พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน บางนา ร้อนสูงสุดทะลุ 53.5 องศา
พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ตั้งแต่วันที่ 26 - 28 เมษายน 2566 ชี้ บางนา "อุณหภูมิ" ร้อนสูงสุดในไทย ทะลุ 53.5 องศา
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา รายงาน พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 26 - 28 เมษายน 2566 ระบุว่า จังหวัดที่มีค่าดัชนีความร้อนสูงสุด ดังนี้
- วันที่ 26 เมษายน 2566
- วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ 43.2 องศา
- โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม 39.8 องศา
- บางนา กทม. 37.7 องศา
- ระยอง 36.7 องศา
- ภูเก็ต 42.2 องศา
- วันที่ 27 เมษายน 2566
- แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 41.4 องศา
- ศรีสะเกษ 40.5 องศา
- บางนา กทม. 48.5 องศา
- ชลบุรี 50.4 องศา
- กระบี่ 50.4 องศา
- วันที่ 28 เมษายน 2566
- เพชรบูรณ์ 45.4 องศา
- โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม 42.3 องศา
- บางนา กทม. 52.1 องศา
- ชลบุรี 51.0 องศา
- ภูเก็ต 53.5 องศา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ดัชนีความร้อน หรือ Heat Index คือ "อุณหภูมิ" ที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นว่า อากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฎในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยค่าดัชนีความร้อนสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อน หากพื้นที่ที่มีอากาศร้อนหากเกิดร่วมกับความชื้นสูงแล้วจะทำให้คนเรารู้สึกเหมือนอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศ ณ ขณะนั้น ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพ
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจง "อุณหภูมิ" สูงสุดที่วัดได้เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2566 ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาตาก อ. เมือง จ. ตาก คือ 44.6 °ซ. เป็นสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดของประเทศไทย เท่ากับสถิติเดิมที่เคยตรวจวัดได้ที่ อ. เมือง จ. แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2559 มิใช่ 45.4 °ซ. ตามที่สื่อต่าง ๆ รายงาน
ตามที่มีการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ว่าวัดอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 45.4 °ซ. เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2566 นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่มาจากระบบตรวจอากาศอัตโนมัติ (Automatic Weather Station : AWS) (www.aws-observation.tmd.go.th) ซึ่งขณะนี้เว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนา และสถานีอัตโนมัติหลายแห่งอยู่ในช่วงการปรับปรุงและสอบเทียบ ทั้งนี้ กรมฯ จะใช้ข้อมูลที่เป็นทางการและอ้างอิงได้จากข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศหลักเท่านั้น
รายงานข่าวยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นคลื่นความร้อนรุนแรงที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ กว่า 12 ประเทศในเอเชียร้อนขึ้นนั้น อ้างอิงตามที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ได้กำหนดนิยามของคลื่นความร้อน ว่าหมายถึงภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 °ซ. ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน จึงเรียกว่าพื้นที่ดังกล่าวเกิด “ปรากฏการณ์คลื่นความร้อน”
สำหรับประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานว่าพื้นที่ใดที่มีอุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงกว่าปกติอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นคลื่นความร้อน เพราะลักษณะภูมิประเทศไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีมวลอากาศร้อนจัด (ยังมีลมพัดหมุนเวียน) ไม่มีทะเลทราย มีพื้นที่อยู่ใกล้ทะเลจึงได้รับความชื้นเข้ามาปกคลุมพื้นที่ ประกอบกับการได้รับอิทธิพลจากลมต่าง ๆ ที่พัดปกคลุมพื้นที่ตลอดปี นอกจากนี้ก็ยังได้รับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดฝนตกด้วย ดังนั้น โอกาสที่จะมีความร้อนสะสมในพื้นที่จนเกิดเป็นคลื่นความร้อนจึงเป็นไปได้น้อย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนของไทยบางท่านให้ความเห็นว่าประเทศไทยอาจมีคลื่นความร้อนเกิดขึ้นได้ในอนาคดเช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันปรากฏการณ์เอลนีโญยังทวีความรุนแรง จึงทำให้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และอุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะในฤดูร้อน
สำหรับสาเหตุที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนจัดในปี 2566 เนื่องมาจากในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 ประเทศไทยมีฤดูหนาวที่ยาวนานต่อเนื่องส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง ประกอบกับมีการเผาป่าในหลายพื้นที่ จนเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าฤดูร้อนปี 2565 รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกหนึ่งประการคือการขยายตัวของเมืองซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเมษายน
กรมอุตุนิยมวิทยา เผยพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน (HI) มี 4 ระดับ ดังนี้
- สีเขียว หมายถึง ระดับเฝ้าระวัง แทนค่าดัชนีความร้อน 27-32 °C ผลกระทบต่อสุขภาพ คืออ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน
- สีเหลือง หมายถึง ระดับเตือนภัย แทนค่าดัชนีความร้อน 32-41°C ผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
- สีส้ม หมายถึง ระดับอันตราย แทนค่าดัชนีความร้อน 41-54 °C ผลกระทบต่อสุขภาพ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) ได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
- สีแดง หมายถึง ระดับอันตรายมาก แทนค่าดัชนีความร้อน มากกว่า 54 °C ผลกระทบต่อสุขภาพ จะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) โดยมีอาการตัวร้อน เวียนศีรษะ หน้ามืด ซึมลง ระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตได้หากสัมผัสความร้อนติดต่อกันหลายวัน