ทำได้ 'ไม่เสียค่าไฟรายเดือน พลังงานสะอาด ยั่งยืน' คีรีวง-มจธ.จัดให้จริง
ผลลัพธ์จากที่ชาวบ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ร่วมวิจัยพัฒนากับมจธ. ไม่เพียงมีไฟฟ้าใช้ที่ขนำในสวนบนภูเขา แต่ยังช่วย“ประหยัดรายจ่าย” ที่สำคัญได้“พลังงานสะอาด” สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ภายใต้การใช้ “กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก บ้านคีรีวง”
Keypoints
- สวนสมรมบนภูเขา ของชาวบ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช สายส่งไฟฟ้าขึ้นไปไม่ถึง ต้องอยู่กับความมืดหรือใช้เครื่องปั่นไฟ ต้องเสียค่าน้ำมันที่ค่อนข้างสูง ส่วนโซลาร์เซลล์ไม่ตอบโจทย์ เพราะมีที่โล่งแจ้งจำกัดและผลิดได้เฉพาะกลางวันที่มีแสงอาทิตย์
- “กังหันน้ำขนาดเล็กผลิตไฟฟ้า” พัฒนาโดยคนไทย 100 % เป็นแหล่งพลังงานสะอาดจากน้ำ ที่มจธ.นำวิชาการเข้ามาวิจัย ช่วยชาวบ้านให้มีไฟฟ้าใช้ที่ขนำในสวนบนภูเขาสูง ภายใต้การคำนึงถึงบริบทชุมชน และใช้เทคโนโลยีในประเทศภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมทั่วถึง (Inclusive Innovation)”
- แผนแม่บทส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็ก ต่อยอดการใช้งาน ไปสู่ชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชทั้งหมด ที่ครอบคลุม 40 อำเภอ ของ 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา
ไม่ต้องเสียค่าไฟรายเดือน
“ขนำมีไฟฟ้าใช้ ไม่ต้องเสียค่าไฟรายเดือน ส่วนที่บ้านเสียบตู้เย็นไว้ ลงไปบางครั้งเพื่อซักผ้า ค่าไฟก็ไม่ขึ้น กลายเป็นที่บ้านก็แทบไม่ต้องเสียค่าไฟไปด้วย จากเดิมที่จ่าย200-300 บาทต่อเดือน” ชูศรี ศรีระบาย ชาวสวนคีรีวงบอกด้วยความตื่นเต้นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังได้ใช้กังหันน้ำผลิตไฟฟ้า
ก่อนเล่าย้อนให้ฟังว่า เดิมทีต้องขึ้นๆลงๆสวนบนภูเขากับบ้านข้างล่าง ไม่ได้อยู่บนขนำ เพราะมันมืด ไม่สะดวก ไม่มีไฟฟ้าใช้ ถ้าจะใช้ก็ต้องมีเครื่องปั่นไฟ เสียค่าน้ำมันเดือนละหลายบาท กระทั่ง มีโครงการกังหันของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) จึงตัดสินใจเข้าร่วมตั้งแต่รุ่นแรกแบบไม่ลังเล
“เคยอยากติดโซลาร์เซลล์ เพราะไม่รู้ว่าสามารถใช้น้ำได้ เมื่อมจธ.เข้ามาทำให้รู้ว่าผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ จากท่อน้ำที่เราต่อมาใช้รดต้นไม้ในส่วนอยู่แล้วได้”ชูศรีกล่าว
ติดตั้งมาแล้ว 5 ปี กังหันตัวแรกเป็นแบบ 300 วัตต์ กำลังไฟใช้ได้ทั้งดวงไฟให้แสงสว่างและดูโทรทัศน์ เมื่อมีรุ่นใหม่ที่ใหญ่ขึ้น ให้ไฟฟ้ามากขึ้นก็ติดตั้งเพิ่มเติม โดยกลางวันใช้กังหันตัวเล็ก กลางคืนจึงใช้ตัวใหญ่ เพราะต้องใช้ไฟพร้อมกันหลายส่วนทั้งเปิดไฟให้แสง ดูโทรทัศน์
ตั้งแต่มีกังหันผลิตไฟก็มาอยู่ที่ขนำตลอด 24 ชั่วโมง ตอนนี้อยู่ขนำดีกว่าอยู่บ้าน แทบไม่ได้ลงไปที่บ้าน เพราะสามารถใช้ไฟฟ้าได้ใกล้เคียงกับที่บ้าน อากาศก็ดีกว่า
"เมื่อมีไฟ ทำสวนก็สะดวกสบายกว่าไม่ต้องขึ้นๆลงๆ ทำให้มีเวลาเข้าสวนได้ตลอด และยังสามารถใช้ไฟล่อแมลงไม่ให้ไปกินผลไม้ด้วย” ชูศรีกล่าว
พลังงานสะอาด ชุมชนยั่งยืน
วิรัตน์ ตรีโชติ เลขานุการวิสาหกิจชุมชนกังหันน้ำคีรีวง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีการติดตั้งกังหันไปแล้ว 160 ชุด และมีชาวบ้านจองไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 100 ชุดและในปี 2566 จะมีการเปิดให้จองเพิ่มเติม เพราะไม่เพียงช่วยให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้เมื่อไปอยู่ที่สวนเท่านั้น
แต่เห็นว่าการใช้เครื่องปั่นไฟมีต้นทุนค่าน้ำมันที่แพง ส่วนกังหันน้ำเป็นต้นทุนตัวหนึ่งที่ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งผู้ผลิตต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าตัดหญ้า ค่าปุ๋ย ค่าเครื่องฉีดพ่น เป็นต้น เมื่อต้นทุนต่ำก็สู้ราคาขายทุเรียน มังคุด หรือผลไม้อื่นๆในตลาดได้
ในส่วนของต้นทุนสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เสียงก็ไม่กระทบ เมื่อไม่ได้ใช้น้ำมัน เขม่าจากการเผาไหม้ก็ไม่มี ไม่กระทบต่ออากาศ ช่วยลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ไม่กระทบโลกร้อน ถ้าคิดมูลค่าเหล่านี้ออกมาด้วย ก็ไม่ใช่แค่ค่ากังหันอย่างเดียว หรือลดเรื่องค่าใช้ไฟฟ้าเท่านั้น
"การใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำ ที่เป็นพลังงานสะอาด เพิ่มมูลค่าเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อมหาศาล เป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กในชุมชน ไปสู่การปกป้องระดับโลกได้” วิรัตน์กล่าว
และมองไปในอนาคต หากชาวบ้านสามารถใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำไม่เฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน แต่นำใช้มาหมุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้าที่เป็นแบตเตอรี่ รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้สามารถคิดค้นใหม่ๆ ออกมาได้ทั้งนั้น ขอให้มีพลังงานน้ำ ลม แสงอาทิตย์ไว้เป็นทุนตั้งต้น แล้วประยุกต์ให้เหมาะสมตามความต้องการของชาวบ้าน โดยภาควิชาการเข้ามาช่วยวิจัยต่อยอด ชุมชนก็จะมีความสมบูรณ์ครบวงจรในการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน
วิจัยจากโจทย์ชาวบ้าน-บริบทชุมชน
เส้นทางกว่าที่ชาวบ้านจะมีไฟฟ้าใช้ ผศ.ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บอกว่า ไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานทดแทนที่ถูกบรรจุอยู่ภายใต้ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 (AEDP2015) แต่ส่วนใหญ่เน้นที่เทคโนโลยีกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบสายส่ง
ทั้งที่เทคโนโลยีกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก มีราคาต่อหน่วยพลังงานต่ำสุดในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 1.5-12 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นเทคโนโลยีนำเข้า ที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงถึงกิโลวัตต์ละ 100,000 บาท เพราะยังไม่มีบริษัทของไทยที่สามารถผลิตกังหันน้ำขนาดเล็กได้ แม้เป็นเทคโนโลยีที่จะก่อประโยชน์กับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลจากสายส่งอย่างมาก
ขณะที่ชุมชนคีรีวง ประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งที่มีระบบท่อที่เกษตรกรแต่ละรายติดตั้งใช้งานในพื้นที่สวน เพื่อนำน้ำจากยอดเขาเข้าสู่แปลงผลไม้และพืชสวนต่าง ๆ หากนำมาผ่านเครื่องกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ก่อนปล่อยสู่แปลงปลูก ก็จะทำให้มีกระแสไฟฟ้าที่นำไปใช้ประโยชน์ได้
ปี2548 มจธ.รับโจทย์จากชาวบ้านและ เข้าไปวิจัย พัฒนา ติดตั้ง และทดลองใช้กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ใช้ระยะเวลา 4 ปี ในการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นคีรีวง รวมถึงการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากประสิทธิภาพสูง โดยใช้เทคโนโลยีในประเทศภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมทั่วถึง (Inclusive Innovation)” ที่เป็นการพัฒนาโดยคนไทย 100 % จนมีการติดตั้ง “กังหันน้ำคีรีวง” ที่มีกำลังผลิต 1 กิโลวัตต์ เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2552
จุดเด่นกังหันน้ำขนาดเล็กคีรีวง
จุดเด่นสำคัญของกังหันน้ำคีรีวง
- มีขนาดเล็ก มีความทนทาน
- ใช้งานดูแลรักษาง่าย
- ติดตั้งได้ที่ขนำ หรือบ้าน
- มีค่าประสิทธิภาพการเปลี่ยนพลังงานน้ำเป็นไฟฟ้าค่อนข้างสูง
- เมื่อคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์แล้วพบว่ากังหันน้ำคีรีวงขนาด 1 กิโลวัตต์ ที่มีต้นทุนการติดตั้งและบำรุงรักษาตลอด 20 ปี ไม่เกิน 40,000 บาท
- จะใช้เวลาคุ้มทุนในเวลาไม่ถึง 2 ปี เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องปั่นไฟซึ่งตลอด 20 ปี จะมีค่าน้ำมันหลายแสนบาท
“ถึงปัจจุบันมีการติดตั้งและใช้งานกังหันน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ของชุมชนคีรีวงและชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชแล้วกว่า 160 ชุด โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันกว่า 110 กิโลวัตต์”ผศ.ดร.อุสาห์กล่าว
จากความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการพัฒนาและสร้าง “กังหันน้ำคีรีวง” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มจธ.นำไปพัฒนาต่อยอดในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการทางพัฒนากังหันน้ำที่ผลิตไฟฟ้าขนาดต่าง ๆ ทั้งขนาด 300 วัตต์ 1 กิโลวัตต์ 3 กิโลวัตต์
ไปจนถึงการต่อยอดพัฒนาจากกังหันพลังน้ำที่ผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ไปสู่กังหันน้ำผลิตไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่ออกแบบใช้งานได้ที่ระดับความสูงหัวน้ำต่ำ ๆ และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงขึ้น จากการนำไฟฟ้าที่ผลิตได้เก็บไว้ในแบตเตอรี่
“ทำให้ระบบจ่ายไฟฟ้าได้มากกว่า 3 กิโลวัตต์ ซึ่งหมายถึงประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้ตู้เย็น การใช้ตู้แช่เพื่อแช่แข็งทุเรียน เป็นต้น”ผศ.ดร.อุสาห์กล่าว
แผนแม่บทสู่ความยั่งยืน
การพัฒนาแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมกังหันน้ำขนาดเล็กในชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชโดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ภายใต้การสนับสนุนของ วช. ที่จะต่อยอดจากการใช้งานกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในชุมชนคีรีวง ไปสู่ชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราชทั้งหมด ที่ครอบคลุม 40 อำเภอ ของ 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา
เป็นโครงการที่จะทำให้การขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP2018) ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนปฏิรูปพลังงาน และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG ข้อ 7 สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา ทำให้การผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลของประเทศมีความยั่งยืน
“การนำกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากมาใช้งานในพื้นที่ชุมชนคีรีวง การจะทำให้พื้นที่เป็นแหล่งที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เอื้อประโยชน์ชุมชนรอบเทือกเขาแห่งนี้อย่างยั่งยืน ความเข้มแข็งชุมชนสำคัญมาก ต้องทำให้แต่ละคนเห็นถึงประโยชน์และความคุ้มค่าของการติดตั้งอย่างเป็นรูปธรรม โดยทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน” ผศ.ดร. อุสาห์กล่าว
10 ปีบทพิสูจน์ความร่วมมือระหว่างการให้โจทย์จากชาวบ้าน วิชาการเข้ามาวิจัยพัฒนาช่วยแก้ปัญหาสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรเกิดขึ้นได้จริง พร้อมขับเคลื่อนต่อสู่ชุมชนรอบเทือกเขานครศรีธรรมราช สร้างเครือข่ายการจัดการน้ำและพลังงานสะอาด ที่สำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และภาคเอกชนในพื้นที่ต้องเข้ามาร่วมกับชาวบ้าน จึงจะเกิดคุณค่าและมูลค่าอย่างยั่งยืน