คุยกับ 'โต้ง สิริพงศ์' ผู้สร้าง ‘สัปเหร่อ’ สะท้อนคนอีสานไม่ใช่ โง่ จน เจ็บ

คุยกับ 'โต้ง สิริพงศ์' ผู้สร้าง ‘สัปเหร่อ’ สะท้อนคนอีสานไม่ใช่ โง่ จน เจ็บ

“ผมเริ่มต้นทุกๆ เรื่องที่ทำมาจากความฝัน ความต้องการให้จังหวัดศรีสะเกษ ไม่เป็นจังหวัดที่จนที่สุดในประเทศ มาถึงวันนี้ไม่มากก็น้อย ที่ผมมีส่วนทำให้ศรีสะเกษ ไม่ใช่จังหวัดที่จนที่สุดในประเทศไทย และความฝันต่อจากนี้ จะทำให้ศรีสะเกษไปให้ไกล และดีกว่าเดิม”

Keypoint:

  • ขึ้นแท่นหนังทำรายได้สูงสุดในรอบรอบ 8 ปี 'สัปเหร่อ' ภาพยนตร์ของจักรวาลไทบ้าน’ หนังสะท้อนเรื่องราวของวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนอีสาน และความรักครอบครัว
  • ถึงจะต้องใช้เวลากว่า 10 ปีถึงจะประสบความสำเร็จ แต่ ‘โต้ง สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ’ ผู้สนับสนุน ‘จักรวาลไทบ้าน’ ยังคงให้โอกาสน้องๆ จักรวาลไทบ้าน ได้เดินตามเส้นเรื่องที่วางไว้ 
  • การทำหนัง ทำธุรกิจ  ไม่มีสูตรสำเร็จ มีเพียงแนวทางที่อาจจะสำเร็จ การผลักดัน Soft Power เป็นกระบวนการโฆษณาแฝงที่อาจนำมาซึ่งรายได้ หรือไม่มีรายได้ แต่สร้างค่านิยม

ชีวิตของคนเรามีหลายความฝัน เดิมทีอาจจะมีความฝันอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเดินทางมาถึงความฝันนั้นแล้ว เราต้องขยับความฝันไปอีกสเตปหนึ่ง เพราะปลายทางของความฝัน ‘โต้ง สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ’ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ‘สัปเหร่อ’ ผู้สนับสนุน ‘จักรวาลไทบ้าน’ และอีกบทบาท ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ มีความต้องการอยากนอนสบายๆ ใช้ชีวิตส่วนตัว อยู่บ้าน หลังจากทำหน้าที่ทุกอย่างให้เสร็จสิ้น

ตอนนี้คงไม่มีใคร ไม่รู้จักภาพยนตร์หรือหนังเรื่อง ‘สัปเหร่อ’ หนังเรื่องที่ 6 ของจักรวาลไทบ้าน บริษัท ไทบ้าน สตูดิโอ จำกัด ที่ขณะนี้กวาดรายได้สูงสุด เข้าสู่หลัก 600 กว่าล้านบาท ภายในไม่ถึง 4 สัปดาห์ ขึ้นแท่นหนังไทยที่ทำรายได้มากที่สุดในรอบ 10 ปีหรือรอบทศวรรษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'สัปเหร่อ' 600 ล้าน ขึ้นแท่นหนังไทยทำรายได้มากสุดในรอบทศวรรษ

วิเคราะห์ 'สัปเหร่อ' ลุ้น 700 ล้าน 'ธี่หยด' เปิดตัวแรงกว่า ฉายวันแรก 39 ล้าน

 

เส้นเรื่องของ 'จักรวาลไทบ้าน'

กรุงเทพธุรกิจ’ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘โต้ง สิริพงศ์’ ที่จะมาบอกเล่าเส้นทางของจักรวาลไทบ้าน กว่าจะประสบความสำเร็จโด่งดัง แถมยังสอดคล้องกับนโยบาย Soft Power ความเป็นไทย ของรัฐบาลในชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ  5F  ได้แก่ 

  • F-Food อาหาร
  • F-Film ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์
  • F-Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย
  • F-Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย 
  • F-Festival เทศกาลประเพณีไทย 

สู่ระดับโลกเพื่อช่วยสร้างรายได้ และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ 

'โต้ง สิริพงศ์’ ย้อนเล่าไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่าด้วยความชอบส่วนตัว และความสนใจในเรื่องของการทำภาพยนตร์  หนังสั้น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสไปเข้าร่วมอบรมกับหลักสูตร ABC (Academy of Business Creativity) สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ และได้มีการทำหนังสั้น โดยตอนนั้นหากใครทำหนังสั้นออกมาดี จะได้ดอกไม้ แต่ถ้าใครทำถูกใจผู้ดู อาจจะได้รองเท้า และตอนนั้นหนังสั้นที่พี่ทำ ได้รองเท้าทั้งหมด เพราะไม่ใช่หนังสั้นรูปแบบหนังตลาด เป็นการนำเสนอเฉพาะกลุ่ม แต่เราก็ชอบ เราก็อยากทำหนังมาตลอด

จนกระทั่งมาเจอน้องๆ กลุ่มนี้ เริ่มจากกัส ที่มาของบในการทำหนังสั้น เพื่อทำโปรเจกต์จบ และตอนนั้น พี่ก็เสนอให้กัสทำหนังให้จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีงบให้ 30,000 บาท และทำเป็นโปรเจกต์จบร่วมด้วย จึงเกิดเป็น หนังสั้น ‘คนตัวเล็ก’ ที่นำเสนอเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่เข้าร่วมงานโยธวาทิต แต่ให้ไท-อิน สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษไปด้วย เป็นการนำเสนอชีวิตคนเหมือนโฆษณา รวมถึงได้ทำหนังโฆษณาจังหวัด

คุยกับ \'โต้ง สิริพงศ์\' ผู้สร้าง ‘สัปเหร่อ’ สะท้อนคนอีสานไม่ใช่ โง่ จน เจ็บ

 

Soft Power กระบวนการโฆษณาแฝงที่สร้างรายได้ - ไม่มีรายได้

ต่อมา น้องๆ กลุ่มนี้มานำเสนอว่าอยากทำ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์’ และเขาก็ทำทีเซอร์ โพสต์ผ่านหน้าเฟซบุ๊กของกลุ่มเขา ผ่านไป 1 สัปดาห์ มีคนสนใจกว่า 1 ล้านวิว เราก็ให้คำแนะนำว่าสามารถทำเป็นภาพยนตร์ได้ และให้เขาไปหาสปอนเซอร์  พบว่าเขาไม่ได้สปอนเซอร์กลับมา เนื่องจากเขาไปนำเสนอแบบทีเซอร์ และไม่มีดาราเบอร์ใหญ่ จึงมาขอให้เราสนับสนุน พี่โต้งมองดูเส้นเรื่องเป็นหลัก ได้ต่อรองกับพวกเขาว่าใช้งบ 2 ล้านได้หรือไม่ พวกเขาก็บอกว่าทำได้ และเกิดเป็นภาพยนตร์ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ที่แม้จะไม่ใช่หนังสูตร หรือหนังตลาด แต่มีกำไรทุกภาค

"ถ้าเราทำธุรกิจ แล้วมองเรื่องตัวเงิน จะไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าคิดว่า เรามีเงินเท่านี้ และจะทำอย่างไร ให้รอดจะเป็นการเดินทางที่ทำให้ใกล้ความฝันมากที่สุด พวกน้องๆ ก็ทำตามงบที่ได้รับ  ดังนั้น เมื่องบจำกัด พวกเขาแต่งหน้ากันเอง ใส่ชุดตัวเอง ไม่มีเงินจ้างช่างไฟก็จัดไฟกันเอง  ปรากฏว่าเมื่อหนังฉาย ภาพคนดูแล้วรู้สึกว่ามันเรียลคือ ชีวิตจริงๆ  อย่าง นางเอกใส่เสื้อบอลนอน เหมือนในชีวิตของใครหลายๆ คน ตัวละครสามารถเข้าถึงคนดูได้"

เด็กกลุ่มนี้ พวกเขามีเส้นเรื่องของตัวเองที่ชัดเจน มีกลุ่มแฟนเพจจำนวนมาก เราขอเพียงให้เขานำเสนอความเป็นศรีสะเกษ ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ท่องเที่ยว หอมแดง หรือวิถีชีวิตของชาวศรีสะเกษ คนอีสาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น Soft Power

โต้ง สิริพงศ์ เล่าต่อว่าความหมายของ Soft Power ที่แต่ละคนเข้าใจนั้นอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกัน บางคนอาจจะมองว่าเป็นสินค้า หรือบริการ แต่ในมุมมองตน Soft Power คือ กระบวนการในการนำเสนอสินค้า หรือบริการ หรืออะไรสักอย่างหนึ่งที่อาจจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้หรือไม่ได้รายได้ก็ได้ อย่างเส้นเรื่องของ จักรวาลไทบ้าน น้องๆ เขาวางไว้หมดแล้วว่าอยากนำเสนออะไร 

คุยกับ \'โต้ง สิริพงศ์\' ผู้สร้าง ‘สัปเหร่อ’ สะท้อนคนอีสานไม่ใช่ โง่ จน เจ็บ

ไทบ้าน เดอะซีรีส์ พ.ศ.2560  ทำรายได้ 37.5 ล้านบาท เป็นหนังที่เล่าเรื่องของความรัก

ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1 พ.ศ.2561  ทำรายได้ 68 ล้านบาท และไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 พ.ศ.2561  ทำรายได้ 97 ล้านบาท 2 เรื่องนี้จะพูดถึงการจากลา และนำเสนอมุมมองคนที่เจ้าชู้ที่สุด ต้องมาอกหัก จากคนที่กระทำเขามาตลอด สุดท้ายก็มาถูกทิ้ง  คนที่ทำธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จเป็นแบบไหน สะท้อนชีวิตของวัยรุ่นในวัยเรียนที่อยู่ห่างจากพ่อแม่

ส่วน หมอปลาวาฬ พ.ศ.2565 ทำรายได้ 14 ล้านบาท ซึ่งนำเสนอเรื่องเป็นแฟนเซอร์วิส  แต่อาจจะออกมาผิดช่วงเวลาทำให้รายได้ค่อนข้างต่ำ และรักหนูมั้ย พ.ศ.2563 รายได้ 8.7 ล้านบาท สะท้อนให้สังคมได้เห็นถึงค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่ มีเมียหลายคนได้ แต่จะเป็นไปได้มั้ยถ้าผู้หญิงมีสามีหลายคน พวกเขาสะท้อนสังคมว่าสิ่งเหล่านี้ ใครเป็นคนกำหนด สังคมควรกำหนด หรือชีวิตของเขากำหนดเอง

ส่วน 'สัปเหร่อ' อันนี้เป็น Soft Power ในมิติของการสร้างค่านิยม หรือการนำเสนอวิถีชีวิต เพราะตอนนี้คนเราวิ่งตามฝัน จนสุดท้ายหลงลืมคนที่อยู่ข้างหลังเรา อาจจะไม่สายเกินไปที่จะอยู่กับพ่อแม่ คนรอบข้างแต่น้อยเกินไป จะทำให้เรารู้สึกอยากหันกลับไปมองคนข้างหลัง หลายคนดูภาพยนตร์แล้วอยากโทรศัพท์กลับไปหาครอบครัว หรือให้ความสำคัญกับคนรอบตัว คนข้างหลังมากขึ้น

ภาพยนตร์ หลังจากนี้ จะเป็นเรื่องการทำธุรกิจ ซึ่งเส้นเรื่องทุกอย่างกำหนดไว้แล้ว 

'สัปเหร่อ' สะท้อนคนอีสาน ไม่ใช่โง่ จน เจ็บ

ภาพยนตร์ของจักรวาลไทบ้าน อย่าง สัปเหร่อ ไม่ใช่หนังสูตรว่าต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ หรือเป็นหนังตลาด แต่เป็นหนังที่มีเส้นเรื่องของตัวเอง มีความเป็นธรรมชาติ เรียบเงียบ และไม่ยัดเยียดให้แก่ผู้ดู ซึ่งความสำเร็จของไทบ้าน ผมว่าพวกเขาทำสำเร็จมาตลอด

"สัปเหร่อ เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตชนบท ความรักครอบครัว และคนอีสาน ไม่ใช่ โง่ จน เจ็บ  เขามีชีวิตเหมือนกับทุกคน และชีวิตเขาสนุกสนาน เราให้แง่คิดเรื่องการใช้ชีวิต ซึ่งตรงนี้ก็เป็น Soft Power แต่ไม่ได้เป็นการขายสินค้า หรือนำมาซึ่งรายได้  เราอาจจะไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่เป็น Soft Power แต่จังหวะในการนำเสนอของเรามันสอดคล้องกับนโยบาย และการผลักดันของรัฐบาล และเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิด หนังเดินทางมาไกล ซึ่งเป็นการเดินทางด้วยตัวของหนัง เนื้อหาของหนัง และความสามารถของ ต้องเต-ธิติ ศรีนวล  ผู้กำกับ"

คุยกับ \'โต้ง สิริพงศ์\' ผู้สร้าง ‘สัปเหร่อ’ สะท้อนคนอีสานไม่ใช่ โง่ จน เจ็บ

 Soft Power ในมุมการศึกษาของไทย

Soft Power ถ้าพูดให้สั้นๆ คือ โฆษณาแฝง เช่น จะทำให้ชาวต่างชาติรู้จักคนไทย ประเทศไทย ผ่านอาหารไทย เพลงไทย มวยไทย เป็นการนำกลับมาซึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หลังจากที่ได้รับนโยบายนายกรัฐมนตรี Soft Power พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการติดตามนโยบาย

"โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อดูแลเรื่องของ Soft Power ให้ความสำคัญไปในเรื่อง 5 F และได้กำชับในการคิดแต่ละนโยบาย ต้องมีการสอดแทรก Soft Power ในกิจกรรมให้ผู้เรียน และผู้สอน มีส่วนคิดส่วนช่วยโดยไม่เป็นภาระแก่ผู้สอน หน่วยงานใน ศธ. มีผลงานจำนวนมาก จะเห็นเรื่องศิลปหัตถกรรมที่จะเป็นเวทีให้เด็กได้แสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น ศธ.เป็นสารตั้งต้นที่จะต่อยอดไปสู่เรื่องต่างๆ เช่น คีตมวยไทย  เครื่องมือเผยแพร่ความเป็นไทยให้แก่ต่างชาติ"

 

ต้องเข้าใจว่า Soft Power หมายถึงอะไร บางคนอาจจะมองว่าเป็นสินค้า หรือบริการ แต่ในมุมมองผมมันคือกระบวนการ สำหรับกระทรวงศึกษา หรืออาชีวะ ที่เรามีนักเรียนแลกเปลี่ยน หลักสูตรทวิภาคี ทำงานในประเทศต่างๆ อาจจะเป็น Soft Power ที่ทำให้ประเทศนั้นๆ รู้ว่าไทยมีแรงงานคุณภาพ

คุยกับ \'โต้ง สิริพงศ์\' ผู้สร้าง ‘สัปเหร่อ’ สะท้อนคนอีสานไม่ใช่ โง่ จน เจ็บ

รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ผลิตสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ (e-Book) ด้านการสอนทำอาหารไทย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษา 'เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา' (Anywhere Anytime) และการยกระดับการสร้างการเรียนรู้ และทักษะวิชาชีพสาขาอาหาร ตอบโจทย์สิบสาขาอุตสาหกรรมซอฟต์ พาวเวอร์ตาม Quick Win ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์ พาวเวอร์แห่งชาติ ของรัฐบาล

กระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือกับผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ซึ่งเป็นวิทยาลัยด้านคหกรรม และศิลปกรรมในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ถึงการจัดทำสื่อการเรียนการสอนการทำอาหารไทย ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีข้อมูล และเนื้อหาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติของอาหารไทย การเลือกซื้อวัตถุดิบ การปรุงอาหาร วิธีการ และเทคนิคการถนอมอาหาร เป็นต้น มาปรับให้เป็นรูปแบบสื่อออนไลน์ (e-Book)  ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

"2 ปีที่ผ่านมา เราทำงานกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (CEA) พยายามผลักดัน เมืองศรีสะเกษ เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์" 

การทำหนังไม่มีสูตรสำเร็จ เหมือนศิลปะในเตาถ่าน

สำหรับคนที่อยากเข้ามาเป็นผู้สนับสนุน ต้องเริ่มจากสิ่งที่ชอบ และต้องพิสูจน์ตัวเอง อย่าพึ่งไปเอาสูตรสำเร็จ ไม่ว่าจะเรื่องหนังหรือเรื่องธุรกิจ ไม่มีอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จ มีเพียงแต่แนวทางที่อาจจะสำเร็จ เหมือนศิลปะในเตาถ่าน ที่ไม่สามารถบอกได้ว่า ใส่น้ำตาล น้ำปลา แล้วจะอร่อย เพราะต้องขึ้นอยู่กับไฟด้วย ว่าไฟอ่อนหรือไฟแรง  อย่าเอาความสำเร็จในอดีตมาตัดสิน

 

"การให้โอกาสเป็นเรื่องที่ดี และมีคนจำนวนมากที่มีทุนสูงมากกว่าหนังเรื่องไทบ้าน แต่เขาอาจจะไม่กล้าที่จะทำ แต่ถ้าเทียบประสบการณ์ของผม ไม่ได้มีอาชีพทำหนัง แต่ผมเริ่มทำจากสิ่งที่ชอบ ชอบการเล่าเรื่องราวต่างๆ และชอบงานของน้องๆ กลุ่มนี้ เราก็ให้การสนับสนุนในสัดส่วนที่เราคิดว่า ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ เราก็พอยอมรับได้"

คุยกับ \'โต้ง สิริพงศ์\' ผู้สร้าง ‘สัปเหร่อ’ สะท้อนคนอีสานไม่ใช่ โง่ จน เจ็บ

กว่าจะประสบความสำเร็จ ‘สัปเหร่อ’ จักรวาลไทบ้านต้องใช้เวลาถึง 6 ปี  อยากจะเชิญชวนสำหรับคนที่มีความสนใจ ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ได้แสดงความสามารถ แต่ทั้งนี้ก็อยู่ในการตัดสินใจของท่าน เพราะไม่มีอะไรการันตีความสำเร็จ อยู่ที่ความชอบ ช่วงจังหวะเวลาร่วมด้วย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์