ภัยรหัสแดง! กทม. อาจจมน้ำถาวร? มีโอกาสเจอ "น้ำท่วม" ใหญ่เพิ่มขึ้น 30%
เปิดลิสต์รหัสแดง "ภัยพิบัติ" ที่ไทยจะได้รับผลกระทบในอนาคต อีกทั้งหากย้อนดูภัยต่างๆ ในปี 2565 พบว่า ไทยเจอทั้ง "น้ำท่วม" ภัยแล้ง ไฟป่า เป็นเหตุให้สูญเสียทางเศรษฐกิจไปกว่า 1.2 - 2 หมื่นล้านบาท!
ไม่นานมานี้ มีรายงานข้อมูลจาก “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” ระบุว่า ภาพรวมภัยพิบัติต่างๆ ในโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะภัยจาก “น้ำท่วมปี 2565” ทำเศรษฐกิจทั่วโลกสูญเสียเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือในปี 2595
ยิ่งไปกว่านั้น World Economic Forum Global Risk ได้คาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่
- อันดับ 1 : ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure)
- อันดับ 2 : สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (Extreme weather)
- อันดับ 3 : การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ขณะที่หากเจาะจงลงมาเฉพาะ “ประเทศไทย” พบว่า มีสัดส่วนประชากรเสี่ยงประสบภัยพิบัติถึง 34% โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ประเมินความเสียหายจากภัยพิบัติ พบว่าภาพรวมทางมีความเสียหายเศรษฐกิจและธุรกิจสูงถึง 1.2 - 2 หมื่นล้านบาท
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ชี้ ไทยสูญเสียเม็ดเงินจำนวนมากจากภัยพิบัติ
หากมองย้อนไปดูข้อมูลในปี 2022 จะพบว่า ประเทศไทยต้องประสบกับภัยพิบัติจากธรรมชาตินับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงมาก โดยเรื่องนี้ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” เล่าว่า
ในปี 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้ประเมินความเสียหายภาพรวมทางเศรษฐกิจและธุรกิจจากการเกิดภัยพิบัติต่างๆ พบว่าไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้นสูงถึง 1.2 - 2 หมื่นล้านบาท หากนำเงินจำนวนนี้มาพัฒนาประเทศ จะสามารถพัฒนาได้อีกไกล เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักว่า ต้องเข้าใจและรับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าเพื่อป้องกันภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลจาก UN ระบุว่า หากไม่ทำอะไรเลย ในปี 2030 ทั้งโลกจะมีสถานการณ์อากาศสุดขั้ว หรือ ภัยพิบัติ 500 กว่าครั้งต่อปี และการคาดการณ์การสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจทั่วโลกกว่า 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ใน 30 ปีข้างหน้า สิ่งนี้ทำให้เราต้องตื่นตัวและดูว่าปัจจุบัน มีสามารถทำความเข้าใจและป้องกันอย่างไร
- เปิดลิสต์ “รหัสแดง” 5 ข้อภัยพิบัติที่ไทยต้องเจอ!
นอกจากนี้เมื่อปีที่ผ่านมา แอนโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวถึง ภัยพิบัติระดับ “รหัสแดง” ที่จะเกิดขึ้นต่อมวลมนุษยชาติ (Code Red for Humanity) ไว้ว่าในอนาคตคาดว่าจะเกิดภัยธรรมชาติ 5 เรื่องหลัก ที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ ได้แก่
1. จากนี้ต่อไปอุณหภูมิมีแต่จะสูงขึ้น คลื่นความร้อนจะตามมา
2. เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น น้ำระเหย ฤดูแล้งไม่มีน้ำเพราะระเหยไปหมด ภัยแล้งจะตามมา
3. น้ำที่ระเหย อาจจะมองว่าหายไป แต่ความจริงอยู่ด้านบน อยู่ในรูปของไอ ฤดูฝนเมื่อเจอความเย็นจะตกมาเป็นฝนและตกหนัก
4. หากมีความเปราะบางในพื้นที่ น้ำจะท่วม
5. เมื่ออุณหภูมิสูง น้ำทะเลก็จะร้อนขึ้น เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น กทม. อยู่ในระดับเรี่ยกับน้ำทะเล ก็จะเสี่ยงเจอน้ำท่วมมากขึ้นตามไปด้วย
ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ จากฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวว่า หากเราไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต เราจะเจอกับปัญหาน้ำท่วม ฝนตกและทำให้น้ำหลากเข้าเมือง รอการระบาย และน้ำทะเลหนุนสูง เราหนีไม่พ้นน้ำรอการระบายเพราะเราอยู่ที่ต่ำ
โดยมีแนวโน้มว่ากรุงเทพฯ จะประสบภัยน้ำท่วมถี่ขึ้นและความรุนแรงมากขึ้น จากปัจจัยเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ทำกิน
- หากไม่เตรียมตั้งรับและป้องกัน กรุงเทพฯ จะจมน้ำถาวร!
มีการประเมินปริมาณฝนที่ตกหนัก 1 วัน บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ ในอนาคตว่า มีโอกาสที่ฝนจะเพิ่มขึ้น 20-30% ปริมาณฝน 100 ปี จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 200 มม./วัน เป็น 250 มม./วัน พร้อมกับจำนวนวันที่ฝนตกหนัก มีโอกาสเพิ่มขึ้น 60-80% ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมรอการระบายจึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ปริมาณฝนตกสะสม 6 เดือน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยามีโอกาสเพิ่มขึ้น 20 - 30% เช่นกัน กล่าวคือ ฝน 100 ปีปัจจุบัน จะกลายเป็นฝน 10 ปีในอนาคต ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นปี 2554 จึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปีในอนาคต
รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งก็อาจประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน โดยมีการประเมินจากคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) พบว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นที่ “สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า” บริเวณปากแม่น้ำประมาณ 0.39 ม. ในปี 2573 , 0.73 ม. ในปี 2593 และ 1.68 ม. ในปี 2643 ตามลำดับ จากการประเมินทั้งหมดนี้จะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล "จมน้ำอย่างถาวร" หากไม่มีมาตรการรับมือ
- วิธีรับมือ "น้ำท่วม" ในอนาคตต้องใช้เทคโนโลยี GIS
สำหรับวิธีการรับมือปัญหา "น้ำท่วม" ที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องพบบ่อยขึ้นในอนาคตนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม โดยหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่เข้ามาร่วมงานคือ "Urban Hazard Studio" ที่ใช้ความสามารถจากเทคโนโลยี GIS หรือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาช่วยสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ แล้วนำมาวิเคราะห์ วิจัย ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างมากในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น รวมถึง Climate Change ด้านอื่นๆ ที่ทำให้สามารถตรวจวัด วิเคราะห์ และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก
โดยสามารถช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในมุมของ Climate Crisis ต่างๆ ใน 3 เรื่องหลัก คือ
1. ช่วยประเมินผลกระทบในรูปแบบแผนที่
2. ช่วยวิเคราะห์เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงหรือจุดเสี่ยงในอนาคต
3. ช่วยหาโซลูชันที่เป็นแนวทางสู่การบริหารจัดการกับภัยจากธรรมชาติด้วยความเข้าใจ ในเรื่องของการประเมินผลกระทบผ่านการสื่อสารด้วยภาพ ทำให้เห็นรูปแบบหรือเหตุที่เกิดชัดเจนขึ้น
อีกทั้งยังสามารถใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสามารถของการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้มากขึ้น เห็นเหตุการณ์ในสถานการณ์ต่างๆ บนสภาพจริงแบบเรียลไทม์ สามารถรู้จุดเกิดเหตุภัยต่างๆ รวมถึงคาดการณ์อนาคต ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งคน สัตว์ และพืช สามารถประเมินความเสียหาย รวมถึงความเสี่ยงในเชิงพื้นที่ หรือใช้ GIS Tool วิเคราะห์มูลค่าความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี GIS ไม่ใช่เพียงแค่การทำแผนที่ แต่จะเป็นเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้าน Climate Change ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ภาคส่วน ได้เป็นอย่างดี