เช็ก 4 แนวทาง แก้ไขปัญหา เด็ก-เยาวชน คดียาเสพติด หลังการปล่อยตัว
วช.-รร.นรต. เสนอ 4 แนวทาง แก้ไขปัญหา เด็ก-เยาวชน คดียาเสพติด หลังการปล่อยตัว ไม่หวนกลับ ย้ำ พ่อแม่ ร่วมรับผิดชอบ ถ้าละเลย ต้องมีบทลงโทษ
เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จัดประชุมถ่ายทอดผลการวิจัย 'โครงการการพัฒนาความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนในคดียาเสพติดภายหลังการปล่อยตัว' ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จนนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหากระทำความผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนในคดียาเสพติดภายหลังการปล่อยตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'นวัตกรรมการตรวจสารเสพติดในเส้นผม' เครื่องมือป้องกันยาเสพติดในเด็ก
หยุด! เด็ก-เยาวชน กระทำผิดซ้ำ ดัน 3 แพลตฟอร์ม 8 นวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย
แนวทางแก้ปัญหาเด็ก-เยาวชน คดียาเสพติด หลังการปล่อยตัว
ผศ.พ.ต.ท.หญิง ดร.วาชิณี ยศปัญญา อาจารย์ (สบ 3) กลุ่มงานคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากผลการวิจัยพบ 3 ปัญหาหลัก ได้แก่ 1) คณะกรรมการการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดยังไม่ครอบคลุมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ 2) ความรับผิดชอบของพ่อแม่ ผู้ปกครอง 3) ปัญหาการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางกฎหมายระหว่างภาครัฐและเอกชน จากประเด็นปัญหาที่พบคณะผู้วิจัยเห็นควรมีการปรับปรุงแก้ไขในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม 4 แนวทาง ดังนี้
1) ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ.2561 มาตรา 5 โดยให้คณะกรรมการการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเพิ่มเติม จากเดิมมีคณะกรรมการฯ 16 หน่วยงาน เพิ่มเติมอีก 10 หน่วยงาน รวมเป็น 26 หน่วยงาน โดยให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนด้านงบประมาณ
2) เพิ่มเติมบทกำหนดโทษในประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 164/1 กำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ต้องรับผิดด้วย หากเด็กและเยาวชนกระทำความผิดซ้ำในคดียาเสพติด
3) เห็นควรจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาครัฐและเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 26 หน่วยงาน ในการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการบำบัดรักษายาเสพติด ด้านการป้องกันยาเสพติด ด้านงบประมาณ ด้านการพัฒนาอาชีพ ด้านการจ้างงาน ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการพัฒนาจิตใจ หรือสนับสนุนส่งเสริมด้านอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร
4) จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนในคดียาเสพติดภายหลังการปล่อยตัว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมฯ
ทุกภาคส่วนพร้อมดูแลป้องกันเด็กและเยาวชนยาเสพติด
พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาในหัวข้อ 'แนวทางการพัฒนาความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนภายหลังการปล่อยตัว' ว่า สถานีตำรวจเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติงานในการบูรณาการเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนทำผิด โดยแต่ละท้องที่ต้องมีข้อมูลว่าเด็กเยาวชนที่ปล่อยตัวมาจากคดียาเสพติดมีจำนวนกี่ราย ซึ่งต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หลังจากนั้นจึงดำเนินการเฝ้าระวังร่วมกับชุมชนและครอบครัวของเด็กและเยาวชน เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นกลับเข้ามาสู่กระบวนการทางคดีอีก
นายธนเสฏฐ์ อ่อนละเอียด อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงประเด็นความรับผิดชอบของบิดามารดาหรือผู้ปกครองในกรณีที่บุตรหลานซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนกระทำความผิดซ้ำ ว่าปัจจุบันมีมาตรการทางกฎหมายตามคำสั่ง คสช. ที่ 22/2558 บังคับใช้ในกรกณีการกระทำผิดในลักษณะ 'เด็กแว้น' ส่วนการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดคงต้องพิจารณามาตรการอื่นๆ ตามความเหมาะสม เนื่องจากยังไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำโครงการ 'คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน' ซึ่งขับเคลื่อนโดยสถาบันนิติวัชร์ที่เน้นกระบวนการเฝ้าระวังไม่ให้เด็กและเยาวชนกลับไปกระทำผิดซ้ำ โดยให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมดูแลบุตรหลานของตนเองผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านกลุ่มไลน์ การเรียนรู้เทคนิคการสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว เป็นต้น
ด้านนายชนันตชัย พฤกษ์สุกาญจน์ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองสามพราน จ.นครปฐม กล่าวเสริมในเรื่องความรับผิดชอบของบิดามารดาหรือผู้ปกครองว่า อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองมีความตระหนักในการใส่ใจดูแลบุตรหลานมากขึ้น
ทั้งนี้ หากต้องผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงกฎหมาย ต้องมาพิจารณาถึงองค์ประกอบของมาตรการและแนวทางการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสม จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้วิจัยสามารถต่อยอดการศึกษาในระยะต่อไปได้ ประเด็นสำคัญ หากจะจัดการกับปัญหาการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนให้เกิดประสิทธิภาพและเห็นผลในระยะยาว หน่วยงานปลายน้ำของกระทรวงยุติธรรมคือ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เพราะหน่วยงานเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดครอบครัวและตัวเด็กและเยาวชนมากที่สุด