ดัน Soft Power ไทยสู่ตลาดโลก ปัดหมุด การท่องเที่ยววัฒนธรรม
วธ. พัฒนา Soft Power ความเป็นไทย 5F และ 5F Plus ตั้งเป้าผลักดัน สู่ 1 ใน 15 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสูงสุดในตลาดโลก หนุนไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยววัฒนธรรมที่สำคัญของโลก
Key Point :
- กระแส Soft Power ของไทยที่กำลังมาแรง และภาครัฐพยายามผลักดัน รวมถึง นโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาผู้ที่มีทักษะด้านวัฒนธรรมให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้นใน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
- ในส่วนของ วธ. มีการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย
- โดย พัฒนา Soft Power ความเป็นไทย 5F และ 5F Plus ผลักดันให้ไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสูงสุดในตลาดโลก
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เริ่มดำเนินการใช้ Soft Power ความเป็นไทยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน บนแนวคิดนำทุนวัฒนธรรมดั้งเดิม มาพัฒนาใส่ความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การขับเคลื่อนเป็น Soft Power ผ่านกลไกในการร่างแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (2566-2570) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ระยะที่ 4 (2566-2570)
โดยตั้งเป้าหมายสัดส่วน GDP สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมจากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 15 และเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสูงสุดในตลาดโลก รวมถึงตั้งเป้าให้อันดับโลกด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีขึ้น ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยววัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คนรุ่นใหม่ พลังผลักดัน 'Soft Power' สร้างจุดเชื่อมต้นน้ำ-ปลายน้ำ
- 'ซอฟต์พาวเวอร์' นั้น สำคัญไฉน
- ดัน Soft Power “ข้าว – กาแฟ GI ไทย” บุกเทศกาลข้าวและกาแฟส่งท้ายปี
5F / 5F Plus Soft Power
สำหรับ Soft Power ความเป็นไทย ที่ผ่านมา วธ. ได้พัฒนา 5F ได้แก่
- อาหาร (Food)
- ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film)
- การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion)
- ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting)
- เทศกาลประเพณีไทย (Festival)
พัฒนาเพิ่มเติม 5F พลัส
- ท่องเที่ยวชุมชน
- ศิลปะการแสดง
- ศิลปะ
11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
ในปี 2566 เดินหน้าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาผู้ที่มีทักษะด้านวัฒนธรรมให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้นใน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อย่างเต็มที่ ได้แก่
1. แฟชั่น
2. หนังสือ
3. ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์
4. เฟสติวัล
5. อาหาร
6. ออกแบบ
7. ท่องเที่ยว
8. เกม
9. ดนตรี
10. ศิลปะ
11. กีฬา
ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เผยว่า ขณะนี้ได้มีร่างแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (2566-2570) เป็นครั้งแรก อาทิ มีการศึกษาประเทศที่ประสบความสำเร็จด้าน Soft Power ศึกษาการตลาด พัฒนาบุคลากร ตามแผนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำไปใช้ขับเคลื่อนได้จริงและได้ทันที ซึ่ง Soft Power ความเป็นไทยที่มีศักยภาพ
นอกจาก 5 F แล้วก็มี 5F+2 ได้แก่ ศิลปะการแสดง และความเชื่อ ตำนาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ เส้นทางท่องเที่ยวสายบุญ การจัดงานมหกรรมเชียงรายเบียนนาเล่ เป็นต้น
แฟชั่นหัตถกรรม ชุมชนคุณธรรมเสาธงหิน จังหวัดนนทบุรี
ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงนั้น จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ เพิ่มช่องทางการตลาดและการเจรจาธุรกิจ โดยการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามูลค่าทางเศรษฐกิจจากการเจรจาในต่างประเทศ อาทิ
- งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ฝรั่งเศส มูลค่า 1,986 ล้านบาท
- เทศกาลภาพยนตร์ปักกิ่ง มูลค่า 1,976 ล้านบาท
- งาน Hong Kong International Film & TV Market มูลค่า 1,378 ล้านบาท
- งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว มูลค่า 500 ล้านบาท
- งานแสดงสินค้าลิขสิทธิ์นานาชาติฮ่องกง มูลค่า 93 ล้านบาท
- งานเทศกาลภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้มูลค่า 5 ล้านบาท เป็นต้น
โดย วธ. พร้อมให้ความร่วมมือทุกภาคีเครือข่ายในการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ไม่ว่าจะเป็นงบสนับสนุน พัฒนาบุคลากร ช่องทางการตลาด ที่สำคัญจะมีการศึกษาแนวทางความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในการอบรมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมบันเทิงในอนาคต
ดันผู้ประกอบการไทย สร้างความยั่งยืนผลิตภัณฑ์
ที่ผ่านมาน กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการจัด โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) เข้าสู่ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2566 ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าวจัดขึ้นให้แก่ผู้เข้าอบรมทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวม 411 คน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพชุมชน ผู้ประกอบการ ให้มีความรู้ ความสามารถในด้านการแข่งขันทางการตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งในและต่างประเทศ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ให้ได้มาตรฐานและสามารถกระจายสินค้าไปจำหน่ายได้ทั่วประเทศ
สร้างรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกร่วมกันอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดงานมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นและของชาติให้คงอยู่ ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความเป็นไทยผ่านสินค้าทางวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ
โดยการอบรมได้ครั้งนี้ได้เชิญวิทยากรจากภาครัฐและภาคเอกชนมาให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ การบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวกับความรู้เกี่ยวกับตลาดค้าปลีกทั้งในและต่างประเทศ กิจกรรม Workshop เตรียมความพร้อมชุมชน ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาด Modern Trade การบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวกับ การขอจดแจ้งเลขทะเบียนอย. การขอจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น
เสียงจาก 'ผู้ประกอบการ'
ศิริพร พูลสุข วิสาหกิจชุมชนหัตถศาสตร์เพื่อสุขภาพ ประเภทผลิตภัณฑ์ สมุนไพร ชุมชนคุณธรรมวัดบางน้ำผึ้งใน จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมอบรม ได้ประโยชน์ในหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นคอนเนคชั่นและแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างผู้ประกอบการ ที่จะเสริมพลัง สานต่อกันในอนาคต ได้ดูแบบอย่างรูปแบบการพัฒนาความคิดและผลิตภัณฑ์ของทีม SME
ทำให้เกิดประกายความคิดว่า ถ้าเราจะนำผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายที่ Big C ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินเที่ยวกัน จะต้องพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์อย่างไร เรียนรู้จากคำแนะนำของอาจารย์ในโครงการนี้ ว่าผลิตภัณฑ์แบบไหนจะตอบโจทย์ลูกค้าที่สุด ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ของเราถูกใจนักท่องเที่ยวที่สุด เช่น แพคเกจจิ้งต้องน่าสนใจ ราคาต้องจับต้องได้
“เกิดแนวคิดใหม่เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราตอบโจทย์ระดับสากล เพิ่มอัตลักษณ์ความเป็นไทยเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ เช่น เพิ่มลายช้างไทย ปรับลูกประคบให้เล็กลงเพื่อให้นำกลับประเทศได้สะดวก ทำให้ชาวบ้านในชุมชนตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะได้รวมตัวกันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์การตลาด และต่อยอดอย่างยั่งยืนได้”
ด้าน ลดาวัลย์ สันติบุตร ตัวแทนผู้ผลิตเครื่องประดับลูกปัด แฟชั่นหัตถกรรม ชุมชนคุณธรรมเสาธงหิน จังหวัดนนทบุรี เผยว่า สิ่งแรกที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ คือ ความรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่เราควรจะรักษาสิ่งที่เราคิดค้น ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยคิดจะจด ในส่วนของการเข้าสู่ตลาด Modern Trade ก็ได้มุมมองความคิดหลายอย่าง เช่น การมาดูว่าผลิตภัณฑ์ของเราเหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มไหน ตอนนี้ก็พยายามปรับผลิตภัณฑ์เครื่องประดับลูกปัด ให้เป็นแฟชั่นหัตถกรรมมากขึ้น เพิ่มความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ด้วยการใส่ความเป็นไทยเข้าไป หรือปรับแพคเกจจิ้งให้สะดุดตานักท่องเที่ยวมากขึ้น และได้รู้จักผู้ประกอบการในสาขาอื่นๆ ด้วย
ปิดท้ายด้วย เอกวิทย์ นาเศรษฐ ผู้ผลิตภัณฑ์ส้มโอซีรีส์ ชุมชนคุณธรรมเทศบาลเมืองไร่ขิง (เกาะลัดอีแท่น) จังหวัดนครปฐม เผยว่า จากการอบรมได้เทคนิคมาปรับใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ SME และเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญา ถือว่าน่าสนใจมาก และที่สนใจที่สุดคือการนำสินค้าเข้า Modern Trade กับ Big C เพราะเราอยากนำสินค้าของเราเข้า Big C อยู่แล้ว จึงอยากสานต่อในเรื่องของขั้นตอนการนำสินค้าเข้าวางจำหน่ายด้วย
“ซึ่งทางสินค้าส้มโอซีรีส์ ตั้งใจจะปรับปรุงแพคเกจจิ้งให้ง่ายต่อการพกพาขึ้นเครื่องบินได้สะดวก เปลี่ยนจากแก้วเป็นซอง เพื่อตอบสนองต่อลูกค้าต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งสินค้าส้มโอซีรีส์ได้ทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ตลอดเวลา ใช้วัตถุดิบจากชุมชนเกาะลัดอีแท่น โดยใช้ส้มโอออแกนิกจากชุมชนทั้งหมด ซึ่งในอนาคตถ้าความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ส้มโอซีรีส์ก็จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน”