ไทยติดอันดับ 9 ถนนที่อันตรายที่สุดในโลก
“อุบัติเหตุ” บนท้องถนนเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต โดยเฉพาะกับ “รถจักรยานยนต์” โดย WHO เคยจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการจราจรมากที่สุดในอาเซียน และอันดับ 9 ของโลก
Key Points:
- จากการจัดอันดับประเทศที่ถนนอันตรายที่สุดในโลกของ WHO พบว่า ไทยอยู่ในลำดับที่ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ยร้อยละ 32.7
- สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย, เมาแล้วขับ และขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด
- โครงการนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่าถ้าทุกคนสวมหมวกกันน็อกรวมถึงเมาไม่ขับ จะลดอัตราการเสียชีวิตได้มากถึงร้อยละ 60 ต่อปี
ปัญหาผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีให้เห็นต่อเนื่องมาตลอดหลายปีในหลายประเทศทั่วโลก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนไทยก็คือ ผลจากการอันดับขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี 2018 พบว่า “ประเทศไทย” อยู่ในลำดับที่ 9 ของ “ถนนที่อันตรายที่สุดในโลก” เพราะมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 32.7 ราย
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย, เมาแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ หลายคนอาจเห็นผ่านตาจากการรายงานข่าวอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง
แม้ในช่วงโควิด-19 ระบาดจะทำให้ตัวเลขอุบัติเหตุลดลง เพราะคนไม่ค่อยได้ออกจากบ้าน แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2021 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ก็เพิ่มขึ้นจนกลับมาใกล้เคียงกับปี 2018 อีกครั้ง เพราะมีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 16,494 ราย (ปี 2018 อยู่ที่ 19,904 ราย)
- เปิดอันดับถนนสุดอันตรายในอาเซียน
ไม่ใช่แค่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเท่านั้น แต่อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งบาดเจ็บและต้องกลายเป็นผู้พิการไปตลอดชีวิต เฉลี่ยปีละ 20,000 คน โดยเหยื่อประมาณร้อยละ 75 เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี ทำให้ถนนของประเทศไทยมีความอันตรายมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 32.7 คำนวณจากประชากร 100,000 คน
สำหรับภาพรวมประเทศในอาเซียนที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เรียงลำดับจากมากไปน้อย ของปี 2018 มีรายละเอียดดังนี้
อันดับที่ 1 ไทย ร้อยละ 32.7
อันดับที่ 2 เวียดนาม ร้อยละ 26.4
อันดับที่ 3 มาเลเซีย ร้อยละ 23.6
อันดับที่ 4 เมียนมา ร้อยละ 19.9
อันดับที่ 5 กัมพูชา ร้อยละ 17.8
อันดับที่ 6 ลาว ร้อยละ 16.6
อันดับที่ 7 ติมอร์-เลสเต ร้อยละ 12.7
อันดับที่ 8 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 12.3
อันดับที่ 9 อินโดนีเซีย ร้อยละ 12.2
อันดับที่ 10 สิงคโปร์ ร้อยละ 2.8
แม้จะยังไม่พบรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีถนนอันตรายในปีล่าสุด แต่ในบันทึกของ WHO ในปี 2019 พบว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 32.2 นั้น แบ่งเป็นเพศชายร้อยละ 52.6 และเพศหญิงร้อยละ 12.8
- เมาไม่ขับ-สวมหมวกนิรภัย ลดอัตราเสียชีวิตเฉลี่ย 60% ต่อปี
ปัญหา “อุบัติเหตุทางถนน” ของไทยที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าในปีนี้และปีถัดๆ ไป จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในผู้ใช้ “รถจักรยานยนต์” ที่มักไม่สวมหมวกนิรภัยขณะเดินทาง
ทั้งนี้โครงการนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ คำนวณว่าหากคนขับจักรยานยนต์และผู้โดยสารทุกคน “สวมหมวกนิรภัย” จะสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ 6,984 รายต่อปี รวมถึงอาจลดอัตราผู้ได้รับบาดเจ็บในภาพรวมได้ถึง 1 ใน 3
อีกหนึ่งพฤติกรรมที่เสี่ยงก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนก็คือการ “เมาแล้วขับ” ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5,529 รายต่อปี หรือประมาณร้อยละ 28 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งหมด
ดังนั้นหากทุกคนสวมหมวกนิรภัยขณะขับหรือโดยสารรถจักรยานยนต์ และไม่ขับรถทุกประเภทหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตบนท้องถนนได้ถึงร้อยละ 60 ซึ่งประเทศไทยเองก็มีเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 12 ต่อประชากร 100,000 คนภายในปี 2027
ท้ายที่สุดนี้การจะลดปัญหา “อุบัติเหตุทางถนน” ให้ได้ผลชัดเจนนั้น จำเป็นต้องอาศัยวินัยของคนในสังคม ประกอบกับความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ไปจนถึงการมีบทลงโทษที่จริงจัง เพื่อไม่ให้คนผิดกลับมาทำความผิดแบบเดิมซ้ำๆ หากไม่รีบแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคตประเทศไทยอาจก้าวขึ้นสู่ประเทศอันดับหนึ่งที่มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลก
อ้างอิงข้อมูล : WHO (1), WHO (2) และ The Nation