จริงหรือไม่ ? พื้นที่สีเขียว ช่วยลดความเสี่ยง กระดูกพรุน ตั้งแต่วัยเด็กได้
พื้นที่สีเขียวไม่ได้มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูกในเด็ก ลดความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนในอนาคต จะเป็นเพราะอะไรงานวิจัยมีคำตอบ
Key Points:
- ปัญหา “โรคกระดูกพรุน” ไม่ได้เกิดแค่กับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เด็กก็มีสิทธิ์เป็นได้จากปัญหาทางพันธุกรรม ที่จะส่งผลเสียต่อกระดูกมากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
- งานวิจัยล่าสุดของเบลเยียมเปิดเผยว่า “พื้นที่สีเขียว” มีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงในมวลกระดูกของเด็ก ไปจนถึงป้องกันปัญหากระดูกพรุนที่อาจตามมาในอนาคต
- เด็กที่มีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 25% ในรัศมี 1,000 เมตรจากบ้าน มีโอกาสที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงน้อยลงกว่าเด็กที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่สีเขียวถึง 66%
บางคนอาจคิดไม่ถึงว่า “พื้นที่สีเขียว” และ “โรคกระดูกพรุน” มีความเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะในเด็ก แต่มีงานวิจัยล่าสุดระบุว่าเด็กที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับพื้นที่สีเขียวจะมีกระดูกที่แข็งแรงกว่าเด็กที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ที่สำคัญยังเพิ่มเกราะป้องกันปัญหากระดูกพรุนในอนาคตได้อีกด้วย
โรคกระดูกพรุนเป็นที่รู้กันดีว่าส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่แท้จริงแล้วสามารถเกิดขึ้นกับวัยเด็กได้เช่นกัน ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางพันธุกรรมและส่งผลกระทบต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
- “กระดูกพรุน” ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ แต่เด็กก็มีสิทธิ์ป่วย
ปัญหาใหญ่ของ “โรคกระดูกพรุน” คือส่งผลกระทบต่อกระดูกทั้งร่างกาย เพราะความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง ทำให้กระดูกเปราะบางและแตกหักง่าย ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก แต่ส่วนมากมักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
ในคนทั่วไป “มวลกระดูก” จะค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก แต่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรืออายุประมาณ 25-30 ปี ร่างกายจะมีมวลกระดูกสะสมสูงสุด และคงที่ไปถึงอายุประมาณ 35-40 ปี แต่หลังจากนั้นมวลกระดูกก็จะเริ่มลดลง
แต่ว่าความจริงแล้ว “โรคกระดูกพรุน” ก็สามารถเกิดขึ้นในเด็กได้เช่นกัน จัดอยู่ในโรคกระดูกพรุนชนิดปฐมภูมิ มีสาเหตุมาจากการที่กระดูกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติหรือเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ถ้าเกิดในเด็กมักมาจากปัญหาพันธุกรรม เช่น จากแม่สู่ลูก
แม้ว่าโรคกระดูกพรุนจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ก็สามารถหาทางป้องกันได้ ข้อมูลทางการแพทย์ส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ มักเน้นไปที่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะแคลเซียม และออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า ปัญหาด้านกระดูกสามารถเริ่มดูแลได้ตั้งแต่เด็กโดยการให้เด็กๆ ได้เติบโตและวิ่งเล่นใน “พื้นที่สีเขียว”
- “พื้นที่สีเขียว” ตัวช่วยสำคัญเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก
ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว เมื่อมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน วารสาร JAMA Network Open โดย ทิม นอว์รอต (Tim Nawrot), ฮานน์ สลัวร์ส (Hanne Sleurs) และทีมงานจากมหาวิทยาลัยในเบลเยียมพบว่าเด็กที่มีพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านมักมีกระดูกที่แข็งแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่ประโยชน์ต่อสุขภาพตลอดชีวิต
โดยเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 20-25) มีความแข็งแรงของกระดูกมากขึ้นเมื่อเทียบกับการเติบโตตามธรรมชาติในเวลาครึ่งปี รวมถึงมีความเสี่ยงที่มวลหนาแน่นของกระดูกจะลดลง น้อยกว่าเด็กทั่วไปถึงร้อยละ 65 เพราะพื้นที่สีเขียวสามารถป้องกันไม่ให้เด็กกระดูกหักได้ง่าย ไปจนถึงลดความเสี่ยงในการเกิด “โรคกระดูกพรุน” เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
สำหรับความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่สีเขียวและความแข็งแรงของมวลกระดูก ทีมนักวิจัยพบว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เด็กเหล่านั้นได้มีโอกาสออกกำลังกายมากกว่าเด็กที่โตขึ้นในตัวเมืองหรือจุดที่เข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ยาก เพราะการออกกำลังเป็นประจำคือปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก นอกจากนี้สถานที่สีเขียวเหล่านี้ยังดึงดูดใจเด็กๆ ให้ออกไปวิ่งเล่นอีกด้วย
“ยิ่งมวลกระดูกแข็งแรงขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็กเท่าไร คุณก็จะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ง่ายขึ้นเท่านั้น” ทิม ระบุ
ก่อนหน้านี้ก็เคยมีงานวิจัยที่อธิบายว่า การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเพื่อช่วยให้เด็กได้มีกิจกรรมทางกายมากขึ้นนั้น มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กมากกว่าที่คิดเอาไว้มาก เช่น ลดความเสี่ยงภาวะน้ำหนักเกินที่อาจก่อให้เกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตลดลง ไอคิวสูงขึ้น รวมไปถึงมีสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดีขึ้นด้วย
ทั้งนี้ในราชอาณาจักรยังพบว่า “พื้นที่สีเขียว” ไม่ได้ส่งผลดีแค่กับเด็กเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ใหญ่มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยมีการคาดการณ์ว่าการเดินป่าจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตไปได้ถึง 185 ล้านปอนด์ต่อปี หรือประมาณ 8 พันล้านบาท
การศึกษาของ ทิม นอว์รอต และ ฮานน์ สลัวร์ส ใช้วิธีสำรวจจากการติดตามเด็ก 1,492 คน ในแถบฟลานเดอร์ส ประเทศเบลเยียม ที่มีอายุ 4-6 ปี ทั้งในตัวเมือง ชานเมือง และชนบท ตั้งแต่ปี 2014-2021
หลังจากนั้นก็ทำการอัลตราซาวนด์เพื่อวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกในเด็ก โดยใช้อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง เชื้อชาติ และอื่นๆ มาเป็นตัวชี้วัด
ผลวิจัยพบว่าเด็กที่มีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 25% ภายในรัศมี 1,000 เมตรจากบ้าน มีโอกาสที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงน้อยกว่าเด็กที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่สีเขียวถึงร้อยละ 66 ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ท้ายที่สุดนี้ทีมนักวิจัยได้ให้ข้อสรุปว่าผลจากการศึกษานั้นพบว่า “พื้นที่สีเขียว” มีความสำคัญต่อเด็กอย่างมาก เพราะถ้าการเจริญเติบโตของมวลกระดูกต่ำตั้งแต่อายุยังน้อย ก็ถือว่าเสี่ยงต่อการเกิด “โรคกระดูกพรุน” ไม่ต่างกับการสูญเสียมวลกระดูกเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
อ้างอิงข้อมูล : คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล, The Guardian และ One Green Planet