วันแม่ 'แม่เลี้ยงเดี่ยว'ไม่ใช่ปมด้อย ยืนหยัดเลี้ยงลูกคนเดียวก็ทำได้

วันแม่ 'แม่เลี้ยงเดี่ยว'ไม่ใช่ปมด้อย ยืนหยัดเลี้ยงลูกคนเดียวก็ทำได้

'วันแม่' ประเทศไทยมีครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวสูงถึง 1.5 ล้านครอบครัว คิดเป็น 7 % จากครอบครัวทั้งหมด แต่ใช่ว่าการเป็น 'แม่เลี้ยงเดี่ยว'จะยืนหยัดเลี้ยงลูกคนเดียวให้ดีไม่ได้

แม่ปู- วิลาวัณย์ อ่อนคำ แม่เลี้ยงเดี่ยว เล่าว่า เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวตอนที่ลูกชายคนโตอายุได้ 2 ขวบ 3 เดือน โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายคนละครึ่งกับพ่อของลูก และออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเองในส่วนที่ต้องการเสริมพัฒนาการ และเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอีกครั้งหลังตั้งท้องลูกชายคนเล็ก รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

"ช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยจิตวิญญานของความเป็นแม่ทำให้่ตัดสินใจว่า การเลี้ยงลูกคนเดียวน่าจะมองเห็นทิศทางอนาคตที่ดีของลูก” ที่ผ่านมาได้เพราะพึ่งธรรมะเข้าวัดปฏิบัติธรรมและมี “กลุ่มเพื่อนดีดูแล” ตอนเย็นจะชวนไปทานข้าว อยู่เป็นเพื่อนไม่ให้เหงา ความทุกข์ใจก็จะน้อยลง จนกระทั่งพาไปคลอด

 ลาออกพร้อมหนี้แต่เพื่อลูก

เมื่อลูกชายคนโตอายุ 3 ขวบวัยเรียนอนุบาล แม่ปูพบว่าลูกมีอุปสรรคในการเรียนจากความพิเศษของตัวเขา “แม่ปู”จำเป็นต้องตัดสินใจครั้งใหญ่เพื่อลูกอีกครั้ง ด้วยการลาออกจากงานประจำที่เป็นโปรดิวเซอร์ทีวีทำละคร มาพร้อมกับหนี้นับล้านบาท ”จึงไม่เป็นแค่แม่เลี้ยงเดี่ยวธรรมดา แต่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นฟรีแลนซ์อีกด้วย" เพื่อมาดูแลลูก และปั้นพัฒนาการลูกด้วยตัวเอง โดยการสอนลูกอ่านหนังสือเองทุกอย่าง

การเลี้ยงลูกในวัย 0-3 ขวบสำคัญมาก แต่ด้วยความเป็นฟรีแลนซ์ทุกที่ที่ไปทำงานก็จะพาลูกไปด้วย ทั้งในที่ประชุม กองถ่าย และบางครั้งประชุมก็จะเลือกที่อยู่ใกล้ร้านหนังสือก็จะฝากลูกไว้กับพนักงานในร้านหนังสือ ให้เลือกดูนิทาน อยากได้เล่มไหนก็จะซื้อกลับบ้าน 1 เล่ม จน 3 ขวบครึ่งลูกอ่านหนังสือ ป.1 จบแล้ว

  จากเด็กที่เกือบตามหลัง ปรากฏว่าแค่ 3 ปีกลับมีพัฒนาการที่ล้ำกว่าวัยเดียวกันมาก สอบเข้าสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรได้ตอนอายุ 5 ขวบครึ่งจากเด็กสอบเกือบ 3,000 คนรับเด็กสอบได้เองเพียง 130 คน และเมื่อเรียนป.3 ครูสังเกตเห็นและเชิญให้ไปทดสอบอีคิวและไอคิว ปรากฎว่าได้อัจฉริยะด้านภาษา ส่วนอีคิวก็ดีเพราะเลี้ยงลูกมาในหมู่เพื่อน ทำให้ลูกเข้าได้กับทุกคน

วันแม่ \'แม่เลี้ยงเดี่ยว\'ไม่ใช่ปมด้อย ยืนหยัดเลี้ยงลูกคนเดียวก็ทำได้

 แม่ต้องเชื่อมั่นในตัวของลูก

        แม้จะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ด้วยความเชื่อว่า “อัจฉริยะปั้นได้” กลายเป็นพลังบวก และมองว่าไม่ใช่ปัญหา ทำงานไปด้วย ปั้นพัฒนาการลูกไปด้วยการอ่านหนังสือเป็นเพื่อนลูก พาไปสวนรถไฟ ไปร้านหนังสือที่ให้อ่านฟรี ก็เลือกนิทานมานั่งอ่านด้วยกันและสอนอ่าน ส่วนการสอนคณิตศาสตร์ จะอาศัยช่วงนั่งรถกลับบ้านแล้วรถติดก็สอนบวก ลบ จากทะเบียนรถ และเลขตอม่อ ที่ทอดเป็นแนวยาวตามถนนเกษตร นวมินทร์ ซึ่งเป็นเส้นทางกลับบ้าน ป้ายชื่อถนนก็เป็นสิ่งฝึกอ่านของลูก รวมถึง ให้ลูกดูซีดีการ์ตูนเด็กที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่กันไป

 “มองลูกเป็นความหวังและความฝัน คือ ทำให้เรามีพลังที่จะเติมในสิ่งที่ลูกฝัน เห็นลูกมีความสุข เดินตามฝันไปเรื่อยๆ เพราะความรักของแม่ไม่มีข้อแม้ใดๆสำหรับลูก พร้อมให้ได้ทุกอย่าง”แม่ปูกล่าว

 

ลูกรับรู้ทุกอย่างทำให้เข้าใจแม่

    ด้วยความเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีอะไรก็จะพูดกับลูกตรงๆ แม่ปู บอกว่า ความพร้อมไม่ได้มีมาก ลูกก็จะเข้าใจในสิ่งที่แม่เป็น เพราะจะเล่าให้ลูกฟังเลยว่าเดือนนี้เงินที่บ้านมีเท่าไหร่ ต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง และลูกก็จะถามว่าบ้านราคาเท่าไหร่ ต้องผ่อนเท่าไหร่ ทำให้ลูกไม่ใช่เด็กที่ตามกระแสหรือแฟชั่น เพราะเค้าได้เรียนรู้ อยู่แบบพอเพียงตามที่เห็นแม่ ทำงานตลอด

        การเป็นเด็ก 2 บ้าน ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตร่วมกันของ “แม่-ลูก” ก็จะใช้วิธีแบ่งเวลา เช่น จันทร์-ศุกร์ จะอยู่กับแม่ และเสาร์-อาทิตย์อยู่กับพ่อ เป็นแบบนี้มาตลอดจนถึงตอนนี้ และลูกบอกว่า เขาเป็นเด็ก 2 บ้านที่มีความสุขที่สุด เพราะเป็นเด็กที่ทุกคนก็ต้องการ และหากนอกเหนือจากโปรแกรมนี้จะต้องจองคิวล่วงหน้า เช่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากแม่พาลูกกลับบ้านต่างจังหวัด พอช่วงเทศกาลปีใหม่ต้องเป็นคิวบ้านพ่อ

วันแม่ \'แม่เลี้ยงเดี่ยว\'ไม่ใช่ปมด้อย ยืนหยัดเลี้ยงลูกคนเดียวก็ทำได้

    “พลังใจที่รู้สึกดีเมื่อลูกเข้าใจเรา ไม่ได้มองว่าขาดพ่อมีแต่แม่แล้วเป็นปมด้อย เป็นสิ่งที่ภูมิใจในลูกตัวเอง ไม่ใช่เรื่องความเก่ง แต่มองเรื่องทัศนคติและจิตใจ เพราะเลี้ยงลูกแบบอะไรก็ได้ขอแค่ให้มีความสุข แต่ต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เป็นสิ่งที่พยายามสอนลูก รวมถึง ให้เรียนรู้ธรรมะด้วยการพาเข้าวัด บวชเรียนสามเณร ทำให้ลูก 2 คนที่อายุห่างกัน 4 ปีเป็นเด็กที่จิตใจดีทั้งคู่และแม้จะคนละพ่อแต่เป็นพี่น้องที่รักกันมาก จากการที่สอนให้พี่ดูแลน้องแทนพ่อแม่ได้ และสอนให้น้องเคารพพี่เหมือนพ่อแม่”แม่ปูกล่าว

        ปัจจุบันลูกคนเล็กเรียนอยู่ม.3 สาธิตม.เกษตรฯ ลูกคนโตเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) และสามารถพูดได้ 3 ภาษา ไทย อังกฤษและญี่ปุ่น สอบเขียนภาษาญี่ปุ่นได้อันดับ 1 ของประเทศ มีความฝันอยากไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เพราะชอบวาดภาพ วาดการ์ตูน ทำแอนิเมชันได้ และวางแผนจะสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่นั่น

     ขณะที่แม่ปูยังเป็นโปรดิวเซอร์ฟรีแลนซ์ มีเพจมนุษย์ป้าพาตะลุย และเปิดร้านนวดเพื่อสุขภาพที่ซอยโยธินพัฒนา 3 ชื่อ “คาเฟ่นวดไทย”  โดยมองว่าจะเป็นอาชีพของตัวเองในอนาคต หลังจากส่งลูกเรียนจบหมดแล้ว ก็จะให้ลูกไปใช้ชีวิตของตัวเอง ไม่อยากเป็นภาระลูก และอยู่แบบพอเพียง

     “อยากบอกแม่เลี้ยงเดี่ยวว่า อย่ามองการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวคือปมด้อย แต่คือโอกาสที่จะได้ทุ่มจิตวิญญาณเพื่อลูกแล้วให้เขาเติบโตแข็งแรง ตามสิ่งที่เราปั้นพัฒนาการเขาขึ้น โดยมองที่ลูกว่าไหวแค่ไหน แล้วเป็นพลังบวกให้มีแรงผลักดันมากขึ้น แล้วจะฮึดสู้โดยที่ลูกก็ไม่รู้ตัว”แม่ปูกล่าว

วันแม่ \'แม่เลี้ยงเดี่ยว\'ไม่ใช่ปมด้อย ยืนหยัดเลี้ยงลูกคนเดียวก็ทำได้

แพลตฟอร์มหัวอกเดียวกัน

      ปัจจุบันมี “แพลตฟอร์มหัวอกเดียวกัน สำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว” หนึ่งในนวัตกรรมสุขภาพของโครงการ HealthTecH X จาก 23 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือก ในโครงการพัฒนารูปแบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นแพลตฟอร์มเรียนรู้สำหรับกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัว โดยคนหัวอกเดียวกัน ที่ผ่านประสบการณ์นั้นมาได้ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพกายและจิตให้แข็งแรง

          วรชัย ญาติอยู่ ทีม Online Group Sharing แพลตฟอร์มหัวอกเดียวกัน บอกว่า กลุ่มเป้าหมาย คือ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวโฟกัสแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อยู่กับลูกต้องทำทั้งงานและดูแลลูกอยู่ในเมืองเป็นหลัก ซึ่งจะมีความเครียดสะสมสูงมาก รวมถึง จัดการเวลา ปัญหาตัวเองไม่ค่อยได้ดีนัก แต่สนใจอยากเลี้ยงลูกให้ดีขึ้น ให้มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และอยากหาเพื่อนที่เข้าใจหัวอกเดียวกันจริงๆ เพื่อปรึกษาและรับมือปัญหาไปด้วยกัน

         มีการนำแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีศักยภาพในการที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ นำองค์ความรู้ที่เป็นประสบการณ์ถอดออกมาเป็นเนื้อหา เทคนิค ประสบการณ์ และนำมาเสริมด้วยทักษะการเป็นกระบวนกรมืออาชีพ โดยแม่ทุกคนมีหลักสูตรเรียนรู้ของตัวเอง แล้วเจอกับคุณแม่ที่มีปัญหาเหมือนกันในแพลตฟอร์มหัวอกเดียวกันในรูปแบบออนไลน์กรุ๊ปแชริ่ง ผ่านไลน์ออฟฟิเชียล ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ toolmorrow

    “ผู้เรียนเข้าไปสมัคร ทำแบบประเมินเพื่อที่ระบบจะแมชชิ่งให้ตามผู้ที่มีปัญหาคล้ายกัน ช่วงอายุแม่ อายุลูกใกล้กัน จะปรากฎผู้นำกลุ่ม 3 คนที่ใกล้เคียงที่สุด แล้วเข้าไปดูประวัติโปรไฟล์ ก่อนจะไปเจอกันในไลน์กรุ๊ป เรียนรู้แบบนี้ 1 ชั่วโมงครึ่ง ทุกวัน 8 ครั้งต่อเนื่องกันไปจนจบ และมีการประเมินผล ติดตาม เก็บข้อมูล จากที่มีผู้สมัคร 254 คน เข้าเรียน 90 คน เรียนจบ 65 คน อัตราการเรียนจบคิดเป็น 72 % ซึ่งผลพบว่าการจัดการอารมณ์ดีขึ้น 84 % และสัมพันธภาพดีขึ้น 85 % ”วรชัยกล่าว