เศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการ (จริงๆ) ของประชาชน | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
คำตอบว่า คนไทยต้องการอะไรในเชิงเศรษฐกิจนั้น ผมขอนำเสนอว่า อาจเห็นได้จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรของไทย
ผมได้รวบรวมข้อมูลในอดีต พร้อมกับการคาดการณ์อนาคต (ตาราง) พอมีข้อสรุปข้างต้นดังนี้
1.จำนวนประชากรของประเทศไทย ใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว (คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรจะสูงสุดในปี 2039 อีก 16 ปีข้างหน้า) ดังนั้น ความต้องการในเชิงของการเพิ่มพื้นที่เพื่ออยู่อาศัย คงจะไม่ต้องขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นในอดีต
กล่าวคือ ราคาที่ดินอาจไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต แตกต่างจากในอดีต ยกเว้นพื้นที่เมืองใหญ่ (ซึ่งเป็นประสบการณ์ของประเทศที่ประชากรแก่ตัวลง และจำนวนประชากรลดลง เช่น ญี่ปุ่นและอิตาลี)
2.ประชาชนของไทย กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ตัวเลขปัจจุบัน (2020) จำนวนเด็ก (อายุ 0-14 ปี) ยังมากกว่าจำนวนผู้สูงอายุ (65 ปีหรือมากกว่า) ที่ 11.23 ล้านคนกับ 7.93 ล้านคนตามลำดับ
แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น และมีจำนวนมากกว่าเด็กเกือบเท่าตัวคือ 8.17 ล้านคน (จำนวนผู้สูงอายุ 16.53 ล้านคน และจำนวนเด็ก 8.36 ล้านคน)
3.ประชาชนในวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี (ผมมองว่าปัจจุบัน คนอายุ 60-64 ปี ยังสามารถ และต้องทำงานได้) กำลังปรับตัวลดลงเช่นกัน กล่าวคือคนกลุ่มนี้ จะมีจำนวนลดลงเกือบ 7 ล้านคนในอีก 16-17 ปีข้างหน้า
แนวโน้มข้างต้น ทำให้พอจะสามารถคาดการณ์ได้ในอนาคตว่า ประชาชนคนไทย จะต้องการอะไรในเชิงของเศรษฐกิจ ที่จะตอบสนองต่อสภาวการณ์ของประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างคร่าวๆ
- จำนวนเด็กลดลงจาก 11.23 ล้านคนเป็น 8.36 ล้านคน แปลว่าจะมี โรงเรียนและสถานศึกษาล้นเกินความต้องการต่อไปอีกใน 20 ปีข้างหน้า
สภาวการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาแล้วอย่างเห็นได้ชัด ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และจึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
เมื่อโรงเรียนในต่างจังหวัด ประกาศรับสมัครครูสอนภาษาอังกฤษ (และวิชาอื่นๆ) โดยเสนอให้เงินเดือนเพียง 5,000 บาท ทั้งนี้เพราะโรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง 60 คน กระทรวงศึกษาจึงอนุมัติงบประมาณให้มีครูเพียง 3 คน (เพราะมาตรฐานคือครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน)
แต่ปรากฏว่าโรงเรียนดังกล่าวต้องมีชั้นเรียนถึง 6 ชั้นคืออนุบาลถึง ป.5 ผมเข้าใจว่า เคยมีการประเมินโดยกระทรวงศึกษาธิการว่ามีจำนวนโรงเรียนที่การสอน ต่ำกว่ามาตรฐานมากถึง 5,000 แห่ง
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องปรับโครงสร้างและการบริหารทรัพยากรด้านการศึกษา กล่าวคือ ต้องเร่งการควบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนน้อยเกินไป
เพื่อให้สามารถสอนหนังสือ และบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยต้องให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับความสะดวกและสามารถเข้าถึงการศึกษา แม้ว่าจำนวนโรงเรียนจะต้องลดลงในแต่ละพื้นที่
นอกจากนั้น ก็ยังมีปัญหาว่าครูไทยมีหนี้สินสูงมาก คือรวมทั้งสิ้นกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยเป็นครูที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ประมาณ 670,000 คนและที่เกษียณอายุแล้วอีก 230,000 คน รวมกว่า 9 แสนคน
แปลว่าครูมีหนี้เฉลี่ยมากถึง 1.56 ล้านบาทต่อคน ที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้ส่วนใหญ่คือ 8.9 แสนล้านบาท อยู่กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและอีก 3.49 แสนล้านบาทอยู่ที่ธนาคารออมสิน
ข้อสรุปคือ จำนวนเด็กลดลงมาก ดังนั้นจึงยิ่งต้องเร่งทดแทนปริมาณโดยการให้การศึกษาที่มีคุณภาพ แต่ปรากฏว่า ระบบการศึกษาของไทยดูเสมือนว่า ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวได้
- จำนวนประชากรในวัยทำงานลดลง ตรงนี้ก็ต้องการคำตอบในทำนองเดียวกันคือทำให้จำนวนคนในวัยทำงานที่มีอยู่ทำงานได้อย่างมีคุณภาพและปริมาณมากขึ้น
ทำได้ด้วยการลงทุนเพิ่มศักยภาพให้กับแรงงาน (invest in human capital) การลงทุนเพิ่มเครื่องจักร (automation) และการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่มผลผลิตในมิติต่างๆ
ทั้งนี้การลงทุนจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน (ทั้งไทยและต่างชาติ) เป็นหลักโดยรัฐบาลจะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก (facilitator) แต่จะรวมถึงการลงทุนของภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว โดยเฉพาะในภาคเกษตร (ที่ใช้คนมาก ใช้เทคโนโลยีน้อยและมีการลงทุนต่ำกว่าภาคอื่นๆ)
กล่าวคือไม่ใช่การประกันรายได้และการประกันราคาพืชผล แต่การใช้เทคโนโลยีปรับหน้าดิน (ให้ใช้ปุ๋ยน้อยลงหรือปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืช organic) การส่งเสริมการใช้เครื่องตัดต้นอ้อยร่วมกันเพื่อลดการเผาอ้อย เป็นต้น
- ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเท่าตัวใน 20 ปีข้างหน้า เมื่อฝรั่งเศสเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 เป็น 64 (ตามหลังประเทศยุโรปอื่นๆ ที่อายุเกษียณอยู่ที่ 65-67 ปี)
ก็ชัดเจนว่าประเทศไทยจะต้องเดินไปในทางเดียวกันและแม้จะปรับเกณฑ์ว่าผู้สูงอายุคือ ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ก็ยังเป็นเรื่องที่จะท้าทายประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะประชากรในกลุ่มนี้ จะเพิ่มขึ้นจาก 7.93 ล้านคนเป็น 16.53 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า
คนกลุ่มนี้ (ซึ่งรวมถึงตัวผมด้วย จะต้องรู้จักดูแลตัวเอง (stay healthy, preventive care) ไม่ใช่รอให้ป่วย แล้วต้องเรียกหาการรักษาพยาบาล เพราะเมื่อเจ็บป่วยแล้วมักจะทรมานอย่างมาก และการรักษาพยาบาล ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงมากอีกด้วย
เช่น นโยบายหาเสียงที่จะให้ฟอกไตฟรีนั้น ผมจะขอไม่รับ โดยจะพยายามออกกำลังกาย ควบคุมน้ำตาล ควบคุมความดัน และควบคุมน้ำหนักตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อไม่ให้ไตวายจนต้องฟอกไต หรือหาไตของญาติพี่น้องมาเปลี่ยนให้
ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการเป็นโรคไต (ซึ่งคนไทยกำลังเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น) คือการเป็นโรคเบาหวานและการมีความดันโลหิตสูง ซึ่งทั้งสองโรคจะเป็นภัยอันตรายต่อสุขภาพโดยรวมอย่างยิ่งครับ.