“อิคิไก” ยิ่งสูงวัยยิ่งต้องมี | วิทยา ด่านธำรงกูล
อิคิไก (Ikigai) ในภาษาญี่ปุ่นมาจากอิคิที่แปลว่าชีวิต กับไกที่แปลว่าคุณค่าหรือความสำคัญ อิคิไกจึงหมายถึงคุณค่าของชีวิตหรือความสุขในชีวิต หรือจะพูดให้ง่ายกว่านั้นคือ “เหตุผลที่ทำให้คนเราตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้า” (ยูคาริ มิตซึฮาชิ, 2561)
หากคนเรารู้เหตุผลที่จะตื่นขึ้นมาทำอะไรต่ออะไร ย่อมทำให้ชีวิตมีเป้าหมาย มีความหวัง มีพลังที่จะขับเคลื่อนตัวเองต่อไป ไม่ว่าคนๆ นั้นจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม
สำหรับผู้สูงวัย อิคิไกยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเพราะจะทำให้ผู้สูงวัยกระชุ่มกระชวยและมีชีวิตชีวา ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของสังคมและคนรอบข้าง อยากจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แสวงหาความสัมพันธ์ใหม่ๆ เพื่อจรรโลงตัวเองและคนอื่นๆ
ดังนั้น อิคิไกจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนทุกวัยควรจะพยายามค้นหาให้พบ ค้นพบได้เร็วเท่าไรก็จะสร้างความสุขและคุณค่าให้ตัวเองได้มากเท่านั้น
อิคิไกไม่ใช่ว่าต้องเป็นเรื่องสลับซับซ้อนหรือยิ่งใหญ่ ยิ่งง่ายยิ่งดี อิคิไกอาจเป็นเรื่องความสงสัยใคร่รู้ คนที่มีอิคิไกเรื่องนี้พร้อมจะค้นคว้าขวนขวายหาความรู้ตลอดเวลา ยินดีที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่จากคนทั้งวัยเดียวกันและต่างวัย ลองคิดดูว่าหากเราตื่นขึ้นมาทุกวันเพื่ออิคิไกที่จะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จะทำให้ชีวิตมีพลังแค่ไหน
อิคิไกอาจจะเป็นเรื่องงานอดิเรก คนที่ตื่นมาเพื่อจะทำงานอดิเรกที่ตัวเองรัก ทำให้สามารถจดจ่อกับสิ่งนั้นได้นานๆ จนรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว
งานอดิเรกยังเป็นการขยายวงของความสัมพันธ์กับผู้คน ขยายไปสู่การทำมาหากินได้ด้วย แม้แต่อาหารก็เป็นอิคิไกได้เช่นกัน บางคนตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะทำของอร่อยๆ กินหรือไปตามลายแทงของอร่อย
ใครเคยดูรายการลุงอ้วนกินกะเที่ยวทางช่องยูทูบจะเห็นว่าการตื่นขึ้นมาเพื่อไปเที่ยวหาของกินเป็นอิคิไกที่ทำให้ลุงมีพลังในการนำเสนอ ดูแล้วรู้สึกอร่อยจากลีลาท่าทาง จนทำให้คนดูลืมความสูงอายุของลุงไปเลย จึงมีคนติดตามลุงกว่าแปดแสนคน
สำหรับบางคนงานอาสาสมัครคืออิคิไก ทำให้ได้ตื่นไปทำสิ่งดีๆ เจอเพื่อนฝูงผู้คนร่วมอุดมการและแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ กับคนอื่นๆ เคยเห็นชมรมผู้สูงอายุในโรงพยาบาลรัฐบางแห่งที่ผู้สูงอายุจะมาพบกันทุกเช้า
ออกกำลังกายและทานอาหารเช้าร่วมกัน จากนั้นก็แยกย้ายไปทำหน้าที่อาสาสมัครในโรงพยาบาล ผู้สูงอายุเหล่านี้ทำงานด้วยความยิ้มแย้ม เพลิดเพลิน และมีพลังกับการสร้างคุณค่าให้ตัวเองและคนอื่น
งานวิจัยชี้ว่าการมีอิคิไกส่งผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงวัย โรเบิร์ต วิสส์ (Robert S. Weiss, 2005) สำรวจบรรดาผู้สูงอายุในญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิกและได้ทำงานผ่านศูนย์ทรัพยากรมนุษย์ผู้สูงวัย (Silver Human Resource Center) (อ่านเรื่องนี้ได้จากบทความของผู้เขียนในกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 24 พ.ย. 2565)
พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้สูงวัยทั้งหญิงและชายจำนวน 393 คนในศูนย์ 21 แห่งมองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น รู้สึกว่าได้รับการนับถือจากเพื่อนและครอบครัวสูงขึ้น ชีวิตมีคุณค่า รู้สึกมีที่ยืนในโลกนี้ และมองเห็นอนาคต แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีความรู้สึกเบื่อและกังวลบ้างก็ตาม
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรมนุษย์สูงวัยในญี่ปุ่นว่าช่วยให้ผู้สูงวัยได้มี “อิคิไก” ที่ปลุกตัวเองขึ้นจากที่นอนทุกวันเพื่อไปสร้างคุณค่าให้ตัวเองผ่านการทำงาน ผลการวิจัยพบข้อปลีกย่อยว่าอิคิไกจากการทำงานผ่านศูนย์นี้มีผลสูงกว่าในกลุ่มผู้สูงวัยชายเมื่อเทียบกับผู้สูงวัยหญิง
ซึ่งสาเหตุที่อาจเป็นไปได้คือ ภายใต้วัฒนธรรมของญี่ปุ่น ชีวิตของผู้ชายคือการวนเวียนอยู่กับงานและเพื่อนร่วมงาน ความสำเร็จจากงานและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานคือสิ่งสำคัญสุดยอด
ดังนั้นการที่ยังได้ทำงาน สำหรับผู้สูงอายุชายคือการได้เรียกเอาชีวิต ความภูมิใจ และคุณค่าของตนเองกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ในขณะที่วงจรชีวิตของผู้หญิงจะอยู่กับครอบครัวและลูกเป็นส่วนใหญ่ ระดับความพึงพอใจยังต่ำกว่าในประเด็นที่รู้สึกว่าค่าตอบแทนน้อยเกินไป และงานที่จ้างไม่อาจสร้างความมั่นคงให้เพราะเป็นงานชั่วคราว ทั้งนี้ ธรรมชาติค่าแรงของผู้หญิงมักต่ำกว่าของผู้ชายในญี่ปุ่น ความพอใจจึงลดลงเนื่องจากเห็นว่างานที่ได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ
ไม่ว่าอย่างไร อิคิไกเป็นเครื่องมือสำคัญมากที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจของคนทุกวัยโดยเฉพาะผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกมีคุณค่าจากตัวเองและจากคนรอบข้าง การจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรผู้สูงอายุจึงควรเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อสร้างอิคิไกให้ผู้สูงอายุ
นอกเหนือไปจากกลไกอื่นๆ ที่รัฐบาลกำลังจะสร้างขึ้น เพื่อบริหารจัดการปัญหาผู้สูงวัยที่ทวีจำนวนมากขึ้นและจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่หากเตรียมการไม่ทันเวลา