ อำเภอโพธาราม
- จ.กาฬสินธุ์ ตำบลฆ้องชัยพัฒนา
- จ.สมุทรสงคราม อำเภออัมพวา
- จ.น่าน อำเภอบ่อเกลือ
- จ.นราธิวาส โดยเจ้าหน้าที่ของ สวทช. ที่ทำงานในพื้นที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้
"ทั้งนี้ การลงทุนเลี้ยงผึ้ง ไม่ได้มองที่ตัวเงินเป็นที่ตั้ง องค์ความรู้ทุกอย่างพยายามปรับให้สามารถใช้วัสดุที่หาง่าย หากส่งเสริมแล้ว ชาวบ้าน หรือคนที่สนใจสามารถหาซื้อได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะสามารถพัฒนาได้ ตุ้นทุนการเลี้ยงผึ้งมิ้มอยู่ที่ 175 บาท ต่อหนึ่งรัง ขณะที่ผึ้งโพรง ซึ่งพันธุ์มาจากธรรมชาติ ต้นทุนที่เสียคือค่ากล่อง และหากต่อเอง คือ ไม่มีต้นทุน ขณะที่ชันโรง ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง หาตามธรรมชาติ ดังนั้น สายพันธุ์ฟรี ส่วนกล่องสามารถประกอบเอง หรือซื้อได้ในราคาราว 200-300 บาทต่อรัง" อาจารย์ปรีชา กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวิสาหกิจชุมชนฯ ได้รวบรวมน้ำผึ้งจากสมาชิกเพื่อส่งขายต่อให้กับศูนย์ฯ เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ Beesanc โดยน้ำผึ้งโพรงทางศูนย์ฯ รับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 500 - 600 บาท น้ำผึ้งชันโรงรับซื้อที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท