กรมอุตุฯ จับตาหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง อาจส่งผลกระทบไทย 26-29 ก.ย.นี้
กรมอุตุนิยมวิทยา จับตาหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง อาจส่งผลกระทบไทย 26-29 ก.ย.นี้ ทำให้ยังมีฝนเพิ่มขึ้น ตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
เมื่อวันที่ 24 กันยายน เพจ weatherradio ของกรมอุตุนิยมวิทยา โพสต์ข้อความระบุว่า วิเคราะห์แผนที่อากาศผิวพื้น เวลา 01.00 น. ภาพถ่ายดาวเทียมเช้าวันนี้ (24 ก.ย.66) ยังต้องติดตาม หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางตะวันตก ตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ของไทย ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับสภาพอากาศของไทยในวันที่ 26 -29 ก.ย.66
ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมรับมือโดยเริ่มทางภาคอีสานก่อน ส่วนภาคใต้มรสุมที่พัดปกคลุมจะมีกำลังแรงขึ้น ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ขณะที่ พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 24 ก.ย.- 3 ต.ค.66 อัปเดต จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ระบุว่า
ช่วงวันที่ 24 -25 ก.ย.66 ฝนบริเวณประเทศไทยตอนบน เกิดขึ้นได้บางแห่ง ลดลงจากช่วงที่ผ่านมา ทิศทางยังแปรปรวน มีลมทิศเหนือ ลมตะวันออก พัดปกคลุม เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศเปลี่ยนแปลงระวังสุขภาพ ฝนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล
ส่วนภาคใต้ยังเป็นด้านรับมรสุม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพัดปกคลุม ประกอบมีแนวร่องมรสุมผ่านภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ภาคใต้ยังต้องระวังฝนตกหนัก คลื่นลมแรง
และช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ย.66 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณทะเลจีนใต้จะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุม) เข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนกลาง สปป.ลาว และภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล (ยังติดตามและประเมินเป็นระยะๆ ว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุได้หรือไม่) ทำให้ยังมีฝนเพิ่มขึ้น ตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในบริเวณที่หย่อมความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนเข้าปกคลุมในบริเวณดังกล่าว สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นตกต่อเนื่อง
โดยเฉพาะด้านรับมรสุมที่ทิศทางลมพัดเข้าหาหย่อมความกดอากาศต่ำ ต้องระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ คลื่นลมแรงขึ้นโดยเฉพาะทางด้านทะเลอันดามัน
ช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค.66 ร่องมรสุมจะสวิงขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ฝนเกิดขึ้นได้ตามแนวร่องมรสุม
ทั้งนี้ ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนของไทยเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ