'ทุเรียน' ยืนต้นตายนับ 1,000 ต้น เพชรบุรีแล้งหนัก ขาดน้ำอุปโภคบริโภค
เพชรบุรีแล้งหนัก "ทุเรียน" ยืนต้นตายนับ 1,000 ต้น ชาวบ้านขาดน้ำอุปโภคบริโภค วอนหน่อยงานช่วยเหลือ
ทุเรียนยืนต้นตาย ขาดน้ำอุปโภคบริโภค ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่นได้รับแจ้งจากนายณัฐพงษ์ พวงประเสริฐ์ อายุ 36 ปี ชาวบ้านพื้นที่ ม.9 บ้านปางไม้ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พร้อมด้วย นายเพลิน ฤทธิ อายุ 59 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ม.1บ้านป่าเด้งเหนือ , ชาวสวนทุเรียน และชาวบ้านในพื้นที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่าขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากแม่น้ำปราณบุรีและลำห้วยโสก พื้นที่ ม.1 บ้านป่าเด็งเหนือ ม.9 , บ้านปางไม้ ม.8 , บ้านเขาแหลม และพื้นที่ ม.10 บ้านป่าผาก ต.ป่างเด็ง อ.แก่งกระจาน รวม 4 หมู่บ้าน น้ำแห้งขอด
ชาวสวนไม่มีน้ำใช้ทำการเกษตรและทำการปศุสัตว์เลี้ยงโคนม วัว เสียหายเป็นวงกว้าง โดยมีต้นทุเรียนยืนต้นตายกว่า 1,000 ต้น ลูกทุเรียนไม่สมบูรณ์ตกหล่นเสียหาย ต้นเงาะใบไหม้กำลังจะยืนต้นตาย รวมทั้งพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ เริ่มแห้งเหี่ยว เนื่องจากไม่มีน้ำทำการเกษตร อีกทั้งบ่อน้ำที่ชาวสวนขุดไว้กักเก็บน้ำใช้ก็แห้งลง จึงฝากวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือด่วน
นายเดช ทับจิตย์ อายุ 65 ปี ชาวสวนทุเรียน ม.1 บ้านป่าเด็งเหนือ เปิดเผยว่า ปีนี้ชาวบ้านประสบปัญหาภัยแล้งหนัก น้ำในแม่น้ำและลำห้วยแห้งทั้ง 2 ฝั่ง ไม่มีน้ำใช้ทำการเกษตร ผลผลิตทุเรียนไม่เติบโตไม่สมบูรณ์ ยืนต้นตายไปหลายสิบต้น จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งเข้ามาช่วยเหลือ ขุดสระน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำ
ด้านนางคำพอง โสวาธี อายุ 63 ปี ชาวบ้านพื้นที่ ม.10 บ้านป่าผาก ที่ปลูกพืชสวน เล่าว่า ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำแห้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำปราณบุรีลงไปปลายน้ำ ปกติให้น้ำในลำห้วยต้นน้ำปราณบุรีใช้ทำการเกษตรอยู่ประจำ แต่ปัจจุบันน้ำแห้งขอดหมดแล้ว คงต้องคอยฝนตกลงมา เพราะน้ำในลำห้วยไม่มีให้ใช้แล้ว ขนาดในถังยังไม่มีน้ำหุงข้าวกิน
ส่วนนายณัฐพงษ์ พวงประเสริฐ์ อายุ 36 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์น้ำในพื้นที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน ฝนทิ้งช่วงมาหลายเดือนแล้ว ไม่มีตกลงมาเลย ชาวบ้านในพื้นที่มีการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นปลูกพืชผสมผสาน ทุเรียน เงาะ กล้วย ขนุน เป็นต้น และต้องใช้น้ำเป็นตัวหลักในการเพาะปลูก ขณะนี้สถานการณ์น้ำในพื้นที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเกษตรกรบางรายที่มีกำลังทรัพย์ก็ขุดลอกลำห้วยเพื่อเอาน้ำไปใช้ในที่ของตัวเองได้เป็นบางรายเท่านั้น ชาวบ้านส่วนมากทาง อบต.ป่าเด็ง ได้ดำเนินการส่งน้ำให้ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค แต่ภาคการเกษตรน้ำยังไม่เพียงพอ ในพื้นที่โซนล่าง ม.5 ม.6 ม.7 ม.2ม.3 ม.4 เป็นพื้นที่ปศุสัตว์ เป็นโครงการสหกรณ์โคนม วัว เป็นหลัก หากสถานการณ์น้ำยังแล้งอยู่แบบนี้ อาจนำไปสู่วิกฤติโรคระบาดได้ในอนาคต
ทั้งนี้ในตำบลป่าเด็งมี 10 หมู่บ้าน พื้นที่ที่วิกฤติคือ ม.10 บ้านป่าผาก และ ม.8 บ้านเขาแหลม เพราะอาศัยแม่น้ำห้วยโสกอย่างเดียว บางจุดขุดลงไปกว่า 4 ชั่วโมงยังไม่เจอน้ำ ชาวบ้านปลูกขนุน ปลูกทุเรียน พอน้ำแห้งลง ต้นทุเรียน ขนุน ยืนต้นตายเป็นจำนวนมากแล้ว ซึ่งอัตราน้ำที่ไหลมาเติมในลำห้วยไม่เพียงพอ บางจุดสูบน้ำได้เพียง 5-10 นาที น้ำก็หมดแล้ว หากไล่ระดับลงไปพื้นที่นี้คือพื้นที่ป่าต้นน้ำปราณบุรี พอไหลลงไป ม.7.-6-5-4-3-2 ต่างใช้น้ำในลำน้ำปราณบุรีเป็นหลัก
หากพื้นที่ต้นน้ำดึงน้ำไปใช้ในภาคการเกษตรและครัวเรือน ในเร็ววันนี้พื้นที่ด้านล่างคงหนีไม่พ้นเรื่องปริมาณน้ำใช้ไม่เพียงพอแน่นอน ชาวบ้านทั้ง 10 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 7,000 ราย ประมาณ 2,500-3,000 ครัวเรือน คงไม่มีน้ำใช้ทำเกษตรและอุปโภคบริโภคแน่นอน