เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’ ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

เปิดใจคน 'ด่านหน้า' ที่อยู่เบื้องหลังการ 'เก็บขยะ' กทม. กับเวลากว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน จริงหรือไม่ ที่หลายคนมักจะพูดว่า "แยกขยะไปทำไม เดี๋ยวก็เทรวมอยู่ดี" ความจริงแล้ว กระบวนการทำงานของพี่ๆ เขาทำงานกันอย่างไร รวมถึง เสียงสะท้อนที่อยากจะขอความร่วมมือประชาชน

 

“แยกขยะไปทำไม เดี๋ยวก็เทรวมอยู่ดี”

 

เรามักจะได้ยินประโยคนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่น้อยคนที่จะได้เห็นการทำงานของคนด่านหน้า ที่อยู่เบื้องหลัง อย่างพนักงานเก็บขยะ ซึ่งใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่ 19.00 น. ทำหน้าที่เก็บขยะในทุกเขตพื้นที่

 

สิ่งที่พนักงานเก็บขยะจะต้องเจออยู่บ่อยครั้ง คือ เศษซากสัตว์ ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะอันตราย ขวดแก้วแตก กระจกแตก เศษไม้ ต้นไม้ แพมเพิร์ส สารพัดขยะที่ไม่ถูกคัดแยกจากต้นตอ ทำให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงาน ไม่ว่าจะโดนแก้วบาด ไม้แหลม เข็มที่ถูกทิ้งโดยไม่มีการห่อ แม้จะมีถุงมือแต่บางครั้งก็ไม่สามารถป้องกันได้

 

ดังนั้น สิ่งเดียวที่พี่ๆ ด่านหน้าอยากขอความร่วมมือประชาชน คือ การ ‘แยกขยะ’ คัดแยกสิ่งที่ทำให้เกิดอันตราย เช่น แก้วแตก กระจกที่ไม่ใช้แล้ว วัสดุอันตราย ใส่ถุง และเขียนกำกับไว้เพื่อลดอันตรายจากการทำงาน และง่ายต่อการคัดแยก

 

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

เสียงจากคนด่านหน้า

น้ำพุ โต๊ะกา พนักงานขับเครื่องจักรขนาดเบา ฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักงานเขตคลองเตย หรือเรียกง่ายว่า ‘คนขับรถขยะ’ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนี้มากกว่า 12 ปี และหากรวมระยะเวลาในการทำตำแหน่งอื่นๆ ก็อยู่ที่ราวๆ 15 ปี

 

“ผมเติบโตมากับวงการขยะ เพราะพ่อที่เพิ่งเกษียณไปก็เป็นคนขับรถขยะ เกิดมาในวงจรนี้ตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นพ่อขับรถขยะ และเป็นความภาคภูมิใจที่มาเส้นทางนี้ ที่ทำให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวและลูก 4 คนได้”

 

น้ำพุ และทีมงาน เปรียบเสมือนด่านหน้า ที่ต้องเจอเชื้อโรค สิ่งสกปรก หลายอย่างที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เห็นการทำงาน เพราะเวลาที่ทุกคนนอน คือ เวลาทำงานของพวกเขา

 

จุดสตาร์ตแรก คือ การไปรับรถศูนย์อ่อนนุช 2 มาที่สำนักงานเขตคลองเตย เตรียมพร้อมมีอุปกรณ์แยกพลาสติก ขวดอลูมิเนียม แบ่งหน้าที่ 1 คนคัด 1 คนลาก และ 1 คนเก็บถัง และเข้าพื้นที่เก็บขยะ พอทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย จึงกลับมาที่จุดรับรถ ศูนย์อ่อนนุช 2 

 

“พื้นที่ที่พวกเรารับผิดชอบ คือ ชุมชน 70 ไร่ เขตคลองเตย เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีรถที่รับผิดชอบทั้งหมด 4 คัน และเราเป็น 1 ในนั้น ขยะที่เก็บได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4 ตันต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นขยะชุมชน ขยะคอนโด ออฟฟิศ โรงแรม โดยจะมีจุดรวมขยะ หากฝนไม่ตกจะเสร็จงานราวตี 3 - ตี 5 แต่หากช้าสุด คือ 7 โมงเช้า อย่างไรก็ตาม จะพยายามทำให้ไวที่สุดเพราะตนเองก็ต้องกลับมารับส่งลูกๆ ไปโรงเรียน”

 

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

 

 

ทำไมต้องแยก ?

จากประโยคที่เราได้ยินบ่อยครั้งว่า "แยกขยะทำไม เดี๋ยวก็เทรวมอยู่ดี"  แต่ความจริงแล้ว น้ำพุ อธิบายว่า ขั้นตอนการทำงานนั้น ต้องลากถังมา และเทลงรถ แล้วนำไปแยก ดังนั้น หากประชาชนช่วยกันแยกขยะมา จะทำให้ประหยัดเวลาในการคัดแยก และประหยัดเชื้อเพลิงของรถมากขึ้น

 

“เวลากว่า 15 ปีที่ทำงานมา ไม่มีอะไรที่หนักเกินไป แต่ขอความร่วมมือในการแยกสิ่งปฏิกูล แพมเพิร์ส ใส่ถุงมัดปากให้เรียบร้อย เพราะบางทีพนักงานคัดแยกไม่ทันระวัง ทำให้เกิดการเปื้อน”

 

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

 

ด้าน อำนาจ พลเดชาธนานนท์ พนักงานเก็บขนมูลฝอย ฝ่ายรักษาความสะอาด เขตคลองเตย ซึ่งทำงานนี้มาเป็นเวลา 4 ปี กล่าวเสริมว่า สิ่งที่พบเจอบ่อยๆ คือ การทิ้งขยะโดยไม่ใส่ถุงทำให้กระจาย หลังจากนำออกจากถังขยะต้องมาเก็บกวาดซ้ำอีกที ขณะเดียวกัน สิ่งที่อยากขอความร่วมมือ คือ ขยะอันตราย ไม้แหลมขอให้แยก เพราะแม้จะมีถุงมือผ้าหรือถุงมือยางก็ไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนแก้วแตก ขอให้แยกใส่กล่องเขียนระบุไว้เพื่อให้พนักงานได้รู้ จะได้ไม่ต้องสัมผัสโดยตรง

 

“ขณะเดียวกัน ในส่วนของแฟลตซึ่งจะมีเวลาทิ้งในช่องทิ้งขยะ อยากให้สนใจเรื่องเวลาทิ้ง เพราะหากนำมาทิ้งนอกเวลา และอยู่ระหว่างที่พนักงานเข้าไปเก็บขยะ อาจทำให้โดนขยะที่ทิ้งลงมาซึ่งมีทั้งขวด และขยะอื่นๆ ทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญ ขอให้สนใจเรื่องเวลาทิ้งเพราะอันตรายมาก”

 

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

 

สมศักดิ์ พลเดชา พนักงานเก็บขนมูลฝอย ฝ่ายรักษาความสะอาด เขตคลองเตย รักษาความสะอดาเขตคลองเตย ทำงานมาแล้ว 28 ปี เผยว่า ในการทำงาน สิ่งที่ทำให้ทำงานลำบาก คือ เศษวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ดิน ทราย เพราะหนัก ต้องแยกออก และกว่าจะนำขึ้นรถได้ทำให้ใช้เวลานานหลายชั่วโมง

 

"อยากให้แยกขยะ แยกขวดพลาสติก แก้วน้ำ ใส่เป็นถุงๆ ไว้ จะช่วยในเรื่องของเวลาในการเก็บได้เร็วขึ้น หลายคนคิดว่าเราเทรวม แต่ความจริงแล้วมีการคัดแยก ขยะที่เจอ มีทุกอย่าง หากตลาดคลองเตยจะเป็นเศษผักผลไม้ ขยะชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นเศษอาหารตามบ้าน โดยขยะเศษอาหาร จะถูกนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ที่สวนสมเด็จย่า (อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ซึ่งพนักงานจะแบ่งหน้าที่กันดูแล นำมารดน้ำต้นไม้ แปรสภาพเป็นเงิน และมีประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น"

 

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

 

ทิ้ง ‘ช่วย’ ชีวิต

กอปร ลิ้มสุวรรณ ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste กล่าวในงาน เปิดนิทรรศการศิลปะ THINK ทิ้ง...ชีวิต ในหัวข้อ ทิ้ง ‘ช่วย’ ชีวิต โดยระบุว่า การใช้ชีวิตของเราทำให้เกิดขยะมากมาย ข้อแรก ที่สามารถช่วยได้ คือ

  • ทิ้ง...ให้น้อยลง

การจัดการขยะอย่างยั่งยืน คือ ลดขยะ ใช้แต่พอดี เท่าที่จำเป็น ใช้แก้วส่วนตัว ถุงผ้าเพื่อลดขยะ

 

  • ทิ้ง...แยกเศษอาหาร

ขยะเกินครึ่งเป็นขยะเศษอาหาร ขยะอินทรีย์ กว่า 60% เกิดการเน่าเหม็น ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยได้ คือ การทิ้งแยกเศษอาหาร เพื่อให้พี่ที่อยู่หน้างาน สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และสามารถแยกต่อทำประโยชน์ได้มากมาย การทิ้งขยะเศษอาหาร และไปหมักหมมในหลุมฝังกลบยังก่อให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 28 เท่า เป็นต้นเหตุโลกร้อน

 

  • ทิ้ง...แยกวัสดุรีไซเคิล

แยกแล้วสามารถขายต่อและใช้ประโยชน์ได้

 

  • ทิ้ง...ให้มองเห็นง่าย ปลอดภัย

เป็นสิ่งที่พยายามผลักดัน คือ หากทิ้งใส่ถุงดำทำให้ไม่รู้ว่าข้างในเป็นอะไร แต่หากทิ้งใส่ถุงสีชาหรือถุงใส จะทำให้พี่ๆ ด่านหน้าสามารถจัดกาได้ง่ายขึ้น สามารถแยกใส่ช่องแยกขยะขณะเก็บได้เลย ซึ่ง Chula Zero Waste ใช้มาแล้ว 7 ปี ราคาถุงดำ กับถุงสีชา ถุงใส ไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากไม่มีถุงสีชาหรือถุงใส สามารถใช้ถุงดำได้แต่แปะป้ายระบุประเภทขยะไว้ เพื่อให้จัดการได้ง่ายขึ้น

 

"นอกจาก การแยกเข็ม ให้ปลอดภัย จัดการง่าย รวมถึง ไม้แหลม ของมีคม กระจกแตก อยากให้คิดถึงคนเก็บ เพราะการทิ้งไม่จบที่เรา แต่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้ ดังนั้น ควรเขียนป้ายระบุ ห่อ ป้องกัน ให้มิดชิด ทิ้งให้เก็บง่าย และปลอดภัยคนเก็บ"

 

  • ทิ้ง...ลดอันตราย ทิ้งให้ถูกที่

ขยะอันตราย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ บรรจุภัณฑ์ทีเกี่ยวข้องกับสารเคมี รวมรวมให้ทิ้งในสถานที่ที่ถูกต้องในถังพิเศษ หรือ สำนักงานเขตที่รวบรวมขยะอันตราย เพราะการทิ้งรวมกับขยะทั่วไป เวลาฝนตก ทำให้สารพิษปนเปื้อนไปสู่ธรรมชาติและระบบนิเวศ ซึ่งบนรถขยะจะมีส่วนแยกสำหรับขยะอันตราย หากเราแยกให้ถูกต้องจะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

 

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

 

มาหามิตร แยกขยะ เลิกเทรวม

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มมาหามิตร นำโดย บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ร่วมด้วย กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการ Chula Zero Waste มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เอ็ม บี เค สยามพิวรรธน์ กลุ่มสยามกลการ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะกลุ่ม ‘มาหามิตร’ (Alliance for Sustainability) ส่งเสริมการแยกขยะ “เลิกเทรวม” เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เปิดงาน THINK ทิ้ง ... ชีวิต งานใหญ่กลางกรุง หยิบแนวคิดการใช้ศิลปะมาร่วมสร้างแรงบันดาลใจสู่การตระหนักคิด สร้างจิตสานึก และเปลี่ยนแปลงสู่พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของคนเมือง

 

พัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารงานลูกค้า บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ในฐานะตัวแทนกลุ่มมาหามิตร กล่าวว่า กลุ่ม 'มาหามิตร' เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรต่างๆทั้งภาคเอกชนและภาคสาธารณะในเขตปทุมวัน ร่วมแสดงเจตจำนงตั้งเป้าหมายสู่ความยั่งยืนร่วมกัน ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กรเพื่อขยายผลสู่ภายนอก แต่ละองค์กรพันธมิตรอาจมีเป้าหมายธุรกิจที่ต่างกัน แต่เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน คือ การสร้างความยั่งยืนให้แก่โลกในมิติต่างๆ โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือ เรื่องการจัดการขยะในองค์กร

 

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

 

ซึ่งต่อมาเกิดเป็นโครงการ ปทุมวัน Zero Waste ส่งเสริมการแยกขยะเพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่เขตปทุมวัน ที่มีเป้าหมายเพื่อลดขยะไปสู่บ่อขยะให้น้อยที่สุด และเพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกิดการแยกขยะในวงกว้างขึ้น ปีนี้เราจึงต่อยอด สู่งาน THINK ทิ้ง ... ชีวิต เพื่อสะท้อนสถานการณ์ขยะที่เกิดจากพฤติกรรมการทิ้งของพวกเรา และชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความสำคัญกับการ 'แยกขยะ' ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับองค์กร

 

งาน THINK ทิ้ง ... ชีวิต มุ่งสะท้อนพฤติกรรม 'มักง่าย' ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหามากมายในสังคมไทย รวมทั้ง 'ปัญหาขยะ' งานนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อตะโกนดังดังบอกทุกคนว่า 'เลิกมักง่ายเถอะ' 'แยกขยะกันเถอะ' เพราะปัญหาขยะจะไม่มีวันแก้ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ช่วยกัน อีกทั้ง การ 'ทิ้ง' ของทุกคนมีผลต่อการเปลี่ยน 'ชีวิต' ของใครคนใดคนหนึ่งเสมอ ถ้า 'คิด' ก่อน 'ทิ้ง' เราอาจเปลี่ยนชีวิตได้มากมาย จะทิ้งเพื่อ 'สร้าง' ชีวิต จะทิ้งเพื่อ 'ปลูก' ชีวิต จะทิ้งเพื่อ 'ช่วย' ชีวิต หรือ จะทิ้ง ... ชีวิต ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเราทุกคน

 

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

 

ภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้มากมายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เพื่อมุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมทุกคนให้มีพฤติกรรมการทิ้งที่เปลี่ยนไป โดยมีการจำลองบ่อขยะ และเปิดประสบการณ์ชีวิตจริงของพนักงานเก็บขยะจากกทม. เริ่มจากห้องเปลี่ยนใจ ที่จะมาไขข้อข้องใจ ทลายความเชื่อ ว่าแยกขยะไปทำไม หากสุดท้ายนำไปเทรวม ต่อด้วย กิจกรรมทิ้ง...ชีวิต ที่จะเปิดโอกาสให้คุณได้สวมบทบาทคนเก็บขยะ กับความท้าทายที่คุณไม่อาจเคยรู้ ต่อด่วยทางเลือกคนกรุง ตัวช่วยที่จะทำให้การแยกขยะของคุณมีค่า และชุมชนแลกเปลี่ยนแฟชั่น Swoop Buddy

 

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ

 

นอกจากนั้น ยังได้รับเกียรติ จาก 7 ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของไทย คุณวิชชุลดา ปัณฑุรานุวงศ์ คุณจิรายุ ตันตระกูล คุณเอก ทองประเสริฐ คุณพงษธัช อ่วยกลาง คุณปรัชญา เจริญสุข คุณปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ คุณปิยาภา วิเชียรสาร และคุณชโลชา นิลธรรมชาติ จาก A Thing that is Pieces ที่ร่วมกันรังสรรค์ผลงานศิลปะ จากวัสดุส่วนเกินที่หลายคนไม่ต้องการ พร้อมกันนี้ ยังได้ Bigdel ศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ทชื่อดัง มาร่วมสร้างสรรค์มาสคอตประจำงานอีกด้วย

 

"อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ในฐานะผู้นำกลุ่มมาหามิตร มีความตั้งใจเป็นอย่างมากในการจัดงาน “THINK ทิ้ง...ชีวิต” ครั้งนี้ เพราะปัญหาขยะ คือ ปัญหาเร่งด่วน แต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ เมื่อทุกคนร่วมมือกัน เราขอเชิญชวนให้ทุกคนมางานนี้ เพื่อมาดู มารู้ มาเข้าใจว่า การทิ้ง (กระทบ) ชีวิต (เราและคนอื่น) อย่างไร เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มแยกขยะ เลิกเทรวม ตั้งแต่วันนี้ แล้วคุณภาพชีวิตของเราและทุกคนจะดีขึ้นอย่างแน่นอน” พัชรา กล่าวสรุป

 

งาน 'THINK ทิ้ง...ชีวิต' จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ลานใบบัวเชื่อมรถไฟฟ้า สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และ Meeting Point ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ผู้สนใจ สามารถร่วมงานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

เสียงจาก ‘คนด่านหน้า’  ที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การเก็บขยะ