เร่งแก้ "เด็กเกิดใหม่น้อย" ก่อนสังคมไทยเข้าสู่สังคมไร้บุตรหลาน
“เด็กเกิดใหม่น้อย” เป็นสถานการณ์ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมไทยในอนาคต โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่มีอัตราการเกิดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ มีเด็กเกิดใหม่ราว 5 แสนคน ลดลงมากกว่าครึ่ง
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทำให้เด็กเกิดใหม่ซึ่งต่อไปจะเข้าสู่วัยแรงงานต้องรับภาระในการดูแลมากขึ้น ข้อมูลจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าประชากรไทยจะเริ่มลดลงราวปี พ.ศ. 2566 2573 และ 2578 สำหรับสมมุติฐานการแปรผันสูง ปานกลาง และต่ำ
โดยในกรณีแปรผันสูงซึ่งภาวะเจริญพันธุ์อยู่ในระดับที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประชากรในประเทศไทยมีประมาณ 65.4 ล้านคนในปีพ.ศ. 2568 โดยจะลดลงต่อไปเป็นประมาณ 62 ล้านคนในปีพ.ศ. 2588 และเหลือเพียง 55.9 ล้านคนในปีพ.ศ. 2598 ซึ่งเป็นการลดลงเกือบ 10 ล้านคน
ด้วยสถานการณ์เด็กเกิดใหม่น้อย และประชาชนไทยจะลดลง “กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)” ได้แถลง “วิกฤตเด็กเกิดน้อย ผลกระทบต่อสังคมไทย” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวว่า กระทรวงพม.มีข้อกังวลถึงสถานการณ์เด็กเกิดน้อย ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤต และเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะไม่ได้ส่งผลเพียงสังคม หรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นประเด็นความท้าทายในสังคมทุกรูปแบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ส่องสภาพ "ครอบครัวไทย" ทำไม เด็กเกิดใหม่น้อย ?
ชำแหละผลกระทบ ‘วิกฤติเด็กไทยเกิดน้อย’ เขย่าสังคมไทย
อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง 35.7%
ทั้งนี้ อัตราเด็กเกิดใหม่ ปี 2556 พบว่า มีอัตราการเกิดใหม่ 780,000 คน แต่ในปี 2565 อัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 5 แสนคน และคาดว่าปี 2566 จะมีอัตราเด็กเกิดใหม่ 5 แสนกว่าคน ซึ่งจากข้อมูลชี้ชัดว่าอัตราการเกิดลดลงไปถึง 35.7% และเป็นอัตราการเกิดใหม่ต่ำมา 2 ปีแล้ว สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมอนามัยอัตราการเกิดต่ำกว่า 6 แสนคน ถือเป็นอัตราการเกิดที่วิกฤตในสังคม
นายอนุกูล กล่าวว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อย เป็นปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมา พม.พยายามขับเคลื่อนทั้งนโยบาย และโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน เช่น การขยายความครอบคลุมการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้ครอบคลุมทั้งหมด หรือโครงการเด็กมหัศจรรย์ 1,000 วัน ที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการดูแลเด็กแรกเกิดไปจนถึง 1,000 วัน เพื่อสร้างความปลอดภัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ทั้งเด็ก แม่ และครอบครัว เป็นต้น
"พม.พยายามสร้างคุณภาพชีวิตของกลุ่มเด็กเกิดใหม่ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาทองคำของเด็ก รวมถึงการลงทุนในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กเล็กร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน ทั้งสธ. กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ อย่าง การจัดตั้งยกระดับศูนย์เด็กเล็ก ก้าวแรกของการพัฒนาเด็กให้มีความพร้อม อีกทั้งเชื่อมโยงการดูแลสภาพแวดล้อม บรรยากาศของสังคม การดูแลคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว การดูแลตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เพราะทุกเรื่องล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก" นายอนุกูล กล่าว
ถึงเวลาที่สังคมต้องให้ความสำคัญในอัตราการเกิดที่เป็นวิกฤต และทุกภาคส่วนควรตระหนักร่วมกันในการดูแลคุณภาพชีวิตของเด็ก ดังนั้น ควรใช้สถานการณ์เด็กเกิดน้อย ทำงานร่วมกันสนับสนุนให้เด็กทุกคนที่เกิดมามีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะหากเด็กมีคุณภาพที่ดีย่อมส่งผลต่อการเข้าสู่วัยแรงงาน และวัยอื่นๆ มีคุณภาพที่ดีร่วมด้วย
ความท้าทายของสังคมไทย ก่อนสู่สังคมไร้บุตรหลาน
ปัญหาความท้าทาย อย่าง ครอบครัวแหว่งกลาง เด็กเกิดใหม่จะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จะอยู่กับปู่ย่าตายาย เป็นความท้าทายที่เราต้องสร้างระบบในการดูแลผู้ปกครองเด็ก ขณะที่ความท้าทายอีกมุมหนึ่ง คือ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุที่แม้ขณะนี้ได้รับความสนใจ แต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้บุตรหลาน”
จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานฃองประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง 2561 พบว่า โครงสร้างของครัวเรือนที่ “ไร้บุตรหลาน” มีสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยในปีพ.ศ. 2561 นั้นมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 37.4 ของครัวเรือนทั้งหมด (เพิ่มจากร้อยละ 26.1 ในปี 2549) ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโต ที่สูงถึงร้อยละ 43.3
โดยโครงสร้างของครัวเรือนที่ไร้บุตรหลาน ประกอบด้วยครอบครัว ครอบครัวที่สามีและภรรยาไม่มีบุตร และครอบครัวที่ผู้ชายหรือผู้หญิงอยู่คนเดียวและไม่มีบุตร ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ครอบครัวทั้ง 2 รูปแบบ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ครอบครัวที่ผู้ชายหรือผู้หญิงอยู่คนเดียวและไม่มีบุตร มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอย่างชัดเจน โดยสาเหตุหลักของการเกิดสังคมไร้บุตรหลานนั้นเกิดจากการที่สังคมไทยมีแนวโน้มการมีบุตรในจำนวนที่ลดลงเป็นอย่างมาก
เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เด็กเกิดใหม่ทุกคน
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สถานการณ์เด็กเกิดใหม่น้อย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากที่ทุกหน่วยงานต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพราะในทุกวันมีเด็กเกิดใหม่ และเด็กเกิดใหม่ทุกคนต้องมีคุณภาพ เติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องไม่ทิ้งไว้ข้างหลัง หากเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ไม่ได้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ สังคมประเทศชาติก็จะสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่ดีในการพัฒนาประเทศ
"ตอนนี้หากไม่มีการพัฒนาดูแลเด็กเกิดใหม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จะเท่ากับเสียต้นทุนในการพัฒนาประเทศ ต้องทำเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว และต้องดูแลเด็กเกิดใหม่ทุกคน ยิ่งในสังคมผู้สูงอายุ อัตราการพึ่งพิงสูงขึ้น เด็กที่จะโตไปวัยแรงงานไม่มีคุณภาพ ประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป รวมถึงกับดักรายได้ปานกลาง ต้องยอมรับว่าคนไทยยังมีคุณภาพไม่มากพอ ทำให้ประเทศขยับไปไหนไม่ได้ และทำให้ประเทศกำลังพัฒนา อย่าง เวียดนาม ซึ่งเขาได้มีนโยบาย แนวทางในการพัฒนาคนอย่างดีมาก มีการอุดหนุนเงินแรกเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้การเลี้ยงดูเด็กมีคุณภาพมากขึ้น แต่ไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น" ดร.สมชัย กล่าว
สำหรับ แนวทางในการแก้ไขปัญหา "เด็กเกิดใหม่น้อย" ดร.สมชัย แนะดังต่อไปนี้
ประเทศไทยต้องมีงบประมาณที่เพียงพอในการดูแลเด็กเกิดใหม่ทุกคน
- ควรมีการขยายเงินอุดหนุนเด็กเกิดใหม่ตั้งแต่ในครรภ์ของแม่ เพราะให้เงินอุดหนุนบุตรในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ เนื่องจากแม่หลายคนไม่มีงานทำ ไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงดูลูกให้ได้
- ควรมีการขยายความคุ้มครองในการดูแลเด็ก แม่ และครอบครัว
- ภาครัฐ หรือสังคมโดยรวม ต้องหางบประมาณ หรือทรัพยากรในการดูแลเด็กอย่างเต็มที่
- การแก้ปัญหา เด็กเกิดใหม่น้อย ต้องร่วมมือกัน หลายภาคส่วนต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน
ส่วนกรณีการจะทำให้คนรวยมีลูกได้อย่างไรนั้น เรื่องนี้เป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จบ้าง โดยหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ ต้องเพิ่มวันลาเลี้ยงลูกให้แก่พ่อในระยะยาว 1-2 ปี เพราะบางครอบครัวแม่อาจจะมีรายได้มากกว่าพ่อ เขาก็จะคิดมากว่าจะลางานเลี้ยงลูกหรือไม่ แต่หากพ่อลางานเลี้ยงลูกได้ ก็จะช่วยให้แม่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
"เด็กเกิดใหม่มีปัญหาสุขภาพจำนวนมาก และแม้จะไม่ถึงขั้นพิการแต่จะพบปัญหาเรื่องพัฒนาการ อีกทั้ง เด็กมักจะเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่พร้อม หรือไม่มีงานทำ ขณะที่กลุ่มคนที่มีฐานะทางการเงินที่ดีมักจะไม่อยากมีลูก รวมทั้งสังคมไทยมีปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง ดังนั้น การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ต้องทำอย่างรอบด้าน ควรมีการเพิ่มเติมทักษะให้แก่ปู่ย่าตายายในการเลี้ยงหลาน ให้ปู่ย่าตายายมีทักษะดิจิทัล ทักษะใหม่ๆ ที่ทำให้เข้าใจลูกหลาน โลกที่เปลี่ยนไปมากขึ้น ภาครัฐต้องเข้าใจช่วยเพิ่มทักษะให้พ่อแม่ ต้องเข้าไปเช็กคุณภาพของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพื่อลดอัตราการเกิดเด็กที่ไม่สมบูรณ์"ดร.สมชัย กล่าว