เช็กพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า 14 - 23 ต.ค.66 ไทยมีทั้งฝนตก อากาศเย็น
เช็กพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า 14 - 23 ต.ค.66 ไทยมีทั้งฝนตก อากาศเย็น ช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศมีความแปรปรวนสูง ระมัดระวังอากาศเปลี่ยนแปลง
"กรมอุตุนิยมวิทยา" พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 14 - 23 ต.ค.66 อัปเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ระบุว่า
วันนี้ (14 ต.ค.66) ร่องมรสุมเลื่อนลงไปพาดผ่าน ภาคใต้ตอนกลาง ส่วนมวลอากาศเย็น ยังแผ่ลงมาปกคลุมภาคอีสานตอนบน ลมหนาวเริ่มพัดปกคลุมทางตอนบนภาคอีสาน แต่ในภาคอื่นๆ ทิศทางยังมีความแปรปรวน ฝนยังเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนใหญ่ยังเกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง(กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออกและภาคใต้ ช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศมีความแปรปรวนสูง ระมัดระวังอากาศเปลี่ยนแปลง
ในช่วง 15 -23 ต.ค.66 เป็นช่วงสัปดาห์ที่มีทั้งฝน ทั้งอากาศเย็น และยังต้องติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ทางตะวันออกของประเทศเวียดนาม (ยังแรงไม่ถึงระดับพายุ) มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมตอนกลางของประเทศเวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา ภาคอีสานและภาคกลางของไทย ประกอบแนวร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ และต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณดังกล่าว
สำหรับ มวลอากาศเย็น (ความกดอากาศสูง) ยังแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ ทำให้ตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า ทิศทางลมเริ่มเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ ปกคลุมภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน คลื่นลมทั้งสองฝั่งมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง ระวังคลื่นสูงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
โดย ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาวะฝนและพายุเปลี่ยนแปลงไป ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังเผยแพร่ พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระบุว่า ในช่วงวันที่ 15 – 20 ต.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเวียดนามเข้าสู่ภาคตะวันออกและอ่าวไทยตอนบน ตามแนวร่องมรสุม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง: ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ตลอดช่วง ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ในช่วงวันที่ 15 – 20 ต.ค. 66
สถานการณ์ แผ่นดินไหว ในช่วงวันที่ 13 - 14 ต.ค. 2566 ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว
- ขนาด 3.7, 2.4, 3.9, 3.3 (จำนวน 2 ครั้ง), 3.0 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา
- ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด