แก้ไข ‘ปัญหาฝุ่น’ จริงจังแบบ ‘จีน’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
สัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องของมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่สูงถึง 2.173 ล้านล้านบาท
อันที่จริงแล้ว ปัญหานี้ก็ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่เราคนไทยเจอมาทุกปีและหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลังนี้ และไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญปัญหานี้ ประเทศใหญ่ ๆ เช่น อินเดีย อังกฤษ และจีนก็เคยประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน
กรณีที่น่าศึกษาที่สุดคงหนีไม่พ้นประเทศจีน โดยเฉพาะกรุงปักกิ่ง ซึ่งเคยประสบปัญหาฝุ่นพิษอย่างหนักจนทำให้เมืองหลวงใหญ่ที่มีประชากรอาศัยกว่า 21 ล้านคน ถูกปกคลุมด้วยหมอกพิษจนครึ้มไปทั้งเมือง
รัฐบาลจีนตระหนักถึงปัญหานี้และเริ่มต้นการแก้ไขอย่างจริงจังด้วยนโยบาย “ทำให้ท้องฟ้าสีฟ้าอีกครั้ง” รัฐบาลจัดหาทั้งจากงบภายในและการกู้ภายนอกอย่างธนาคารโลกเพื่อสรรงบประมาณกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์ในการจัดการปัญหามลพิษ และในส่วนของฝุ่นพิษโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 120 ล้านดอลลาร์
ทุกการแก้ไขปัญหานั้นเริ่มจากการตระหนักและยอมรับว่าปัญหาคือปัญหา ต่อมาจึงสืบสวนระบุที่มาของปัญหา หาต้นตอ และแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ พร้อมไปกับบรรเทาความเสียหายปลายทางที่เกิดมาจากปัญหานั้น ๆ
ต้นตอของปัญหามลพิษในจีนคือ การพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมและครัวเรือน โดยเฉพาะหน้าหนาวเพื่อใช้ในการบรรเทาความหนาว ถ่านหินนั้นถูกใช้มานานจนเป็นที่นิยมและเป็นความเคยชิน รัฐบาลจึงใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง
คือทั้งออกกฎห้ามการใช้ถ่านหินสำหรับโรงงานเปิดใหม่ การกำหนดเพดานและเส้นตายในการใช้พลังงานถ่านหินแต่เดิม และให้งบประมาณสำหรับการปรับปรุงระบบให้มาพึ่งพาพลังงานสะอาดทดแทนถ่านหิน ซึ่งโดยสรุปแล้วรัฐก็ปิดโรงงานไปถึง 103 แห่งเพื่อทำให้ท้องฟ้ากลับมาสดใสตามคำมั่นสัญญาอีกครั้ง
อีกต้นตอหนึ่งคือ มลพิษจากการจราจร ซึ่งรัฐก็พัฒนาระบบรางทั้งในเมืองใหญ่ เมืองรอง และการเชื่อมต่อระหว่างเมืองให้ดีขึ้น มีรถไฟฟ้า มีรถไฟความเร็วสูงเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการเดินทาง และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งยังออกนโยบายปรับปรุงกฎเรื่องของน้ำมันและการปล่อยของเสียจากยานพาหนะให้ทัดเทียมมาตรฐานของยุโรป
รัฐยังกำหนดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนสำหรับเมืองขนาดใหญ่ อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ โดยอนุญาตให้รถยนต์ส่วนตัวเข้าในเขตเมืองใหญ่ได้วันเว้นวัน และรถยนต์ที่เก่าและที่ปล่อยควันพิษมากนั้นก็ถูกจำกัดไม่ให้วิ่งในเมืองอย่างเด็ดขาดในช่วงวันที่มลพิษทางอากาศอยู่ในระดับวิกฤติ
จะเห็นได้ว่านโยบายที่รัฐบาลออกนั้นมีทั้งไม้แข็งไม้อ่อน และก็มีทางเลือกให้ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ มิใช่ออกแต่นโยบายมาเป็นกฎหมายบังคับแต่ไม่มีการช่วยเหลือ การบังคับให้โรงงานพัฒนาระบบพลังงานสะอาดก็มาพร้อมเงินงบประมาณ ขณะที่การบังคับการใช้รถยนต์ส่วนตัวก็มีทางเลือกคือระบบขนส่งสาธารณะที่ดีในระดับหนึ่งให้เป็นทางเลือกของประชาชน
ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทยที่ต้นตอส่วนหนึ่งของปัญหามลพิษ มีส่วนที่เหมือนกับจีนคือมลพิษที่มาจากการจราจร และส่วนที่แตกต่างคือมลพิษที่มาการเผาไร่เพื่อผลประโยชน์ทางการเกษตร ซึ่งรัฐก็มีนโยบายออกกฎห้าม แต่ก็ไม่มีเงินงบประมาณสนับสนุน
ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ และแนวทางแก้ไขก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถ ซ้ำยังมีกรณีศึกษาเป็นแนวทาง แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เรายังต้องเจอกับปัญหาฝุ่นพิษทุกปี และก็ไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นแต่อย่างใด