กม.ควบคุมแอลกอฮอล์ไทยไม่สุดโต่ง ชงปรับแยกร้านค้าปลีกกับร้านนั่งดื่ม

กม.ควบคุมแอลกอฮอล์ไทยไม่สุดโต่ง ชงปรับแยกร้านค้าปลีกกับร้านนั่งดื่ม

นักวิชาการนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลกยัน  กฎหมายควบคุมของไทยไม่สุดโต่ง ชงปรับปรุงระบบในอนุญาตแยกร้านค้าปลีกกับร้านนั่งดื่ม   มองนโยบายสุราก้าวหน้าลดข้อจำกัดในการผลิตจะสามารถปลดล็อกเรื่องสุราได้

ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ นำคณะทำงานลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย ประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮออล์ เข้าพบนักวิชาการด้านนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยในกระแสเสรีประชาธิปไตย

ในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ Inter-country learning for implementing high-impact interventions on addressing alcohol-related harms ให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียใต้ตะวันออกระหว่างวันที่ 22 – 25 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รับไม่ได้ “ห้ามดื่ม” เหล้าเบียร์ ฯ ชี้ร่างพ.ร.บ.ใหม่อุปสรรคเศรษฐกิจ-ธุรกิจ

Hang Over Forum เมื่อความเมาของเราไม่เท่ากัน

 

กม.สุราไทยไม่สุดโต่ง แนะออกนโยบายให้ครอบคลุม

​ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่าสาระสำคัญหลักจากการประชุมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ได้แก่

1) ประเทศไทยถือว่ามีความสำเร็จในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสะท้อนจากปริมาณการบริโภคในรอบทศวรรษที่ผ่านมาที่ค่อนข้างคงที่และมีแนวโน้มลดลงในช่วงหลัง ทั้งที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น GDP ของประเทศสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปริมาณบริโภคของหลายประเทศในภูมิกาคเอเชียที่ไม่มีนโยบายแอลกอฮอล์จะพบว่ามีการบริโภคแอลกอฮอล์มีแนวโน้มสูงขึ้น

2) การพิจารณาการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อลดผลกระทบจากแอลกอฮอล์อาจแบ่งเป็นสามช่วงหลักตามห่วงโซ่การผลิตจนถึงหลังการบริโภค ได้แก่ การกำกับในการผลิต การกำกับในการขายหรือกระจายสินค้าซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการขายและการโฆษณา และการกำกับพฤติกรรมหลังการดื่มของนักดื่ม  รัฐควรต้องพัฒนานโยบายให้ครอบคลุมในทุกขั้นตอนเพื่อลดผลกระทบผ่านกลไกต่าง ๆ

กม.ควบคุมแอลกอฮอล์ไทยไม่สุดโต่ง ชงปรับแยกร้านค้าปลีกกับร้านนั่งดื่ม

3) ผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้บริการแอลกอฮอล์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ควรมีบทบาทในการลดผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ได้แก่ มาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การเสียภาษี การจำกัดการส่งเสริมการขายต่อกลุ่มประชากรเปราะบางต่อการเกิดปัญหาจากการบริโภค ในที่นี้ เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้หญิง กลุ่มนักดื่มที่ดื่มหนักและติดสุรา เป็นต้น    


นโยบายสุราก้าวหน้า ปลดล็อกข้อจำกัดในการผลิต 

4) จุดอ่อนที่สำคัญของประเทศไทยในการจัดการปัญหาคือการควบคุมคุมการเข้าถึงทางกายภาพ ควรต้อง”ทบทวนระบบใบอนุญาตขายและบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” แบ่งประเภทใบอนุญาตตามสถานที่ที่มีที่นั่งดื่ม (on premise) และสถานที่ไม่มีที่นั่งดื่ม (off premise) ซึ่งสองประเภทเกี่ยวข้องกับการผลกระทบของการดื่มแตกต่างกัน กระบวนการออกใบอนุญาต คุณสมบัติผู้ประกอบการ ค่าธรรมเนียมและการต่ออายุในอนุญาตแต่ละควรออกแบบให้สะท้อนมิติการจำกัดการเข้าถึงของผู้บริโภคและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการต่อปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการดื่มด้วย  

5) ประเทศไทยควรยกระดับมาตรการภาษีสุราและการควบคุมกิจกรรมการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรพิจารณาสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อจัดการปัญหาที่เป็นประเด็นข้ามพรมแดน เช่น การโฆษณาทางสื่อ ดิจิตัล การค้าและลงทุนระหว่างประเทศ  
 
ศ.แซลลี่ แคสเวล ประธานของ Global Alcohol Policy Alliance (GAPA) ได้ให้ข้อมูลว่า จากการศึกษา 'ดัชนีความเข้มงวดของนโยบายแอลกอฮอล์ (Stringency index)' ใน 10 ประเทศทั่วโลกทั้งประเทศรายได้สูง ปานกลาง และต่ำโครงการวิจัย International Alcohol Control Policy Evaluation Study ประเทศไทยมีระดับความเข้มงวดของนโยบายแอลกอฮอล์โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มาตรการหลายอย่างเป็นการควบคุมเพียงบางส่วน

กม.ควบคุมแอลกอฮอล์ไทยไม่สุดโต่ง ชงปรับแยกร้านค้าปลีกกับร้านนั่งดื่ม

โดยมีอีกหลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยที่สามารถปรับปรุงและยกระดับความเข้มงวดได้เพื่อให้ลดปัญหาผลกระทบได้มากขึ้น เช่น ระบบใบอนุญาตขายแอลกอฮอล์ในต่างประเทศมีการแบ่งใบอนุญาตจำหน่ายของร้านค้าปลีก ออกจากใบอนุญาตของร้านที่มีที่นั่งดื่มเนื่องจากมีระดับความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบแตกต่างกัน

"เมื่อถามถึงข้อเสนอนโยบายสุราก้าวหน้า ซึ่งเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีการลดข้อจำกัดในการผลิต โดยที่ยังสามารถรักษามาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และเกิดประโยชน์กับกลุ่มเกษตรกรนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี” ศ.แซลลี่ กล่าว

แต่วิธีที่จะช่วยให้การบริโภคและผลกระทบจากการดื่มไม่เพิ่มขึ้นนั้นจำเป็นต้องมีการควบคุมโดยใช้ มาตรการทางภาษี ซึ่งอาจจำเป็นต้องขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิต  การจำกัดการโฆษณา และการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่กันไปด้วยจึงจะช่วยควบคุมไม่ให้ผลกระทบจากการดื่มเพิ่มขึ้นได้ และที่สำคัญปัญหาแอลกอฮอล์อย่ามองแค่เรื่องเมาแล้วขับอย่างเดียว เพราะกระทบทั้งมิติสุขภาพ  สังคม ครอบครัว ความรุนแรงรวมถึงอาชญากรรมด้วย