สธ. เผยผู้ป่วย "โควิด-19" กทม. - ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวผู้ติดเชื้อลดลง
สธ. เผยผู้ป่วย "โควิด-19" สัปดาห์นี้มีผู้ป่วย 2,900 ราย เฉลี่ย 414 รายต่อวัน ส่วนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตยังคงตัว กทม. ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวผู้ติดเชื้อลดลง ช่วงปีใหม่ประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติ ย้ำต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม
วันนี้ (27 ธันวาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์ กรณีโรค "โควิด-19" ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศ ในสัปดาห์ที่ 51 (18-24 ธันวาคม 2565) มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 2,900 ราย เฉลี่ย 414 รายต่อวัน แนวโน้มผู้ป่วยลดลงต่อเนื่องมา 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยปอดอักเสบมี 621 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 413 ราย และผู้เสียชีวิต 89 ราย เฉลี่ย 12 รายต่อวัน แนวโน้มยังคงตัว
ที่สำคัญคือผู้เสียชีวิตยังคงเป็นกลุ่ม 608 เกือบ 100% ปัจจัยหลักมาจากการไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนไม่ครบ ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นมานานเกิน 3 เดือน ทั้งนี้ สถานการณ์ภาพรวมพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ขณะที่จังหวัดรองมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อคงตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ที่จะมีกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมากนั้น ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ย้ำมาตรการ ได้แก่
1.การฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม โดยจะเพิ่มสถานที่ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว
2.การรักษาได้ทันเวลา โดยผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับมาแล้วเกิน 6 เดือน จะพิจารณาให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ในกลุ่มเสี่ยงก่อนมีอาการป่วย
3.ผู้ที่ไปสถานที่เสี่ยง กิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมากในช่วง 5 วัน ให้งดใกล้ชิดผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับนานเกิน 6 เดือน
4.กลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับมานานเกิน 6 เดือน ขอให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ดื่มสุราร่วมกับผู้อื่น หรือร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย
5.สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และขนส่งสาธารณะ
ทั้งนี้ จะมีการเฝ้าระวังโรคในสถานพยาบาลและสถานที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าปี 2566 จะพบการระบาดของโรคในลักษณะการระบาดตามฤดูกาลเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่
สำหรับยารักษาและเตียงรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ข้อมูลวันที่ 25 ธันวาคม 2565 มียาฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 1.53 ล้านเม็ด ยาโมลนูพิราเวียร์ 17.62 ล้านเม็ด ส่วนอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 12.2% โดยเตียงระดับ 3 อัตราการครองเตียงอยู่ที่ 40.5% ถือว่ายังมีเพียงพอรองรับสถานการณ์