6 อาการ 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ' รพ.เอกชน ห้าม! ปฏิเสธรักษา
6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ รพ.ทุกแห่ง ห้าม! ปฏิเสธการรักษา กรณีนักท่องเที่ยวไต้หวันเสียชีวิตกระทบท่องเที่ยว “หมอชลน่าน”เร่งสร้างความเชื่อมั่นท่องเที่ยว
Keypoints:
- ความคืบหน้ากรณีรพ.เอกชน ไม่รับนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันเข้ารักษา จนทำให้เสียชีวิตระหว่างนำส่งรพ.อื่น
- กฎหมายสถานพยาบาล กำหนดรพ.เอกชน ไม่มีสิทธิปฏิเสธการรักษา กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการฉุกเฉินวิกฤติ ถึงแก่ชีวิต
- สิทธิผู้ป่วย ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (UCEP) 6 อาการที่เข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ สีแดง ถึงแก่ชีวิต
จากกรณีข่าวนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันถูกรถเฉี่ยวชนจนหมดสติ ทีมกู้ชีพของมูลนิธิได้ช่วยทำ CPR และนำส่งโรงพยาบาลเอกชนย่านพัฒนาการ ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตร แต่ถูกปฏิเสธรับตัวผู้ป่วยและให้นำส่งโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตรแทน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างนำส่ง
“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทย จะไม่ปล่อยให้ไม่ได้รับความปลอดภัย หรือถูกกระทำการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเด็ดขาด”นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุขกล่าว
ตรวจสอบ 2 เรื่องสำคัญ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริกาสุขภาพ(สบส.) ได้ดำเนินการยืนยันข้อมูลกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความจริง จึงมีการหารือร่วมกันระหว่าง สบส.และ สพฉ.เพื่อร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง
เบื้องต้น จะมีการตรวจสอบรพ.เอกชนดังกล่าวใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. ในเวลาที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงโรงพยาบาล ได้มีการประเมินและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่
2.โรงพยาบาลมีการประเมินผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (UCEP) หรือไม่
กรณีทำผิดจริงโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
หากพบข้อมูลการกระทำผิด หรือพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าโรงพยาบาลวิภารามมีการปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจริง
ถือเป็นการกระทำที่ผิดพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 กำหนดให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการ หรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้น ๆ
ผู้กระทำผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
6 อาการป่วยฉุกเฉินวิกฤติ
“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) ช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยจากสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษา 72 ชั่วโมงแรก
อาการเจ็บป่วยที่สามารถใช้สิทธิตามเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) แบ่งเป็น 6 อาการ ได้แก่
1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3.มีอาการซึม เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด หรือชักต่อเนื่อง
และ 6.มีอาการที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต หรือระบบสมอง
หากพบว่าสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ ก็จะมีการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย
เร่งฟื้นความเชื่อมั่นท่องเที่ยว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ย่อมมีผลกระทบเรื่องท่องเที่ยวแน่นอนในเชิงของการให้ข่าว เพราะไต้หวันเองก็มีการออกข่าวสารเรื่องนี้แพร่กระจายออกไป จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องคอยดูแลตรวจสอบเชิงระบบบริการ ซึ่งการปฏิเสธผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินต้องไม่เกิดขึ้น เรื่องนี้ไม่ได้คำนึงถึงว่าจะกระทบท่องเที่ยวหรือไม่ แต่สำคัญที่สุดคือชีวิตของมนุษย์ ต้องไม่ได้รับผลกระทบ ต้องได้รับการดูแลคุ้มครอง
ในการฟื้นฟูความเชื่อมั่น 1.ต้องแสดงความรับผิดชอบ คือรับผิด และรับชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
2.แสดงออกให้เห็นว่ามีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะลักษณะส่วนบุคคล หรือเชิงระบบทั้งหมด
3.แสดงให้เห็นว่ามีความพร้อมระยะกลางระยะยาวอย่างไร
และ 4.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คงต้องมีมาตรการพูดคุยกันให้ความเข้าใจ ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย