เช็กตัวเองอยู่ 'ระบบประกันรายได้'รูปแบบไหน หลังเกษียณเงินพอใช้
ผู้สูงอายุไทย เข้าสู่ตลาดงานได้เพียง 30 % แต่รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย คนไทยมีการออมเพียง 26 % ขณะที่ระบบประกันรายได้เมื่อสูงวัย ครอบคลุมทุกกลุ่ม แต่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ เกิน 50 % ไม่มีการออมเพื่อใช้หลังเกษียณ
Key Point :
- ปี 2564 มีผู้สูงอายุ 13.4 ล้านคน ต้องการทำงาน 33 % เข้าสู่ตลาดงานได้เพียง 30 % แต่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย อีก 3 % แยกเป็นหางาน 1 %และ2 % รอฤดูกาลในการทำงาน
- ระบบประกันรายได้หลังเกษียณในคนไทย 3 กลุ่ม ข้าราชการ ลูกจ้างเอกชน และแรงงานนอกระบบ มีความครอบคลุมแต่ยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
- รูปแบบกองทุนบำเหน็ญบำนาญข้าราชการ(กบข.)ของข้าราชการ มีเงินราว 1.2 ล้านล้านบาท และกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ชาวบ้านสมทบร่วมกับรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2566 มีเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ “ไทยพร้อมยัง... ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” ร่วมจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ(IHPP)
วรวรรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สังคมสูงวัยคือทุกกลุ่มอายุอยู่ในสังคมดียวกัน เพียงแต่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากกว่าวัยเด็กและวัยแรงงาน โดยปี 2566 มีผู้สูงอายุแตะ 20 % จึงเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ มีวัยแรงงาน 63 % และวัยเด็ก 16 % แต่อีก 20 ปีข้างหน้า ปี 2583 ผู้สูงอายุแตะ 30 % วัยแรงงาน 55 % วัยเด็ก 12 % เข้าสู่สังคมสูงวัยสุดยอด จึงเป็นโจทย์ว่าถึงตอนนั้นประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
ในส่วนรายได้และค่าใช้จ่าย มีช่วงวัยเดียวที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ต่ำกว่ารายได้จากการทำงาน แต่เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ รายได้ไม่สามารถชดเชยกับค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคได้อย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้น ผู้สูงอายุต้องมีรายได้เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจากการสำรวจรายได้ผู้สูงอายุมาจากบุคคลอื่น ลูกหลาน การทำงานและเบี้ยยังชีพ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ผู้สูงอายุที่เป็น Active Aging เข้าสู่การทำงานให้มีรายได้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่า มีผู้สูงอายุ 13.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องการทำงาน 33 % เข้าสู่ตลาดงานได้เพียง 30 % แต่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย อีก 3 % ในนี้เป็นการหางาน 1 %และ2 % รอฤดูกาลในการทำงาน จึงเป็นโจทย์ว่า 3 %จะทำอย่างไรให้มีงานทำและอีก 30 % ให้มีงานที่เหมาะสมและชดเชยกับค่าใช้จ่าย
ในส่วนของการออม คนไทยมีการออมเพียง 26 % มีบัญชีการออมต่ำกว่า 50,000 บาท อายุเริ่มออมช้าเมื่อ 40 ปีขึ้นไป ครัวเรือนมีการลงทุนเพียง 2.2 %ของครัวเรือนทั้งหมด แต่หนี้สินต่อจีดีพี 79.9 % และเพิ่มมาตลอด จนไตรมาส 3 ของปี 2565 อยู่ที่ 86.8 %
สภาพัฒน์มีแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาวในปี 2565-2580 โดยมีแนวคิด เกิดดี อยู่ดี แก่ดี ซึ่งเกิดดีต้องอาศัยครอบครัวในการบ่มเพาะคนให้มีคุณภาพ อยู่ดียกระดับพัฒนาศักยภาพของประชากรเริ่มตั้งแต่การศึกษาเข้าสู่ตลาดงานเป็นแรงงานคุณภาพ พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับความมั่นคงทางการเงิน สภาพแวดล้อมเอื้อต่อคนมีคุณภาพที่ดี และแก่ดี สร้างเสริมสุขภาวะลด ระบบการดูแลระยะยาว ระยะกลาง ดูแลประคับประคอง และระบบคุ้มครองพิทักษ์ทรัพย์สินของผู้สูงวัย
หลักประกันรายได้หลังเกษียณ
นวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้ายดุลยภาพการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิขการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวถึงการสร้างหลักประกันรายได้เพื่อพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุว่า หลักประกันรายได้หลังเกษียณของคนไทยมีหลากหลายรูปแบบทั้งสวัสดิการชราภาพ การออมภาคบังคับและการออมภาคสมัครใจ ภายใต้หลัก 3 ส่วน ได้แก่
1.ครอบคลุม ทุกกลุ่ม คือ กลุ่มข้าราชการมีบำเหน็จบำนาญ การออมภาคบังคับ กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ กลุ่มลูกจ้างเอกชน มีกองทันประกันสังคมที่เป็นการออมภาคบังคับ มีสิทธิประโยชน์เป็นบำนาญชราภาพ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นการออมภาคสมัครใจ ซึ่งกองทุนนี้ช่วยอย่างมากที่จะทำมีรายได้เพียงพอหลังเกษียณแบบมีความมั่นคงมากขึ้น
และกลุ่มแรงงานอิสระ มีประกันสังคมมาตรา 40 รองรับที่จะได้บำเหน็จเงินก้อนเมื่อครบ 65 ปี และกองทุนการออมแห่งชาติ ที่จะมีบำนาญรายเดือนตลอดชีวิตหากมีการออมตามเกณฑ์ โดยในปี 2566 มีการปรับเพิ่มให้สามารถจ่ายเงินสมทบได้สูงสุด 30,000 บาทต่อปี และรัฐจะสมทบให้สูงสุดปีละ 1,800 บาท
เสี่ยงรายได้หลังเกษียณไม่พอ
2.เพียงพอ ซี่งตามมาตรฐานสากลรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอคงคุณภพาชีวิตใกล้เคียงก่อนเกษียณจะต้องมีไม่น้อยกว่า 50 % ของรายได้ก่อนเกษียณ กลุ่มข้าราชการจะมีรายได้ 60-70%ของรายได้ก่อนเกษียณ กลุ่มลูกจ้างเอกชน ถ้าส่งเข้าประกันสังคม 15 ปีขึ้นไป จะมีรายได้ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน หากมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มจะมีเงินก้อนอีกส่วนหนึ่ง แต่หากมีเพียงเงินประกันสังคมน้อย ไม่ออมเพิ่ม เสี่ยงรายได้หลังเกษียณก็จะไม่เพียงพอ
“กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มอิสระ /แรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่พึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและรายได้ของลูกหลานเป็นหลักราว 20 กว่าล้านคน และเกิน 50 % ไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ”นวพรกล่าว
และ3.ความยั่งยืนทางการคลัง ภาครัฐมีแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ ภาระผูกพันระยะยาวเพื่อที่จะจ่ายในเรื่องสวัสดิการและเงินสมทบเข้ากองทุนต่างๆให้เพียงพอที่จะจ่ายได้ในระยะยาว และกองทุนต่างๆต้องมีความมั่นคงและยั่งยืนด้วย จะได้ไม่กลับมาเป็นภาระทางการคลังในอนาคต
กบข. รูปแบบออมข้าราชการ
ในส่วนของกลุ่มข้าราชการ บุญเลิศ อันประเสริฐพร รองเลขาธิการกลุ่มงานปฏิบัติการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กล่าวถึงระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุสำหรับข้าราชการว่า กบข.เป็นระบบการออมภาคบังคับที่ให้ข้าราชการมีส่วนร่วมในการออม ภาพรวมมีสมาชิก 1.2 ล้านคน มีเงินกองทุน 1.2 ล้านล้านบาท มีภารกิจ 3 เรื่อง คือ 1.สร้างหลักประกันให้ข้าราชการเมื่อเกษียณอายุ 2.ส่งเสริมการออมของข้าราชการ เป็นการออมเพื่อการเกษียณอายุ และ3.การจัดสิทธิประโยชน์ สวัสดิการแก่สมาชิก
จากภารกิจแบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการลงทุน ซึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างหลักประกันให้ข้าราชการที่นำเงินเข้ามาออมกับกบข. จะต้องมีวิธีการสร้างผลตอบแทนเมื่อเกษียณที่มีเงินเพียงพอ แนวทางที่ดำเนินการเป็นการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆให้มีความเหมาะสมเพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ เพราะเป้าหมายสำคัญ ต้องการเอาชนะเงินเฟ้อระยะยาว
และ2.สนับสนุนกระตุ้นให้สมาชิกมีการออม ซึ่งภาคบังคับข้าราชการออมประมาณ 3 % ซึ่งไม่เพียงพอ จะต้องมีการออมภาคสมัครใจ โดยตั้งแต่ 20 มี.ค.2566 สมาชิกสามารถออมเพิ่มได้สูงสุดจากเดิม 12 % เป็น 27 % เมื่อรวมกับภาคบังคับ 3 % จะเป็น 30 % โดยรัฐไม่มีสมทบให้แต่สมาชิกต้องดูและเรื่องการเงินของตัวเองในการออมเพิ่ม ขณะนี้มีข้าราชการสมัครใจออมเพิ่มราว 20 %
นอกจากนี้ เรื่องทักษะการเงิน และวินัยการออม เพื่อออมให้เณ้ว ให้มากและให้เป็น ซึ่งข้าราชการแต่ละคนจะมีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงต่างกัน กบข.จึงมีการออกแนวทางการลงทุนให้สมาชิกเลือกแผนการลงทุนได้ มีข้าราชการที่เลือกแผนการลงทุนเองราว 14 % รวมถึง จัดแผนการลงทุนที่สมดุลกับอายุ โดยอายุน้อยเสี่ยงมาก อายุมากเสี่ยงน้อย โดยกบข.จะดำเนินการเปลี่ยนแผนการลงทุนให้ตามอายุ
กองทุนสวัสดิการชุมชน 1.9 หมื่นล้าน
ขณะที่ กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือพอช. กล่าวถึงระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนกับการดูแลผู้สูงวัยในพื้นที่ว่า รัฐส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสวัสดิการของตัวเองตั้งแต่ปี 2553เป็นต้นมา เรียกว่า ระบบสวัสดิการชุมชน เป็นระบบสวัสดิการที่ประชาชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของคนในชุมชน เช่น การรักษาพยาบาล รับขวัญเด็กแรกเกิด ทุนการศึกษา/อุปกรณ์การเรียน ทุนประกอบอาชีพ เสียชีวิต/จัดงานศพ ผู้ด้อยโอกาส/ผู้ยากไร้ สาธารณะประโยชน์ และช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น
ระบบสวัสดิการชุมชนหรือกองทุนวันละบาท ปัจจุบันมีอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 5,915 กองทุน มีสมาชิก 6,486,679 คน ตั้งเป้าหมายไว้ 15 ล้านคนเพราะจะเท่ากับ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ จะเป็นฐานรองรับเรื่องนี้ได้ วัยทำงาน 48% ผู้สูงอายุ 35 % เด็ก/เยาวชน 15 % และผู้ด้อยโอกาส 2 % มีเงินกองทุนสะสม 19,396 ล้านบาท เป็นเงินที่ได้มาจากประชาชนเก็บไว้วันละบาทแล้วนำเงินมาสมทบ ไม่ใช่ออม โดยหากออมจะเป็นเงินของชาวบ้านสามารถเอาคืนได้ แต่สมทบเข้ากองทุนจะไม่สามารถเอาคืนได้ แต่เอาไปทำสวัสดิการให้กับสมาชิกและผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกแต่ควรได้รับการดูแล เช่น กลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น
“เงินในกองทุน 19,396 ล้านบาท ชาวบ้านสมทบราว 12,000 ล้านบาท รัฐบาลสมทบมา 3,400 ล้านบาท แปลว่า ชาวบ้านสมทบมา 1 บาท รัฐบาลสมทบมา 1 สลึง และอปท.สมทบประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตั้งแต่ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน”กฤษดากล่าว