ทำอย่างไร? ไม่ให้นักศึกษาไทย "เครียด-ซึมเศร้า" ก่อนคิดฆ่าตัวตาย

ทำอย่างไร? ไม่ให้นักศึกษาไทย "เครียด-ซึมเศร้า" ก่อนคิดฆ่าตัวตาย

"ภาวะเครียดและซึมเศร้า" เป็นปัญหาเร่งด่วนอันดับหนึ่งของนักศึกษาไทย  แนะผู้เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขหาทางออก วางแผนเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบก่อนเยาวชนไทยจะฆ่าตัวตาย

ผลสำรวจ “โครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย” ซึ่งดำเนินงานโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเครือข่ายผู้แทนจากมหาวิทยาลัย 15 แห่ง ในเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสุขภาวะในประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

พบสถิติพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในหลายประเด็นที่น่าวิตกกังวลและควรเร่งดำเนินการเพื่อหาแนวทางลดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะด้านสภาวะสุขภาพทางจิต

  • หลังพบนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยมีความเครียดสะสมเพิ่มมากขึ้น
  • รวมถึงมีความคิดอยากฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 4 

โดยผลสำรวจได้ระบุถึงประเด็นสุขภาพจิตว่านิสิตนักศึกษา

  • ร้อยละ 30 รู้สึกเศร้าบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา
  • ร้อยละ 4.3 ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar)
  • เกือบร้อยละ 40 มีความเครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา
  • กว่าร้อยละ 4 ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมด เคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา
  • ร้อยละ 12 ได้เคยลงมือทำร้ายร่างกายตนเองแล้ว
  • ร้อยละ 1.3 ที่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กสุขภาพจิต สุขภาพใจ "เด็ก LGBTQ " ลดซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย

สลด! นักเรียนหญิง รร.ดังโคราช ป่วยซึมเศร้าโดดตึกอาคารเรียนดับ

รับมือ "ความเครียด" ด้วยวิธีง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้

เช็คอารมณ์เด็ก ป้องกัน 'โรคซึมเศร้า' ในโรงเรียน

 

Health Promotion ให้คำปรึกษาช่วยนักศึกษาจัดการความเครียด

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า การเผยผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในวงกว้างครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ระดับผู้บริหารสถาบันการศึกษาได้รับรู้และเริ่มดำเนินการวางแผนจัดการภายในมหาวิทยาลัย

รวมถึงขอความร่วมมือจากครูอาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับให้นิสิตนักศึกษามีสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ และเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีศักยภาพพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ 

ทำอย่างไร? ไม่ให้นักศึกษาไทย \"เครียด-ซึมเศร้า\" ก่อนคิดฆ่าตัวตาย

โดยทุกปัญหาที่สะท้อนออกมาจากผลสำรวจล้วนสำคัญ แต่ปัญหาที่เร่งด่วนอันดับต้นๆ ก็คือ เรื่องความเครียดและภาวะโรคซึมเศร้าของนักศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรสำรวจต่อในเชิงรุก เพื่อจะรับรู้ถึงสาเหตุและระดับของปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขได้อย่างถูกต้องและตรงจุด เพราะการป่วยทางสภาพจิตใจย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังปัญหาอื่นๆ

หากนักศึกษาเกิดความเครียดจากการเรียน ทางมหาวิทยาลัยเองก็บริหารจัดการ อาทิ หากิจกรรมที่ผ่อนคลาย หรือจัด Health Promotion เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อให้นักศึกษาจัดการกับความเครียดของตัวเอง แต่หากอยู่ในขั้นที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็จำเป็นต้องมีระบบการส่งต่อที่ดีไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย เพื่อการดูแลในขั้นตอนต่อไป เป็นต้น

 

3 กลุ่มช่วยเหลือนิสิตนักศึกษาไทยลดปัญหาสุขภาพจิต

ปัญหารองลงมา คือด้านการเงิน เนื่องจากการที่รับรู้ว่าครอบครัวมีภาระหนี้สิน หรือแม้แต่ตัวนักศึกษาเองหากติดพนันออนไลน์ หรือมีหนี้นอกระบบ ก็ย่อมส่งผลให้เกิดความเครียดตามมา ซึ่งก็ควรมีแนวทางบริหารจัดการทางการเงิน

อีกปัญหาสำคัญอีกประการ คือ เหล้า บุหรี่ และยาเสพติดอื่นๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่เวลามีความเครียดสะสมมากๆ ก็อาจหลงผิดไปพึ่งพาสิ่งเสพติดเหล่านี้ ซึ่งต้องคำนึงถึงสถานที่ตั้งของสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ควรให้ห่างจากสถาบันการศึกษา ซึ่งในเชิงนโยบายควรมีตัวบทกฎหมายควบคุมอย่างชัดเจนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ทุกปัญหาควรได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกัน โดยกลุ่มแรกที่ควรให้ความร่วมมือ ได้แก่

1. ผู้บริหารสูงสุดและผู้บริหารระดับรองๆ ลงมาของสถาบันการศึกษา เพราะจะเป็นผู้ที่สามารถบริหารได้ทั้งสถาบัน สามารถคิดและวางกลไกในการดูแลนิสิตนักศึกษาได้ และจะต้องทำงานกันเป็นทีม

2. พ่อแม่และผู้ปกครอง เพราะครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยดูแลนิสิตนักศึกษาได้อย่างใกล้ชิด

3. กลุ่มเพื่อน เพราะด้วยช่วงวัยนี้จะติดเพื่อน เชื่อเพื่อน ซึ่งเพื่อนเองก็ต้องคอยสังเกตเพื่อนด้วยกัน คอยดูแลใส่ใจกัน ซึ่งจากหลายผลวิจัยจะเห็นว่าโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

ทำอย่างไร? ไม่ให้นักศึกษาไทย \"เครียด-ซึมเศร้า\" ก่อนคิดฆ่าตัวตาย

ขณะเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยเองก็ต้องให้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน หรือควรมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในส่วนต่างๆ เช่น การวิเคราะห์พฤติกรรมของนิสิตนักศึกษา เป็นต้น 

อีกทั้ง กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถือเป็นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง สามารถดำเนินการเพื่อลดปัญหาสุขภาวะดังกล่าวได้ เนื่องจาก อว. มีอำนาจในการสั่งการและวางนโยบายต่างๆ อาทิ ให้ทุกมหาวิทยาลัยมีการดูแลสุขภาพทั้งในส่วนของนักศึกษาและบุคลากร

นอกจากนี้ โรงพยาบาลและสถานพยาบาลในมหาวิทยาลัย หรือศูนย์พยาบาลสำหรับนิสิตนักศึกษาก็สามารถช่วยเหลือได้ โดยสามารถยกระดับในการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการออกแบบแคมเปญการดูแลสุขภาพในเชิงรุก หรือเป็น Health Leader ยกตัวอย่างอาจปรับสถานพยาบาลให้เป็น Wellness Center คือไม่รอให้คนป่วยเดินเข้าไปหา แต่ต้องทำในเชิงป้องกันมากขึ้น เช่น จัดเวิร์กช้อปให้ความรู้ด้านสุขภาพ, เชิญชวนนักศึกษาและบุคลากรออกกำลังกาย, ให้ความรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยี เป็นต้น  

นศ.ลาดกระบัง เครียดสูงถึงร้อยละ 60 คิดฆ่าตัวตายร้อยละ 5

สำหรับด้านของมหาวิทยาลัยต่างก็มีความตื่นตัวถึงปัญหาต่างๆ มากขึ้น และได้มีการประชุมวางแผนเพื่อดำเนินการในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลพวงที่ต่อยอดจากผลสำรวจครั้งนี้ ทั้งในส่วนของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (มรภ. นครปฐม) โดยทั้งสองสถาบันอยู่ใน 15 มหาวิทยาลัยที่ได้ทำการสำรวจ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยยังต้องมีการประเมินและวัดผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ทราบว่ามาตรการที่กำหนดนั้น มาถูกทางแล้ว หรือจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

รศ.ดร. ญาณีพร พัชรวรโชติ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ทางสจล. มองว่าเรื่องสุขภาพจิตของนักศึกษา เป็นสิงที่น่ากังวลมากที่สุดและควรจะต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากผลสำรวจของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ พบว่านักศึกษา สจล. มีความเครียดสูงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 และมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย สูงถึงร้อยละ 5 โดยที่ผ่านมา สจล. ได้มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพจิตของนักศึกษาอยู่แล้ว แต่พอได้เห็นผลสำรวจฯ ยิ่งตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น และมีการวางแผนที่จะทำโครงการช่วยเหลือนักศึกษาและบุคลากรในด้านสุขภาพจิตให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทำอย่างไร? ไม่ให้นักศึกษาไทย \"เครียด-ซึมเศร้า\" ก่อนคิดฆ่าตัวตาย

เปิดบริการปรึกษาสุขภาพจิต KMITL MIND ROOM

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายกิจการนักศึกษาจะมีบริการให้คำปรึกษาทางด้านสุขภาพจิต ผ่านโครงการ KMITL MIND ROOM โดยมีนักจิตบำบัดคอยให้คำปรึกษาทั้งรูปแบบ onsite และ online สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งในทุกเดือนจะมีการประชาสัมพันธ์ทั้งช่องทาง Facebook และกระจายตามกลุ่ม LINE ของนักศึกษา สำหรับกรณีที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ก็จะมีการทำใบนัดส่งต่อไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น

โดยที่ผ่านมา โครงการช่วยเหลือนักศึกษาในด้านสุขภาพจิต ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ช่วงวันเวลาที่ให้บริการน้อย โดยเฉลี่ยต่อหนึ่งชั่วโมงนักจิตบำบัดจะให้คำปรึกษาได้เฉลี่ย 2 คน อีกทั้งจำนวนผู้เชี่ยวชาญกับสัดส่วนของนักศึกษาไม่สมดุลกัน รวมถึงงบจัดสรรสำหรับการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาไม่เหมาะสม จึงทำให้ทุกวันนี้ ขาดแคลนนักจิตบำบัด จึงอยากหาแนวทางร่วมกันเพื่อสานต่อโครงการ KMITL MIND ROOM และให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสานต่อการจัดฝึกอบรมภาคปฎิบัติการเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพจิตให้กับเจ้าหน้าที่บุคลากรที่ต้องทำงานร่วมกับนักศึกษาว่ากรณีที่มีนักศึกษาเข้ามาปรึกษาควรจะดำเนินการอย่างไร แต่อาจต้องปรับกรอบการทำงานให้ชัดเจนและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

ทำอย่างไร? ไม่ให้นักศึกษาไทย \"เครียด-ซึมเศร้า\" ก่อนคิดฆ่าตัวตาย

มรภ.นครปฐม เร่งดูแลสุขภาวะทั้งกาย-ใจ 

ปิดท้ายด้วย ดร. วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มองปัญหาสุขภาพออกเป็น 2 มิติ คือ สุขภาพกาย และสุขภาพใจ โดยสุขภาพกายนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันภาวะอ้วนในวัยนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น

มรภ. นครปฐม มีแผนจะดำเนินการออกมาตรการในการดูแลสุขภาวะทางร่างกาย เช่น ดูแลเรื่องอาหารที่จำหน่ายในมหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยจะมีประชุมผู้ประกอบการลดการใช้สารปรุงรส เลือกใช้ผักปลอดสาร และคำนึงถึงสารอาหารที่มีประโยชน์

นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีของนักศึกษา โดยจะมีมาตรการสนับสนุนเรื่องการออกกำลังกายในมหาวิทยาลัย เช่น เพิ่มอุปกรณ์การกีฬาและนักศึกษาเบิกมาเล่นได้ เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกายให้มากขึ้น เช่น โยคะ หรือลานสเก็ตบอร์ด รวมถึงอนุญาตให้นักศึกษาเข้ามาใช้สถานที่ออกกำลังกายนอกเวลาเรียน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักศึกษาเป็นสำคัญ

ทำอย่างไร? ไม่ให้นักศึกษาไทย \"เครียด-ซึมเศร้า\" ก่อนคิดฆ่าตัวตาย

สำหรับสุขภาพของจิตใจนั้น มองว่าภาวะเครียดและโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเกิดได้จากปัญหาแวดล้อมต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน การเรียน ครอบครัว และอื่นๆ โดยในส่วนนี้ได้เตรียมมาตรการให้อาจารย์ที่ปรึกษา เข้ามาช่วยดูแลนักศึกษาให้ใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งจะจัดทำแบบฟอร์มคู่มือเพื่อเป็นแนวทางในการปฎิบัติ รวมถึงจะมีการบริหารจัดการเวลาเรียนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ขยายเวลาลงซัมเมอร์ หรือเปิดบางวิชาในช่วงซัมเมอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ในฐานะครูอาจารย์ทุกคนต่างก็อยากเห็นลูกศิษย์อยู่ในมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุข มีงานทำ และมีอนาคตที่ดี

ทั้งนี้ อยากวิงวอนให้ อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและร่วมหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ และกำหนดในเชิงนโยบาย รวมถึงอยากให้สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และ สสส. ได้ทำผลสำรวจในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อได้ทราบถึงสาเหตุและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด