อุณหภูมิลด เที่ยวหน้าหนาว ‘ผาดอกเสี้ยว’ 90%ยังเป็นต่างชาติที่รู้จัก
อุณหภูมิลดลง วันหยุดยาวธ.ค. หน้าหนาว ปักหมุดเที่ยว ‘ผาดอกเสี้ยว’ เดินป่าธรรมชาติเส้นทางผสมผสานระบบนิเวศกับวัฒนธรรม ความพิเศษหนึ่งเดียวของดอยอินทนนท์ อย่าให้ที่นี่มีเพียงแค่ต่างชาติที่เข้ามาสัมผัส
Keypoints:
- แต่ละปีมีเพียง 5 % ของคนที่เดินทางท่องเที่ยวหน้าหนาวขึ้นมายังดอยอินทนนท์ ที่จะเดินศึกษาธรรมชาติในเส้นทางผาดอกเสี้ยว ในจำนวนนี้ 90 % เป็นต่างชาติ ที่นี่เป็นเพียงแห่งเดียวที่มีความพิเศษของระบบนิเวศวัฒนธรรม
- แนวคิดในการปรับปรุงเส้นทางผาดอกเสี้ยว เน้นเรื่องความกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความแข็งแรง ปลอดภัย ผสมผสานกับอัตลักษณ์ภูมิปัญญาปกาเกอะญอ
- เส้นทางผาดอกเสี้ยว เป็นการเดินป่าแบบเดินลง ผ่านทิวป่าสน ค่อยๆไต่ระดับลงเรื่อยๆ ระหว่างทางจะพบกับระบบนิเวศมากมาย น้ำตกธรรมชาติ นาขั้นบันได และภูมิปัญญาของชาวปกาเกอญอ
หน้าหนาวเดินทางไปยังดอยอินทนนท์ก็หลายครั้ง แต่ไม่เคยเลยที่จะได้เดินป่าในเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว ทั้งที่เป็นทางผ่านขึ้นไปสู่ยอดดอยจุดที่อุณหภูมิต่ำที่สุด และเป็น 1 ใน 4 เส้นทางศึกษาธรรมชาติของดอยอินทนนท์ ประกอบด้วย
1.เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย
2.เส้นทางศึกษาธรรมชาติ กิ่วแม่ปาน
3.เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา
4.เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว
ในแต่ละปีนั้น มีคนเดินทางท่องเที่ยวบนดอยอินทนนท์จำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดช่วงท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ทว่ามีเพียง 5 % ของคนที่เดินทางหน้าหนาวมายังที่นี่เท่านั้น จะเดินศึกษาธรรมชาติในเส้นทางผาดอกเสี้ยว และในจำนวนนี้ 90 % เป็นต่างชาติ
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้มีการนำเสนอผาดอกเสี้ยวต่อนักท่องเที่ยวมากนัก กอรปกับในอดีตเส้นทางนี้ใช้ประโยชน์ในการเป็นแนวกันไฟ ขนผลผลิตทางการเกษตร และใช้ในการเดินติดต่อไปมาหาสู่กันภายในชุมชน บางช่วงบางตอนมีการเดินลงลักษณะชันเอียงราว 50 องศา อาจจะไม่ปลอดภัยนักสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป
แนวคิดในปรับปรุงเส้นทางผาดอกเสี้ยว
กระทั่งเมื่อปี 2565 เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และชุมชนบ้าน แม่กลางหลวง ปรับปรุงเส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยว ให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย และเป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยนำภูมิปัญญา การก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอมาใช้ในการออกแบบ เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชุมชน พร้อมพัฒนาระบบสื่อความหมาย ทั้งภายในเส้นทางและระบบออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้เส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” ที่สำคัญของชุมชนที่อยู่ร่วมกับผืนป่าต้นน้ำได้อย่างยั่งยืน
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวว่า มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ปรับปรุงเส้นทางฯ โดยยึดหลักการออกแบบที่มีผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด การรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนนำภูมิปัญญาการก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาระบบสื่อความหมาย 14 จุด ในเส้นทางฯ เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ คุณค่า และความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตในผืนป่า
ตลอดจนพัฒนาระบบสื่อความหมายออนไลน์และวีดิโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสัมผัสธรรมชาติในเส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยวได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยมุ่งหวังว่านักท่องเที่ยวและประชาชนจะตระหนักและเห็นความสำคัญของการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศ จนเกิดเป็นจิตสำนึกในการปกป้องและร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน
ขณะที่จุลพร นันทพานิช ป่าเหนือสตูดิโอ ผู้ออกแบบการปรับเส้นทางฯผาดอกเสี้ยว บอกว่า ผาดอกเสี้ยวเป็นป่าที่อยู่อาศัยร่วมกันของชาวปกาเกอญอ จึงมีลักษณะเฉพาะของระบบนิเวศทางธรรมชาติ ผสมผสานกับวัฒนธรรมชุมชน แนวคิดในการออกแบบที่เน้นเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอักนดับแรก แล้วนำหลักภูมิปัญญาปกาเกอญอเข้ามาร่วมทั้งหมด โดยใช้ไผ่เป็นวัสดุหลักตลอดเส้นทางทั้งการเป็นราวจับเป็นสะพาน เพราะปกาเกอญอมีวัฒนธรรมการใช้ไม้ไผ่มาเป็นพันปีทำเป็นของใช้และที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ พบว่าบ้านเรือนของปกาเกอญาก็มีแบบแผนเฉพาะ มีหน้าบ้านเป็นสามเหลี่ยม จึงนำมาใช้เป็นแนวคิดของหลักของการออกแบบสะพานสามเหลี่ยม เดินข้ามน้ำตกผาดอกเสี้ยว เพื่อสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญษของชุมชนแห่งนี้ โดยควบคู่กับการคำนวณตามหลักวิศวกรรมทางสาธารณะ จึงมีความแข็งแรง ที่สำคัญ การเชื่อมร้อยกับภูมิปัญญาและวัสดุที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีส่วนที่ชำรุด ชาวบ้านสามารถซ่อมแซม บำรุงรักษาได้
นิเวศวัฒนธรรมความพิเศษของผาดอกเสี้ยว
มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า อธิบายถึงเรื่องนิเวศวัฒนธรรมที่เป็นจุดเด่นของเส้นทางฯผาดอกเสี้ยวว่า เส้นทางฯผาดอกเสี้ยว ผ่านป่าดิบเขาระดับล่างที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เกษตรกรรม และปลายทางเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง จึงมีความโดดเด่นในฐานะแหล่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” ที่ผสมผสานองค์ประกอบระหว่างธรรมชาติที่สวยงาม คุณค่าของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ “คนอยู่กับป่า” ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สัมผัสผืนป่า-น้ำตก-นาขั้นบันได-วิถีปกาเกอะญอ
การเข้าศึกษาเส้นทางธรรมชาติผาดอกเสี้ยว มีค่าใช้จ่าย 220 บาทต่อรอบ จำนวนไม่เกิน 10 คนต่อรอบ โดยจะมีต้องมีผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่นที่เป็นชาวบ้านแม่กลางหลวง เป็นผู้นำทุกครั้ง มีระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 2-2.5 ชั่วโมง
มีจุดเริ่มต้นเส้นทาง บริเวณกิโลเมตรที่ 30 ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ สภาพตลอดเส้นทางมีลักษณะเป็นป่าดิบเขาระดับล่าง ผ่านน้ำตกผาดอกเสี้ยวและลำธารที่สวยงาม นาขั้นบันไดสะท้อนวิถีชุมชน ไปสิ้นสุด ณ หมู่บ้านแม่กลางหลวง
เส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยว อยู่ที่ความสูงกว่า 1,280 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง มีความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่น ประกอบไปด้วยป่าดิบเขาที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ หลากหลายไปด้วยพรรณไม้ซึ่งช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ อากาศ อันเป็นต้นกำเนิดและเป็นบ้านของสรรพชีวิต ป่าดิบเขาเป็นป่าไม่ผลัดใบ แต่จะค่อยๆ ทิ้งใบ ผลัดเปลี่ยนใบเก่าและแตกใบใหม่ขึ้นมาทดแทนอย่างสม่ำเสมอ จึงเห็นป่าที่นี่เขียวตลอดทั้งปี
มีไม้วงศ์ก่อ (Fagaceae) อาหารอันโอชะของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ เป็นพันธุ์ไม้เด่น และมีไม้ชั้นใต้เรือนยอด ไม้พุ่ม และเห็ดชนิดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไป บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และระหว่างเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
อาจได้ยินเสียงร้องหรือพบเห็นชะนีมือขาวได้ในระยะใกล้ ๆ ชะนีมือขาวมักพบในป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่มีชั้นเรือนยอดที่ต่อกัน และมีบทบาทสำคัญในการรักษาสภาพป่าให้มีความหลากหลายและยั่งยืน
เมื่อเดินต่อมาจะพบกับ น้ำตกผาดอกเสี้ยว หรือน้ำตกรักจัง ที่เป็นจุดเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ มีทั้งหมด 10 ชั้น ชั้นที่โดดเด่นสวยงามกว่าชั้นอื่น ๆ คือ ชั้นที่ 7 (มีความสูงประมาณ 20 เมตร) น้ำตกรักจัง เรียกตามชื่อภาพยนตร์ที่มาถ่ายทำที่น้ำตกแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2549
หลังจากนั้นจะเจอกับผาดอกเสี้ยว สถานที่ที่เป็นภูมินามและเอกลักษณ์ของพื้นที่แห่งนี้ ต้นเสี้ยวดอกขาว พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นหนาแน่นบนหน้าผา บานอวดดอกสวยในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. และในบริเวณนี้เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และพื้นที่ที่คนอยู่ร่วมกับป่า ยืนยันให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิต ความเชื่อ และจารีตประเพณีดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง ซึ่งยึดโยงคน สัตว์ ป่า และต้นน้ำ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ในช่วงปลายเดือนต.ค.-ต้นเดือนพ.ย. จะได้เห็นนาขั้นบันได ที่เริ่มเปลี่ยนสีจากสีเขียวชอุ่มเป็นสีเหลืองทอง และจุดสุดท้าย หมู่บ้านแม่กลางหลวง ที่มีวิถีวัฒนธรรมเรียบง่าย สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนปกาเกอะญอที่รักสงบ สมถะ แต่งามด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณี เป็นเสน่ห์แห่งวัฒนธรรมที่สอดแทรกให้เห็นในวิถีความเป็นอยู่ การทำการเกษตร และการสร้างบ้านเรือน
ความภูมิใจของชุมชนบ้านแม่กลางหลวง
ธัญารัตน์ ชีพเวียงไพร อายุ 35 ปี ชาวบ้านแม่กลางหลวง และผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่น เส้นทางฯผาดอกเสี้ยว บอกว่า การเป็นผู้นำเที่ยวฯเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของตัวเองควบคู่กับการทอผ้า และการทำนาในช่วงฤดูทำนา โดยสามารถเดินนำนักท่องเที่ยวได้ 1-2 เที่ยวต่อวัน สลับหมุนเวียนกับคนในหมู่บ้านอีก 50-60 คน ส่วนตัวเธอไม่ได้มีความคิดที่ลงไปทำงานในเมือง เนื่องจากมีความสุขที่ได้อยู่กับป่า อยู่กับธรรมชาติที่เป็นบ้านเกิด
จากนี้หากจะมีนักท่องเที่ยวมาศึกษาธรรมชาติในเส้นทางผาดอกเสี้ยวมากขึ้นก็ยินดีต้อนรับอย่างมาก นอกจากที่จะช่วยให้คำอธิบายผู้เดินทางมาได้เข้าใจถึงธรรมชาตินิเวศในผืนป่าแห่งนี้แล้ว ยังภูมิใจที่ได้นำเสนอวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอที่มีอยู่ตลอดเส้นทางให้คนภายในได้รับรู้และเข้าใจภูมิปัญญาปกาเกอะญอ ที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูล
ขณะที่ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีแผนที่จะนำความรู้ในทุกมิติการดำเนินงาน 6 ด้าน มายกระดับและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลผืนป่าต้นน้ำของบ้านแม่กลางหลวง ได้แก่
1.การอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ 19,000 ไร่
2.การฟื้นฟูพื้นที่ป่าและปรับระบบเกษตร 500 ไร่
3.การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว
4. การส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์
5.การวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม โดยจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
และ6.การส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบคนอยู่ร่วมกับป่า เพื่อให้บ้านแม่กลางหลวง เป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อย่างแท้จริง