ช้างป่าทำร้าย อาสาสมัครเสียชีวิต อุทยานฯช่วยเหลือ ขอเงินเยียวยา 2 แสน
อุทยานฯ เตรียมช่วยเหลืออาสาสมัครที่โคราช ถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิต จะขอเงินเยียวยา 2 แสน
กรณีช้างป่ากระทืบอาสาสมัครเสียชีวิตที่โคราช ล่าสุดอุทยานฯ เตรียมขอเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 200,000 บาท ขณะที่หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากำแพงม้า เสนอของบ 30 ล้าน สร้างรั้วคอนกรีต 12 กิโลเมตร กั้นเขตอุทยานฯ และชุมชน แก้ไขปัญหาช้างป่า-สัตว์ป่าทำร้ายชาวบ้านอย่างยั่งยืน
ความคืบหน้ากรณีช้างป่าเข้าทำร้ายอาสาสมัครผลักดันสัตว์ป่าวังน้ำเขียว บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ (22 มกราคม 2567) นายอรรณพ บัวนวล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า เปิดเผยถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า ช่วงเวลาตอนเกิดเหตุนั้น เวลาประมาณ 19.00 น. อาสาสมัครกำลังเดินทางเข้าไปประจำจุดเฝ้าระวังสัตว์ป่าที่บริเวณชุมชนบ้านคลองทราย ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว
ซึ่งมีอยู่สองจุด โดยในระหว่างการเดินทางนั้นได้พบกับช้างป่า 1 ตัว ซึ่งมีลักษณะอาการตกมันและดุร้ายได้พุ่งเข้าทำร้ายอาสาสมัครทั้งสองคน โดยคนหนึ่งนั้นวิ่งหนีรอดออกมาได้ ส่วนผู้เสียชีวิตนั้นวิ่งออกมาไม่ทัน จึงถูกช้างป่าเข้าทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส ก่อนที่อาสาสมัครที่วิ่งหนีออกมาได้จะได้แจ้งมายังตน
หลังรับแจ้งได้ประสานนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่เกิดเหตุ และพบอาสาสมัครที่ถูกช้างป่าทำร้าย ได้รับบาดเจ็บนอนร้องขอความช่วยเหลืออยู่ ณ จุดดังกล่าว ยังพอสื่อสารรู้เรื่องแต่อยู่ในอาการสาหัส ตนและเจ้าหน้าที่จึงได้เร่งนำตัวอาสาสมัครคนดังกล่าวส่งไปรักษายังโรงพยาบาลวังน้ำเขียว แต่ไม่สามารถช่วยเหลือชีวิตได้ทัน เนื่องจากบาดแผลภายในมีอาการสาหัสจากการถูกช้างป่าทำร้าย โดยเฉพาะปอดทั้งสองข้างเป็นแผลฉีกขาดและมีเลือดไหลออกมา ทำให้อาสาสมัครคนดังกล่าวเสียชีวิตในเวลาต่อมา
โดยในขณะนี้ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า กำลังทำเรื่องไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาอาสาสมัครผู้เสียชีวิต โดยจำนวนเงินเยียวยาเบื้องต้นนั้นไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท
สำหรับมาตรการป้องกันนั้น ทางเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าได้มีมาตรการทั้งหมด 3 ระยะ คือช่วงก่อนเกิดเหตุ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีสัตว์ป่าลงมาในพื้นที่ชุมชน ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเตรียมตัวอุปกรณ์ความพร้อมต่างๆ ในการเฝ้าระวังและผลักดันสัตว์ป่า ระยะที่ 2 คือระยะในช่วงเกิดเหตุ
ทางเจ้าหน้าที่ได้มีข้อปฏิบัติในช่วงระหว่างเกิดเหตุ คือนำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ เช่น รถไถ มาปิดกั้นเส้นทาง พร้อมขับไล่ผลักดันสัตว์ป่าออกจากพื้นที่ชุมชนตามที่ได้ฝึกอบรมมา และระยะที่ 3 เป็นระยะสุดท้าย คือระยะหลังเกิดเหตุจะมีการสำรวจความเสียหาย ถ้าเกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน ทางเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าจะดำเนินการติดต่อไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาให้กับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติงาน
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการแก้ปัญหาสัตว์ป่าเผชิญหน้ากับชาวบ้านเร่งด่วนที่ต้องทำขณะนี้ ก็คือ การสร้างรั้วคอนกรีต ระยะทางกว่า 12 กิโลเมตรในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเป็นแนวป้องกันสัตว์ป่าที่ออกมาจากเขตพื้นที่อุทยานกับเขตพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งต้องใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 30 ล้านบาท
ทางเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ได้เขียนโครงการเสนอไปแล้วหลายครั้งแต่ยังไม่มีความคืบหน้า โดยตนยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นจริงๆ ถ้าสามารถทำได้ จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแน่นอน