'ฝุ่นพิษ' ปี 66 หนักกว่าปี 65 สะท้อนความล้มเหลว รัฐบาลอาเซียน

'ฝุ่นพิษ' ปี 66 หนักกว่าปี 65 สะท้อนความล้มเหลว รัฐบาลอาเซียน

สถานการณ์ฝุ่นพิษ หรือ PM2.5 ที่เข้าขั้นรุนแรงในหลายพื้นที่ของอาเซียน โดยเฉพาะภาคเหนือของไทย ยังไม่มีแนวโน้มเบาบางลง มิหนำซ้ำยังหนักกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการชี้ เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลทั้งอาเซียน

Keypoints:

  • ศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางแห่งอาเซียน ยกระดับการเตือนภัยสถานการณ์ฝุ่นพิษที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งปกคลุมเหนืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด
  • ข้อมูลแผนที่ดาวเทียมแสดงให้เห็นฝุ่นพิษอาเซียนตอนบนเดือน มี.ค.2566 เข้าขั้นวิกฤติมากกว่า เดือน มี.ค.2565 ประมาณ 2-3 เท่า
  • ผอ.ประเทศไทย กรีนพีซชี้ ความตกลงมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนของอาเซียนปี 2545 ล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะ “ASEAN Way” (ไม่แทรกแซงเรื่องภายใน)

เมื่อไม่นานนี้ ข้อมูลจาก ศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางแห่งอาเซียน (ASEAN Specialised Metroolorical Centre) หรือ ASMC ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า สถานการณ์หมอกควันหรือฝุ่นพิษที่ปกคลุมในหลายพื้นที่ทางตอนบนของภูมิภาคในขณะนี้ เข้าขั้น “วิกฤติและเป็นอันตราย” ต่อชีวิตของประชาชน

ขณะเดียวกัน ASMC ได้ยกระดับการเตือนภัยสถานการณ์ฝุ่นพิษที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งปกคลุมเหนืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด (Activation for Alert Level 3 for the Mekong Sub-region)

ทั้งนี้ การเตือนภัยระดับ Alert Level 3 เป็นระดับที่มีความเสี่ยงจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดนสูงสุดในระดับภูมิภาค มีจุดความร้อนที่ active ต่อเนื่องและมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพปกคลุมอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2 วันขึ้นไป ความแห้งแล้งต่อเนื่องยาวนาน และมีการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝุ่นพิษที่ส่งผลกระทบต่อประเทศข้างเคียง

\'ฝุ่นพิษ\' ปี 66 หนักกว่าปี 65 สะท้อนความล้มเหลว รัฐบาลอาเซียน
- ภาพแผนที่จากดาวเทียมแสดงระยะเวลาการคงอยู่ของฝุ่นพิษ สียิ่งเข้มยิ่งอยู่นาน (เดือน มี.ค.66) -

\'ฝุ่นพิษ\' ปี 66 หนักกว่าปี 65 สะท้อนความล้มเหลว รัฐบาลอาเซียน
- ภาพแผนที่จากดาวเทียมแสดงระยะเวลาการคงอยู่ของฝุ่นพิษ สียิ่งเข้มยิ่งอยู่นาน (เดือน มี.ค.65) -

สถานการณ์อันเลวร้ายที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายอย่างเป็นรูปธรรมนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เร่งหาทางออกโดยเร็วที่สุด ขณะที่ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบทางสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

กรีนพีซ ระบุว่า ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนี้ส่งผลให้ประชาชนในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ต้องประสบกับผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงอาการหายใจติดขัด แสบตา เจ็บคอ บ้างมีอาการเลือดกำเดาไหล และไอเป็นเลือด จากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตราย (hazardous) โดยมีดัชนีคุณภาพอากาศมากกว่า 100 ขึ้นไปต่อเนื่องกันนับสัปดาห์

“นี่คือวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสังคมในวงกว้างและต้องมีมาตรการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเร่งด่วน”

  • ความล้มเหลวของภาครัฐอาเซียน

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุผ่านทวิตเตอร์ @taragraphies ว่า ฝุ่นพิษอาเซียนตอนบนเดือน มี.ค.2566 เข้าขั้นวิกฤติมากกว่า เดือน มี.ค.2565 ประมาณ 2-3 เท่า สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลทั้งในไทยและอาเซียน

นอกจากนี้ นายธาราชี้ว่า ความตกลงมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนของอาเซียนปี 2545 ล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะ “ASEAN Way” ที่หมายถึง ไม่แทรกแซงเรื่องภายในประเทศสมาชิกด้วย

ขณะที่แผน “ASEAN Haze-Free Roadmap by 2020” ซึ่งควรเกิดขึ้นตั้งแต่ภายในปี 2563 นายธาราวิจารณ์ว่า “ยิ่งกว่าความล้มเหลว เพราะตลาดมีอำนาจเหนือรัฐทั้งหลายในอาเซียน”

ส่วนกรณีที่หากเกิดฝนเดือนในเดือน เม.ย. จะช่วยไล่ฝุ่นพิษอาเซียนตอนบนได้หรือไม่นั้น นายธารายืนยันว่า “ไม่” และว่า ในปี 2563-2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีลานีญาติดต่อกัน ชี้ให้เห็นว่า ฝุ่นพิษก็ยังลอยอ้อยอิ่งปกคลุมเหนืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอยู่ดี แม้ว่าจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเป็นแห่ง ๆ ในเดือน เม.ย. แล้วก็ตาม

  • ฝุ่นพิษเข้าขั้น "มหาวิกฤติ"

ขณะที่ในฟากนักวิชาการ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตรชี้ว่า ข้อมูลค่าฝุ่น จุดความร้อน “เข้าขั้นมหาวิกฤติ” ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปกคลุมทั่วภาคเหนือและอีสาน ขณะที่การเผาป่าในไทย-ลาว-เมียนมา-กัมพูชา พุ่งทำสถิติใหม่

รศ.ดร.วิษณุ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาว่า “แผนวาระฝุ่นแห่งชาติปี 2562 ผ่านไปเกือบ 4 ปี แล้ว ทำไมปล่อยให้เผากันได้เละเทะขนาดนี้ สุขภาพพี่น้องภาคเหนือและภาคอีสานน่าเป็นห่วงมาก ๆ มีแต่อากาศสกปรกหายใจกัน ยิ่งเฉยยิ่งป่วยเพิ่ม”

\'ฝุ่นพิษ\' ปี 66 หนักกว่าปี 65 สะท้อนความล้มเหลว รัฐบาลอาเซียน

ส่วนสาเหตุหลักของฝุ่นพิษวันนี้ รศ.ดร.วิษณุ ระบุว่า เกิดจากการเผาในที่โล่งแจ้งและปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำ โดยไทย สปป.ลาว และอาเซียน เผาทำสถิติใหม่ในปีนี้อีกครั้ง

รศ.ดร.วิษณุ ยังกล่าวอีกว่า “ข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังไม่มีพรรคการเมืองไหน หรือกระทรวงไหนกล้าแตะต้อง น่าเศร้าใจแทนสุขภาพของประชาชนไทยมาก ๆ มาตรการลดการเผาที่มีเป็นเพียง CSR ครอบคลุมพื้นที่ขนาดเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับการเผาหลักหลายล้านไร่”

“ส่วนการเผาในภาคป่าไม้วันนี้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 3,403 จุด เป็น 4,500 จุด มาตรการในแผนวาระฝุ่นแห่งชาติ 4 ปี ผ่านมานับว่าล้มเหลว ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพ นี่มัน 4 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีแผนปีแรก”

ล่าสุด รศ.ดร.วิษณุ โพสต์เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า “บุฟเฟ่ต์พรีเมี่ยมฝุ่นพิษ PM2.5 แถมมะเร็งยังมีให้สูดดมฟรีอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือ! เชียงใหม่ครองอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องไร้คู่แข่ง ส่วนอีสาน กลาง ตะวันตก และใต้ ก็อากาศแย่ต่อเนื่อง หลายจังหวัดมีค่าฝุ่นพิษ PM2.5 สูงเกินค่าแนะนำ 24 ชั่วโมงขององค์การอนามัยโลกสาหัส เช่น 20 เท่าที่แม่ฮ่องสอน!! ยิ่งเฉยยิ่งป่วยเพิ่ม ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายอากาศสะอาด คนไทยต้องสูดฝุ่นพิษกันต่อไป”

นอกจากนี้ รศ.ดร.วิษณุ ได้เชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมใจช่วยชาวภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเข้าไปที่ลิงก์นี้ change.org/CleanAirActTH เพื่อสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ภาคประชาชน

\'ฝุ่นพิษ\' ปี 66 หนักกว่าปี 65 สะท้อนความล้มเหลว รัฐบาลอาเซียน