คืบหน้า กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ขับเคลื่อนการเติบโตสินค้าเกษตรไทย
โฆษกรัฐบาล เผยความคืบหน้ากรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างขับ เคลื่อนการเติบโตสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปไทย ผู้ประกอบการที่มั่นคง เกษตรกรรายได้ดี ย้ำสถิติมูลค่าการซื้อขายสินค้าเกษตร 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงกับจีน ปี 2566 อยู่ที่ 32.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2565
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่ารัฐบาลผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปของไทยไปยังประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีนอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมธุรกิจกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Business Forum) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 10 – 11 มกราคม 2567 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมธุรกิจการเกษตรและการลงทุนในสินค้าอาหารแปรรูป (Promoting Agribusiness and Investment in Processed Food Sector)”
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลสนับสนุนการประชุม the 6th Lancang-Mekong Business Forum เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ ในการขยายเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาธุรกิจการเกษตรและสินค้าอาหารแปรรูป ในการประชุม ผู้ประกอบการจากประเทศไทยและประเทศสมาชิกอื่น ๆ ตามกรอบความร่วมมือฯ ได้หารือแนวทางในการสร้างความร่วมมือเพื่อขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท ประเทศจีน ระบุว่า มูลค่าการซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่าง 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงกับประเทศจีน ในปีพ.ศ. 2566 อยู่ที่ 32.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15 % จากปี พ.ศ. 2565
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท ประเทศจีน (The Foreign Economic Cooperation Center of the Chinese Ministry of Agriculture and Rural Affairs) และสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างการประชุม ฯ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือผ่านการให้บริการทางวิชาการและการจัดการฝึกอบรมและค้นคว้าวิจัย
ตลอดจนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนบุคลากร ความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเกษตรและสินค้าอาหารแปรรูปของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือฯ พร้อมทั้งเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการหาตลาด เพิ่มราคา อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคการเกษตรและอาหารแปรรูปอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทุกกรอบความร่วมมือ จะเปิดโอกาสในการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารแปรรูป ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ผ่านการฝึกอบรมและค้นคว้าวิจัย การแลกเปลี่ยนนวัตกรรม และการขยายเครือข่ายจะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน พัฒนาวิถีชีวิตเกษตรกร ส่งผลถึงประชาชนไทยทุกคน” นายชัย กล่าว