เตรียมตัวให้พร้อม 'เที่ยวสงกรานต์' ฉบับคลายร้อน สนุก ปลอดภัย
วันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 หลายๆ คนคงได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯกลับบ้านไปหาพ่อแม่ ไปเยี่ยมปู่ย่าตายาย ญาติผู้ใหญ่ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็มีอีกหลายคนกำลังเตรียมแผนเดินทางกลับบ้านเพื่อไปฉลองปีใหม่ไทย หรือไปท่องเที่ยวในพื้นที่จัดงานเฉลิมฉลอง
Keypoint:
- เตรียมพร้อมเดินทางกลับบ้าน-ท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ อย่าลืมวางแผนก่อนการเดินทาง พักผ่อนให้เพียงพอ เช็กรถเพื่อความปลอดภัย
- มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ควรพกชุดยาสามัญประจำบ้าน ยาประจำตัว และน้ำดื่ม ช่วยคลายร้อน นั่งรถเป็นเวลา ควรหยุดพักรถ พักคน
- ฉลองวันสงกรานต์ด้วยวิถีไทย รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ สังสรรค์แต่พอควร เมาไม่ขับ ดูแลสุขภาพหลังสงกรานต์
วันนี้ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้รวบรวมเตรียมพร้อมการเดินทาง ไม่ว่าจะด้วยรถสาธารณะ มอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์ในช่วงสงกรานต์ เพื่อคลายความร้อนในช่วงที่อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นทุกวัน ให้ทุกคนได้เดินทางอย่างสนุกสนาน ปลอดภัยระหว่างการเดินทาง รวมทั้งรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ เริ่มด้วย
1.วางแผนก่อนเดินทาง
เพื่อให้การเดินทางราบรื่นมากที่สุด ควรเตรียมแผนล่วงหน้าก่อนว่าในการเดินทาง ว่าอยากเดินทางแบบไหน และจะไปพักผ่อนในรูปแบบใด เช่น ไปเที่ยวกับครอบครัว เน้นพักผ่อนที่บ้าน ต้องการไปดำน้ำ เที่ยวทะเล เป็นต้น เมื่อได้ทริปที่เราต้องการแล้วก็อย่าลืม!! ตรวจสอบวิธีการเดินทางและเส้นทางกันล่วงหน้าด้วย หาจุดพักรถ หรือสถานที่เข้าห้องน้ำ ร้านอาหารระหว่างทาง เพื่อให้การเดินทางได้สนุกสนานมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'สงกรานต์' ปี 66 ‘ใส่ดอกออกเที่ยว’ ในพื้นที่ 198 จุด ทั่วกรุงฯ
'สงกรานต์ 2566' ตร. แนะนำ 4 เส้นทางสายหลักเลี่ยงรถติด
เช็กร่างกายเช็กอุปกรณ์ เตรียมพร้อมก่อนเดินทาง
2. พักผ่อนให้เต็มที่
การขับรถเป็นเวลานานๆ อาจทำให้ร่างกายล้าได้ ดังนั้น การนอนพักผ่อนให้เต็มสตรีม ไม่ง่วงระหว่างขับรถจะช่วยลดอุบัติเหตุ และปลอดภัยได้มาก
3.ของใช้จำเป็น
ก่อนออกเที่ยว หรือเดินทางไกล ควรมีการเตรียมเสื้อผ้าให้พร้อม และเสื้อผ้าที่เหมาะกับช่วงหน้าร้อนนี้ ควรเป็นเสื้อผ้าที่บางเบา โปร่ง สวมใส่สบาย รวมถึงของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น แชมพู สบู่ โฟมล้างหน้า ครีมกันแดด แปรงสีฟัน ยาสีฟัน หวี และผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
4. ชุดยาสามัญ
ยาสามัญประจำบ้านและยาประจำตัว เป็นของสำคัญที่หลายๆท่านมักจะลืม ขอแนะนำให้หากระเป๋ายาเล็กๆ สักใบใส่ติดไว้ในกระเป๋าเดินทางตลอดเวลา จัดครั้งเดียวใช้ได้ทุกทริป โดย ยาที่สำคัญและควรนำไปใช้เพื่อฉุกเฉิน ได้แก่ ยาลดไข้-แก้ปวด ,ยาแก้แพ้ ,ยาแก้ท้องเสีย,ผงเกลือแร่,ยาแก้ปวด/คลายกล้ามเนื้อ,ยาแก้เมารถ/เรือ และอุปกรณ์ทำแผลเบื้องต้น
นอกจากนั้น ถ้ามีเด็กและผู้สูงอายุร่วมเดินทางไปด้วย ควรเตรียมอาหารน้ำดื่ม และไม่ลืมคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะไม่ว่าจะเป็นวัยไหนทั้งเด็กหรือผู้สูงอายุ หรือแม้แต่วัยหนุ่มสาว กรณีที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ก็ควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม โดยเฉพาะเด็กที่มีความสามารถ ในการทนความร้อนได้น้อยกว่าอื่นๆ ดังนั้นจึงเตรียมพกน้ำดื่ม หรือแม้แต่นมไว้ให้เด็ก รับประทานขณะอยู่บนรถ
ส่วนผู้อายุที่มักมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ดังนั้นการเตรียมกระติกน้ำหวานขนาดเล็ก ลูกอม หรือขนหวาน หรือแต่ยารักษาโรคประจำตัว ก็เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อม ก่อนออกเดินทาง
ฉลองสงกรานต์ด้วยวิถีไทย พร้อมเซฟเบอร์ฉุกเฉิน
5.การฉลองสงกรานต์ด้วยวิถีไทยอันงดงาม
การร่วมเฉลิมฉลองประเพณีที่เป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ทั้งการเข้าวัดทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ฯลฯ โดยเป็นกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตจากทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้จัดขึ้นได้ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่วนข้อห้ามในปีนี้คือ ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม ร่วมทั้งห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่จัดงานสงกรานต์ เชื่อว่าเมื่อได้เข้าร่วมแล้วจะทำให้ได้สัมผัสกับประเพณีวิถีไทยอันงดงาม และอยู่พร้อมกันกับครอบครัวอย่างอบอุ่นแน่นอน
6.ควรหลีกเลี่ยงการกินดื่มสังสรรค์ร่วมกันเป็นเวลานาน
การพบปะสังสรรค์กับญาติสนิท และกลุ่มเพื่อนๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ถือเป็นกิจกรรมสานความสัมพันธ์ของครอบครัว แต่ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทุกคนควรคำนึงถึงความปลอดภัยของคนรอบข้าง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุและเด็ก ด้วยการลดระยะเวลาในการร่วมกินดื่มเฉลิมฉลองให้สั้นลง เพื่อรักษาระยะห่างและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้
7.พกครีมกันแดด
แดดในช่วง Summer นี้ ไม่ต้องพูดถึง ร้อน ร้อนมากถึงร้อนที่สุด ของที่ต้องไม่ลืมเป็นอันขาด คือ ครีมกันแดด ตัวช่วยที่สำคัญที่สุด ยิ่งเมื่อต้องทำกิจกรรมทั่วๆไปสามารถใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 แต่หากทำกิจกรรมที่ต้องอยู่ในที่ๆมีแดดแรงนานๆ เช่นเล่นน้ำ ดำน้ำหรือขับเจสกี ควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50+ PA+++
8.เซฟเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ในมือถือ หรือจดไว้ในสมุดโน้ตต่างๆ
เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน จะได้มีผู้ช่วยเหลือ โดยแนะนำให้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 ในตอนนั้นเลย หรือสายด่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หมายเลข 1543 หรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน โทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือเบอร์โทรศัพท์รถพยาบาลต่างๆ ซึ่งเบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ ควรบันทึกไว้ในมือถือของเรา”
ทั้งนี้การตัดสินใจในการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น มีหลักง่ายๆคือ
1.คนช่วยเหลือปลอดภัยหรือไม่
2.สิ่งแวดล้อมรอบที่เกิดอุบัติเหตุปลอดภัยหรือไม่
3.ตัวของผู้ที่จะช่วยเหลือปลอดภัยหรือไม่
ทั้งนี้หากครบทั้ง 3 องค์ประกอบก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่หากเรายังมีสติและไม่มั่นใจว่าจะช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุคนอื่นได้หรือไม่ แนะนำให้โทรหารถกู้ชีพฉุกเฉิน 1669
ง่วงไม่ขับ เมาไม่ขับ คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม ตลอด 7 วันของการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มักจะเกิดอุบัติเหตุบนท้อนถนน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากมีวันหยุดยาวทำให้ผู้คนใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก เราจึงมีวิธีเตรียมตัวเองให้พร้อมเมื่อต้องขับขี่รถบนท้องถนน
1. ง่วงไม่ขับ
ตามประมวลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถขณะร่างกาย หรือจิตใจหย่อนความสามารถมีความผิดตาม ม.103 บทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งการง่วงแล้วขับไม่ได้เกิดเฉพาะช่วง 7 วันอันตรายเท่านั้น แต่ในชีวิตประจำวันที่แสนธรรมดาก็สามารถเกิดขึ้นได้ และเมื่อคุณเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองหรือผู้ขับรถมีอาการง่วงควรปฏิบัติดังนี้
• จอดพักเพื่องีบสัก 15-20 นาที อย่านานกว่านี้เพราะสมองจะมึนและไม่สดชื่น
•ดื่มกาแฟ เทคนิคคือให้ดื่มก่อนที่จะงีบ เนื่องจากกาแฟไม่ได้ออกฤทธิ์ทันที แต่จะออกฤทธิ์ให้หลังเมื่อ 10-15 นาทีไปแล้ว วิธีนี้เราจะตื่นพอดี และสดชื่นทันก่อนออกรถอีกครั้ง
• ร้องเพลง เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือการทำให้ปากขยับไล่ความง่วง
• งดดื่มแอลกอฮอล์คืนก่อนเดินทาง ฯลฯ
2. งดขับรถเร็ว
ส่วนใหญ่มักประมาทการขับรถบนท้องถนนด้วยการขับรถเร็ว และการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเกิดจากการขับรถเร็ว สาเหตุอาจมาจากการเร่งรีบขณะขับรถเพื่อไปถึงจุดหมายให้เร็วขึ้น หรืออาจเป็นปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันทั้ง พ.ร.บ. จราจรและ พ.ร.บ. ทางหลวง ได้เพิ่มโทษให้สูงขึ้นเป็น 10,000 บาทอีกด้วย หากคุณสามารถลดความเร็วในการขับรถ หรือกระทั่งการขับรถแซงทางโค้ง ขับรถเปลี่ยนเลนกระทันหัน การเบรครถกระทันหัน การขับรถฝ่าไฟแดง ฯลฯ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่ตัวคุณเองรวมไปถึงคนรอบข้างได้อีกด้วย
3. เมื่อเมาห้ามขับรถ
การเมาแล้วขับแป็นสาเหตุหลัก ๆ และสำคัญมากในช่วงเทศกาลที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เนื่องจากคนไทยเป็นชาติที่นิยมการสังสรรค์ และจะมากกว่าปกติหากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญ การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีผลต่ออวัยวะที่สำคัญ คือ ตับ สมอง หัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด สายตาพร่ามัว ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองช้า การตัดสินใจช้าลง และผิดพลาดง่ายขึ้นและการควบคุมอารมณ์ผิดปกติ เมื่อขับรถขณะเมาขาดสติจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเมาแล้วขับ หรือควรงดการดื่มแอลกอฮอล์เลยจะเป็นการลดอุบัติเหตุได้ดีที่สุด
4. คาดเข็มขัดนิรภัย หรือแม้แต่การสวมใส่หมวกกันน็อค
สิ่งหนึ่งที่ทุกคนพึงปฏิบัติคือ การคาดเข็มขัดนิรภัยและการสวมหมวกกันน็อค ซึ่งหากละเลยข้อนี้ไปนอกจากจะเสียทรัพย์แล้วอาจทำให้เสียชีวิตได้
5. ห้ามโทรศัพท์ขณะขับรถ
กฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ การใช้อินเทอร์เน็ต และการแชท ซึ่งการใช้โทรศัพท์มือถือไม่ว่ากรณีใด ๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หากพบการกระทำผิดจะมีโทษปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท กฎหมายข้อนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อลดการใช้โทรศัพท์เท่านั้น แต่เป็นการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย เพราะเมื่อเราใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถอาจทำให้การรับรู้ของประสาทลดลงหรือพูดง่าย ๆ ว่า แยกประสาทไม่ได้เนื่องจากในการขับรถเราใช้ทั้งสายตา หู มือและประสาทสัมผัสต่าง ๆ หากเราจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์อย่างเดียวอาจทำให้สติในการขับรถลดน้อยลงและมีโอกาสต่อการเกิดอุบัติเหตุ
6. เช็คสภาพรถก่อนสตาร์ท
ก่อนสตาร์ทรถ หรือเมื่อมีเวลาว่างควรตรวจเช็คสภาพรถเป็นประจำ เนื่องจากสภาพรถเป็นขั้นตอนพื้นฐานในการดูแลรถ ซึ่งหากขาดการดูแล และตรวจสภาพรถอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ จึงควรหมั่นตรวจเช็ครถทุกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยในขั้นแรกของการขับรถบนท้องถนน ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อตัวเรา และคนรอบข้างแล้ว ยังทำให้อายุการใช้งานรถเพิ่มขึ้นอีกด้วย
7. การไม่ประมาทและความไม่ขาดสติ
จากวิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของการไม่ประมาท และความไม่ขาดสติทั้งสิ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันหรือการขับรถบนท้องถนนก็เป็นสิ่งที่ควรระลึก และจำขึ้นใจไว้เสมอ เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจ และเป็นเครื่องป้องกันภัยกับตัวเราได้ดีที่สุด ที่พบเห็นการประมาทบ่อย เช่น หันหรือก้มไปหยิบจับสิ่งใด อย่างเช่นแว่นกันแดด แก้วน้ำ โทรศัพท์มือถือ หรืออาจรวมถึงการนำเด็กเล็กมานั่งตักเวลาขับรถ เป็นต้น เพียงแค่ละสายตาจากเส้นทางตรงหน้าก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นในขณะขับรถจึงต้องไม่ประมาท และมีสติอยู่เสมอ
อ้างอิง: โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ