การลงโทษบุตร ความรุนแรงผ่านมรดกกฎหมายไทย | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

การลงโทษบุตร ความรุนแรงผ่านมรดกกฎหมายไทย | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

“ได้ดีเพราะไม้เรียว” ประโยคนี้อาจใกล้ตัวผู้อ่านหลายคนในมิติของการกล่อมเกลาบุตรหลานให้เป็นคนดี เชื่อฟังคำสั่งสอนหรือไม่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น

คำถามที่ตามมาคือ ผู้อ่านเชื่อจริงหรือว่าการลงโทษที่ใช้ความรุนแรงเป็นทางออกที่จะนำมาซึ่งผลดี โดยไม่ส่งผลกระทบเชิงลบอื่นใด?

หรือการลงโทษเป็นเพียงแค่วิธีการที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด ที่สามารถจะกระทำทันทีเพียงเพื่อตอบสนองอารมณ์เท่านั้น?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เขียนยืนยันสิทธิไว้ในมาตรา 28 ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย” เป็นผลให้บทกฎหมายต่างๆ ต้องมีหน้าที่คุ้มครองถึงสิทธิแห่ง “เนื้อตัว ร่างกาย” ของทุกคนไม่เว้นแม้กระทั่งผู้เยาว์ ซึ่งเป็นบุตรหลานของท่าน

ตัวอย่างเช่น มาตรา 295 และมาตรา 391ประมวลกฎหมายอาญา ที่กล่าวโดยสรุปได้ว่า “ห้ามมิผู้ใดทำร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นหรือไม่ก็ตาม ผู้นั้นจะต้องรับผิดตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้”

หมายความว่า การกระทำที่รุนแรงใดต่อผู้อื่นไม่ว่าจะอยู่ใน “สถานภาพ” ใดก็ตาม มีความผิดทางอาญา แม้ผลร้ายนั้นอาจจะไม่รุนแรงตามที่ผู้กระทำต้องการก็ตาม

เช่นนี้ “การลงโทษบุตร” ถือว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งหรือไม่? และเมื่อเป็น “เหตุใดสังคมไทยยังยอมรับและคุ้นชินกับสิ่งนั้นจนกลายเป็นประโยคอมตะข้างต้น?”

“ได้ดีเพราะไม้เรียว” เป็นไปตามวัฒนธรรมการเลี้ยงดูบุตรของบิดามารดาในประเทศไทย ด้วยเห็นว่าหากสิ่งที่บุตรประพฤติปฏิบัตินั้นไม่ถูกต้อง

หากไม่ตีบุตรอาจจะไม่รู้สำนึก ไม่หลาบจำ หวนกลับไปกระทำอีก ทำให้บุตรมีนิสัยไม่พึงประสงค์ส่งผลให้เป็นภัยต่อบุตรเองในอนาคต ทั้งยังอาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่นต่อไป

เมื่อสังคมยอมรับในหน้าที่อันบิดามารดาต้องกระทำร่วมกันดังกล่าวมาเป็นเวลาช้านาน เกิดเป็นหลักเกณฑ์ที่มีเหตุผลร่วมกันว่า การเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดีจำเป็นต้องมีเครื่องมือและวิธีการเพื่อให้การอบรมสั่งสอนนั้นบรรลุวัตถุประสงค์

กลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่ให้อำนาจกระทำแก่บิดามารดาในการกระทำต่อ “เนื้อตัวร่างกาย” ของบุตรตามสมควรเพื่ออบรมสั่งสอน

การลงโทษบุตร ความรุนแรงผ่านมรดกกฎหมายไทย | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

ดังนั้น รัฐจึงสร้างหลักเกณฑ์ตามกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นข้อยกเว้นการกระทำความผิดบุตรดังกล่าว ให้ไม่จำต้องรับผิดทางอาญาตามที่กล่าวมา

โดยบัญญัติหลักการไว้ในมาตรา 1567 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ยังคงบังคับใช้จนกระทั่งปัจจุบัน กล่าวคือ

“หากบิดามารดาหรือผู้มีอำนาจปกครองเป็นผู้กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำโทษเพื่ออบรมสั่งสอนตามสมควร ถือว่าเป็นจารีตประเพณีแห่งการขัดเกลาบุตรหลานที่ตกทอดสืบต่อกันมาเป็นวัฒนธรรมที่ดี อันได้รับการยืนยันมาแต่ครั้งอดีต ย่อมเป็นเหตุยกเว้นความผิดในทางอาญา”

คำถามก็คือ “การอบรมสั่งสอนตามสมควร” มีขอบเขตแห่งการกระทำเป็นกรอบไว้แค่ไหน?

นักวิชาการทางกฎหมายอาญาหลายท่านกล่าวไว้ว่า “ตามสมควร” หมายถึง “การลงโทษนั้นจะต้องมีเจตนาเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน มิใช่กระทำไปตามอำเภอใจโดยไร้เหตุผล

และความรุนแรงในการลงโทษจะต้องพอเหมาะ รวมทั้งได้สัดส่วนกับระดับของความผิดที่บุตรกระทำลงไป หากเกินขอบเขตดังกล่าว บิดามารดายังคงต้องรับผิดทางอาญาโดยไม่มีข้อยกเว้น”

ผู้เขียนเห็นว่าหลักการที่กล่าวมาแสดงวัตถุประสงค์ที่เชื่อมั่นได้ว่า กฎหมายต้องการคุ้มครองผู้ใช้อำนาจปกครองที่มีเจตนาดี สอดคล้องกับบริบททางกฎหมายทุกประการ

เพียงแต่ปัญหาอันเป็นหลักใหญ่ใจความที่หล่นหายไป คือการจะเกิดบริบททางสังคมในอุดมคติดังกล่าวนั้น โครงสร้างทางสังคมของไทยจะต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้การลงโทษนั้นเป็นเพียงแค่การตอบสนองอารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราวของบิดามารดา

จะเห็นได้จาก “พ่ออ้างตีลูกเพื่อสั่งสอน อยากให้เป็นเด็กดี ไม่โกหก จนลูกวัย 10 ขวบต้องเข้าโรงพยาบาล” หรือแม้กระทั่ง “แม่ลงโทษลูกจนถึงแก่ความตาย เพียงเพราะลูกงอแงร้องไห้เสียงดัง”

แน่นอนว่าตัวอย่างคดีเหล่านี้ย่อมมีความผิดทางอาญา และมีโทษตาม พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 แต่จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่กฎหมายจะทำให้คนในครอบครัวรวมทั้งสังคมตระหนักร่วมกันว่า “การลงโทษที่ใช้ความรุนแรง” เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม

ปลายปี 2563 “สกอตแลนด์” เป็นชาติแรกในสหราชอาณาจักร ที่บังคับใช้กฎหมายห้ามไม่ให้บิดามารดารวมถึงพี่เลี้ยงลงโทษเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีด้วยการตี หรือกระทำรุนแรงทางกายภาพอื่นๆ

เพื่อทำให้ผู้เยาว์ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายที่เทียบเท่ากับผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์ หลังจากการใช้กฎหมายอนุญาตให้ผู้ปกครองสามารถลงโทษเด็กด้วยการตีได้ หากว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการลงโทษที่สมเหตุสมผลมาเป็นเวลานาน

การลงโทษบุตร ความรุนแรงผ่านมรดกกฎหมายไทย | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

ต่อมาเมื่อปี 2565 “เวลส์” เริ่มใช้กฎหมายห้ามพ่อแม่รวมถึงผู้ปกครองลงโทษลูกด้วยวิธีการทำร้ายร่างกายทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันการทำร้ายร่างกายเด็กโดยอ้าง “ความสมเหตุสมผล”

ในปีเดียวกัน “ญี่ปุ่น” ประเทศที่มีวัฒนธรรมการอบรมสั่งสอนบุตรหลานที่ใกล้เคียงกับไทย ก็ออกกฎหมายห้ามลงโทษลูกทุกรูปแบบที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ

นอกจากนี้ตัวกฎหมายยังระบุให้เด็กตรวจเช็กร่างกายอย่างสม่ำเสมอว่าถูกพ่อแม่ใช้กำลังร่างกายกับพวกเขาหรือไม่

แนวคิดการออกกฎหมายเหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะรัฐเห็นว่าภายในประเทศมีอัตราการทำร้ายเด็กและผู้เยาว์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในครอบครัว

จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อคุ้มครองให้เด็กและผู้เยาว์ได้รับสิทธิทางร่างกายจิตใจที่เทียบเท่าผู้ใหญ่ เพื่อยุติช่องว่างแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นดังกล่าว

อีกทั้งยังเห็นว่า การตีเด็กเป็นเหมือนกับการสอนว่า พละกำลังคือความถูกต้อง และบ่มเพาะให้เด็กเรียนรู้ที่จะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาต่อไป

จึงควรได้รับการแก้ไขผ่านการประกาศใช้กฎหมายให้สังคมรับรู้ว่า “เราไม่ควรสนับสนุนความรุนแรงทุกชนิดไม่ว่าจะมาใน “รูปแบบ” หรือ “สถานภาพ” ใดก็ตาม”

สุดท้ายนี้คงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของสังคมไทย ว่า การได้มาซึ่งสถานภาพความสัมพันธ์ทางครอบครัว สามารถที่จะกำหนดรูปแบบการลงโทษต่อบุคคลภายใต้ปกครองได้หรือไม่

“หากได้?” การกำหนดรูปแบบการลงโทษดังกล่าว เป็นการ “รักษา” หรือ “ทำลาย” ความสัมพันธ์ทางครอบครัวอันดีของสังคมไทย.