กรมอุตุฯ เผยเส้นทางพายุ 3 ลูก พายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่นกำลังแรง

กรมอุตุฯ เผยเส้นทางพายุ 3 ลูก พายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่นกำลังแรง

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทางพายุ 3 ลูก ประกอบด้วย พายุไต้ฝุ่นเซาลา , พายุโซนร้อนไห่ขุย (HAIKUI) และพายุดีเปรสชั่นก่อตัวใหม่

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดต เส้นทางพายุ 3 ลูก เช้าวันนี้ (30 ส.ค.2566) ประกอบด้วย พายุไต้ฝุ่นเซาลา , พายุโซนร้อนไห่ขุย (HAIKUI) และพายุดีเปรสชั่นก่อตัวใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังแรงขึ้น

เส้นทางพายุเช้าวันนี้ จาก RSMC โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นขณะนี้ บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก มีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้น 3 ลูก ได้แก่ 

1.พายุไต้ฝุ่น "เซาลา" กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก (ทางตอนใต้เกาะไต้หวัน)

2.พายุ โซนร้อน "ไห่ขุย (HAIKUI)" กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ

3.พายุดีเปรสชั่น ก่อตัวใหม่ คาดว่าจะมีกำลังแรงขึ้น

พายุทั้ง 3 ลูก ยังอยู่ห่างและไม่มีแนวโน่วเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย จึงยังไม่มีผลกระทบในขณะนี้

 

 

ภาพถ่ายดาวเทียมและเรดาร์แบบเคลื่อนไหวเช้าตรู่วันนี้พบว่า มีเฆฆ/ฝน ปกคลุมบริเวณ ภาคอีสาน ภาคกลาง ตามแนวร่องมรสุม

 

กรมอุตุฯ เผยเส้นทางพายุ 3 ลูก พายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่นกำลังแรง

 

สำหรับ พายุไต้ฝุ่นเซาลา (SAOLA) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหรือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. - 1 ก.ย.2566

และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ในช่วงวันที่ 2 - 4 ก.ย.2566 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขณะที่ กรุงเทพและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีทะเลคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กในบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย