22 พ.ค. 66 ไทยเข้าสู่ 'ฤดูฝน' วันแรก เช็กเดือนไหนฝนตกเยอะที่สุด?
วันที่ 22 พฤษภาคม กรมอุตุฯ ประกาศ ประเทศไทยเข้าสู่ “ฤดูฝน” ปี 2566 อย่างเป็นทางการแล้ว อีกทั้งยังมีรายงานคาดการณ์เกี่ยวกับ “สภาพอากาศ” ที่อาจทำให้ปริมาณฝนบริเวณประเทศไทย มีค่าต่ำกว่าค่าปกติ และปริมาณน้ำฝนตั้งแต่เดือน พ.ค. - ต.ค. 2565
โบกมือลา "ฤดูร้อน" ปี 2566 และต้อนรับ "ฤดูฝน" ปี 2566 เพราะ "กรมอุตุนิยมวิทยา" ประกาศเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 และฤดูกาลแห่งความชุ่มฉ่ำนี้จะยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม 2565
- เงื่อนไขเข้าสู่ "ฤดูฝน"
เนื่องจากการคาดการณ์ "สภาพอากาศ" พบว่า จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของ ประเทศไทยในปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุป "ฤดูฝน" ประเทศไทย ปี 2566 มี "สภาพอากาศ" และคาดการณ์ ปริมาณน้ำฝน แต่ละเดือนเป็นอย่างไรบ้าง ? ดังนี้
- ปริมาณฝนปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?
ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วง "ฤดูฝน" ปีนี้ จะน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5 และน้อยกว่าปี 2565 ที่ผ่านมา (ฤดูฝนปี 2565 ปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติ 14%)
ช่วงแรกฤดูฝนปีนี้ การกระจายและปริมาณของฝนอาจจะไม่สม่ำเสมอ ปริมาณฝนส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อย ถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ช่วงปลายเดือน ฝนเกิดขึ้นได้ช่วงบ่าย-ค่ำ พอจะคลายความร้อนได้บ้าง
- เดือนพฤษภาคม 2566
ฤดูฝนเริ่มแล้ววันนี้ (22 พ.ค. 66) ลมได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีฝน/ฝนฟ้าคะนอง มีเมฆเพิ่มขึ้น วิเคราะห์ลมระดับล่างได้เป็นแนวคุ้งหรือแนวโค้งของลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้เริ่มพัดปกคลุม และคาดว่าจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคอีสาน และเคลื่อนตัวปกคลุมบริเวณภาคกลาง
ช่วงวันที่ 26 -29 พ.ค.66 จะทำให้ประเทศไทยมีฝนต่อเนื่อง "ฤดูฝน" ปีนี้ การกระจายและปริมาณของฝนอาจจะไม่สม่ำเสมอ ปริมาณฝนส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อย ถึงปานกลาง และมีตกหนักบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ช่วงปลายเดือน ฝนเกิดขึ้นได้ช่วงบ่าย-ค่ำ
- เดือนพฤษภาคม -มิถุนายน 2566
ช่วงปลายพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับใน บางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง กับจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง
- เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566
ช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม มักจะเกิดสภาวะ "ฝนลดลงหรือฝนทิ้งช่วง" อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน
- เดือนสิงหาคม และกันยายน 2566
ซึ่งเป็นช่วงที่จะมี ฝนตกชุกหนาแน่น ที่สุด มีโอกาสสูงที่จะมี "พายุหมุนเขตร้อน" เคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่
- เดือนตุลาคม 2566
บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี "ฝนลดลง" และเริ่มจะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า โดยเฉพาะตอนบนของภาค
บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป กับมีฝนตกหนักหลาย พื้นที่และหนักมากในบางแห่ง
หมายเหตุ : "พายุหมุนเขตร้อน" จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูกโดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน
ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา