'เหนื่อยมั้ย'คำพูดฮีลใจที่ดีจากคนรัก เผยผลสำรวจ 3 ปัจจัยกระตุ้นรักพัง

'เหนื่อยมั้ย'คำพูดฮีลใจที่ดีจากคนรัก เผยผลสำรวจ 3 ปัจจัยกระตุ้นรักพัง

เปิดผลสำรวจวาเลนไทน์ 67 พบ 3 ปัจจัยกระตุ้นรักเป็นพิษ ยาเสพติด-การพนัน- สุรา ส่วน 'นอกใจ' พฤติกรรมทำให้รักพังมากที่สุด ขณะที่ 'เหนื่อยมั้ย' คำพูดฮีลใจดีที่สุด สสส. สานพลังเครือข่าย เปิดพื้นที่ส่งสัญญาณเตือน Love is not toxic รักไม่เป็นพิษ

Keypoint:

  • 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ อีกหนึ่งวันที่ใครหลายๆ คนได้แสดงความรักแก่คนรัก คนในครอบครัว เพื่อนฝูง ซึ่งความรักเป็นสิ่งสวยงาม แต่ปัจจุบันกลับพบว่าความรุนแรงที่เกิดจากการหึงหวง ความรักเพิ่มมากขึ้น
  • 'ยาเสพติด การพนัน สุรา' 3 ปัจจัยกระตุ้นทำรักพัง ขณะที่ 'นอกใจ' เป็นพฤติกรรมที่ทำให้รักเป็นพิษมากที่สุด 
  • 'เหนื่อยมั้ย' คำพูดฮีลใจที่อยากได้ยินจากคนรัก เด็กและเยาวชน เมื่อมีปัญหาความรักจะปรึกษาเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ แพทย์เผยวิธีสังเกตความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ

จากข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เผยแพร่ผ่านสื่อ ปี 2565 มีถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มจากปี 2564 กว่า 3 เท่า โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 347 ข่าว คิดเป็น 30.7% และยาเสพติด 272 ข่าว คิดเป็น 24%

ขณะที่เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สำรวจเยาวชนอายุ 13-25 ปี รวม 2,000 คน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงต้นเดือนก.พ. 2567  พบปัจจัยร่วมที่เข้ามามีส่วนทำให้คู่รักเปลี่ยนไป อันดับ 1 ยาเสพติด อันดับ 2 การพนัน และ อันดับ 3 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  

เครือข่ายเยาวชนและปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล   โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ประจำปี 2567 เสวนา ‘Love is not toxic รักไม่เป็นพิษ’  พร้อมทั้งจัดแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เยาวชนรวมพลังร่วมปกป้องสังคม ลดความเสี่ยงปัญหาความรักที่นำไปสู่ความรุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วันแห่งความรัก ความรักคืออะไร รักแบบไหนไม่ใช่ ศาลฎีกาพิพากษาไว้แล้ว

"วาเลนไทน์" บอกรักเก๋ๆ แบบไม่ซ้ำใคร แถมพ่วงความห่วงใย 

ยาเสพติด การพนัน สุรา ปัจจัยเสี่ยงทำรักพัง

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดกิจกรรมตอนหนึ่งว่า ผู้หญิงผู้ชายทุกคนจะมีความรักที่ไม่เป็นพิษได้ต้องลดปัญหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น  ซึ่งปัญหาความรักเป็นพิษสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยปัจจัยเสี่ยง  3 อันดับแรก ที่ทำให้ความรักของกลุ่มเยาวชน วัยหนุ่มสาวเป็นพิษ มาจากยาเสพติด การพนัน และแอลกอฮอล์

วันแห่งความรักในปีนี้ สสส. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสานพลังให้ทุกคนอยู่ร่วมในสังคมด้วยความความรักเกื้อกูลกัน สื่อสารการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไม่เป็นพิษ (Toxic) และรู้จักสัญญาณเตือนที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ทั้งความคิด คำพูด พฤติกรรม ที่สำคัญคืออยู่ให้ห่างจากปัจจัยกระตุ้นรักที่เป็นพิษ ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด พนัน

ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชนอายุ 15-24 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 1.9 ล้านคน หรือ 20.9% ซึ่งลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่เยาวชนในกลุ่มอายุนี้ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด 

ขณะที่ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปี 2564 มีเด็กและเยาวชนอายุ 15-25 ปี เล่นการพนัน 4.3 ล้านคน

"จากผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพความน่ากังวลของปัญหาเหล้า พนัน ยาเสพติดในเยาวชน ที่ชัดเจนว่าปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหา ส่งผลต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ โดยเฉพาะความรักของวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว ทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย หวังให้ประชาชนมอบความรักแก่กันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน พร้อมใช้ชีวิตห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว  

‘นอกใจ’ พฤติกรรมทำให้รักเป็นพิษมากที่สุด

น.ส.ปาลิณี  ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นเยาวชนอายุ 13-25 ปี ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2,000 ตัวอย่าง ช่วงต้นเดือนก.พ. ปี 2567 เรื่อง Love is not toxic รักไม่เป็นพิษ พบว่าพฤติกรรมที่ทำให้รักเป็นพิษมากที่สุด คือ

  • การนอกใจ 45.55%
  • การลดทอนคุณค่า 42.85%
  • ใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ 37.1%
  • ความคาดหวัง การกดดัน 33.3%
  • การแสดงความเป็นเจ้าของ 32.2%
  • ความเงียบ ถามไม่ตอบ 28.8%
  • ดื่มเหล้าเล่นพนัน ใช้ยาเสพติด 15.75%
  • ชอบเหวี่ยงชอบวีน 15.1%
  • โมโหร้าย ทำลายข้าวของ 14.6%
  • ขึ้นเสียง แสดงอำนาจ ชักสีหน้าใส่ 14.6%
  • เอาเรื่องส่วนตัวไปเล่าให้คนอื่นฟัง 7.6%
  • ติดเที่ยวกลางคืน ปาร์ตี้ 6.45%
  • เอาเปรียบเรื่องเงิน 5.55%

เด็กรุ่นใหม่มีปัญหาความรักปรึกษาเพื่อน 62.50%

เมื่อเกิดปัญหาแล้วเลือกที่จะปรึกษามากที่สุดคือ

  • เพื่อน 62.05%
  • พ่อแม่ คนในครอบครัว 21.6%
  • ครู อาจารย์ 9.5%
  • สื่อออนไลน์ 3.75 %

“สาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงคือการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ 42.1% การเลี้ยงดูจากครอบครัว 17.75% ประสบการณ์ชีวิต 10.7% พฤติกรรมเลียนแบบจากคนในครอบครัวที่ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7.85% ความเชื่อส่วนบุคคล 6.05% จิตเวช 5.7% เกม 5% สื่อซีรีส์หนัง 3.15% ส่วนปัจจัยร่วมที่ทำให้คู่รักเปลี่ยนไปคือยาเสพติด 58.7% พนัน 48.6% เหล้า 43.35% ติดโซเชียลมีเดีย 39.35% การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัว 38.1% ติดหนี้ 34.3% เกม 32.25%” น.ส.ปาลิณี  กล่าว  

ส่วนวิธีแก้ปัญหาอันดับแรกคือ

  • จัดการด้วยการพาตัวเองออกจากความสัมพันธ์ หรือเลิก 42.3%
  • สร้างพื้นที่ปลอดภัย สบายใจ 34.3%
  • หากิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ธรรมะ เล่นเกม 16.05%
  • แสดงความอ่อนแอ ร้องไห้ 4.9%

‘เหนื่อยมั้ย’ คำพูดฮีลใจจากคนรักที่อยากได้ยินมากสุด

น.ส.ปาลิณี  กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นพบว่า

  • มีการโพสต์ข้อความทางโซเชียลเพื่อระบายปัญหาความสัมพันธ์ของคู่รักมากที่สุด 36.55%
  • โพสต์เพื่อตำหนิ หรือประชด 35.6%
  • โพสต์โอ้อวด 14.9%
  • โพสต์เพื่อเรียกร้องความสนใจของคู่รัก 12.55%

“สังคมของวัยรุ่นเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ที่ Toxic น่าเป็นห่วง เพราะเป็นสัญญาณเตือนที่อาจจะนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และการใช้ความรุนแรงระหว่างคู่รัก และเห็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมที่จะทำให้ความรักเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด พนัน เหล้า ซึ่งพวกเราอาจจะต้อง รับรู้ เข้าใจปัญหา และร่วมกันหาทางออกกับปัญหาเหล่านี้”น.ส.ปาลิณี กล่าว

การสำรวจพบว่า คำพูดดีๆ ที่สามารถฮีลใจ หรือทำให้รู้สึกดีขึ้นคือ

  • เหนื่อยมั้ย 72.2%
  • สู้ๆ นะ คุณโอเคมั้ย 50.7%
  • รักนะจุ๊บๆ 49.5%
  • กอดนะ 47.85%
  • เป็นห่วงนะ 45%
  • กินอะไรมาหรือยัง 38.95%
  • เงินไม่พอบอกนะ 37.1%
  • วันหยุดนี้ไปเที่ยวไหนดี 34.75% 
  • ทำทุกอย่างเพื่อเรานะ 23.3%

สังเกตความสัมพันธ์ที่เป็นพิษได้ด้วยตนเอง

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวถึงรักที่เป็นพิษ สู่ปัญหาสุขภาพจิต-กาย และการบริหารจัดการชีวิตในความรักว่าปัญหาในความสัมพันธ์ตอนนี้ของใครหลายๆ คน คือ ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ หรือลดทอนคุณค่าของตัวเอง เมื่อความสัมพันธ์ไม่ดีต่อใจ ไม่ปลอดภัย ถูกควบคุม เป็นสัญญาณหนึ่งที่ต้องรู้ว่านี้เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ  

“หลายคนมักจะมีความหวัง ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ หวังว่าเขาจะดีขึ้น เขาจะเลิกทำในสิ่งไม่ดี  เมื่อเราไม่รู้เท่าทันจะทำให้เราอยู่ในวังวนความสัมพันธ์ที่ไม่ดี  เราต้องมองให้ออกว่าความสัมพันธ์รูปแบบไหนที่ดีต่อเรา ความสัมพันธ์ที่ดี ต้องทำให้เรามีความสุข มีคุณค่าในตัวเอง และมีพื้นที่ปลอดภัยในชีวิต ”ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าว

ส่วนบางคนที่อาจจะไม่สามารถก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ได้นั้น อาจจะเกิดจากการที่เขาไม่สามารถไปขอความช่วยเหลือจากใครได้ เราต้องหันกลับมาเป็นเพื่อนที่ดีของตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง ว่าเราอยากบอกอะไรเขา อยากทำอะไร และใจดีกับตัวเอง เราต้องมีความกล้าหาญ รู้สึกดีกับตัวเอง รักตัวเอง ให้กำลังใจกับตัวเอง ชมตัวเอง และหยุดความสัมพันธ์ที่ไปฝากไว้กับคนอื่น

ทั้งนี้ วิธีสังเกตความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนั้น  ต้องเริ่มจากการมองว่า มนุษย์ควรมีความสัมพันธ์ที่ดี มีความปลอดภัยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความรู้สึก ซึ่งสัญญาณแรกๆ  ว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ดี คือ ทำให้เราไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง  ต้องเป็นความสัมพันธ์ที่มีความสุขมากกว่าเดิม หรือไม่น้อยกว่าเดิม  และความสัมพันธ์ที่ไม่มีความหวัง มองไม่เห็นเส้นทางความฝันของตัวเอง  และความสัมพันธ์ที่เริ่มมีปัญหาในเรื่องอารมณ์ กลัว เบื่อหน่าย มีความรู้สึกเชิงลบมากกว่าความรู้สึกเชิงบวก

อย่างไรก็ตาม การให้โอกาสเป็นเรื่องสำคัญแต่ต้องเรียนรู้การให้โอกาสเหล่านั้น ถ้าเป็นโอกาสที่ให้แล้วเกิดความผิดพลาดซ้ำ ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง ว่าควรให้โอกาสหรือไม่ ทุกคนต้องมีขอบเขต

สัญญาณเตือน..ก่อนรักเป็นพิษ

น้องเอ (นามสมมติ) อายุ 22 ปี  มาบอกเล่าเรื่องราว ‘ทนเพราะรัก คิดว่าทุกอย่างดี สุดท้ายรักเป็นพิษ จนต้องออกจากความสัมพันธ์’ ว่าได้มีโอกาสพบรักกับอดีตแฟนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนคบกันรู้สึกว่าเป็นความรักที่ดีมากๆ เป็นสีชมพูอย่างที่ใครหลายๆ คนต้องการ เขาทำอะไรก็น่ารักไปหมด คุยด้วยแล้วสบายใจ ดีต่อใจ และพอมาวันหนึ่งก็เจอกับคำพูดแบบที่ไม่เคยมาก่อน เช่น อย่าใส่ชุดนี้เลยมันอ้วน เราก็จะนอยด์ หรือพอเราแต่งหน้า ก็บอกว่าหน้าเราเมือก ตอนนั้นเรารู้สึกแย่มาก และคำพูดของเขา ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นแบบนั้นจริงๆ เราด้อยค่าตัวเอง

 พอต่อมา อดีตแฟนเริ่มติดพนันออนไลน์ เขาเล่นสล็อต จนมีปัญหาเรื่องการเงิน และยุ่งกับเรื่องเงินของเรา เพราะตอนเป็นแฟนกันเราก็บอกรหัสเอทีเอ็ม บอกเลขบัญชี เขารู้ทุกอย่าง จึงนำเงินเราไปเล่นสล็อต อีกทั้งมีการยืมเงินเพื่อนสนิทเราไปเรื่อยๆ และเริ่มไม่คืนเงินเรา ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้เริ่มเป็นพิษกับเรา โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาเรื่องการเงิน แต่ขณะนั้นเราไม่ได้เลิก เนื่องจากสงสารเขา พ่อแม่เขาไม่ได้ส่งเสียเงินให้เขา เราจึงคบต่อและให้เงินเขา

หลังจากนั้น เมื่ออยู่กับเขาไปเรื่อยๆ เขาก็สร้างหนี้ให้แก่เรา โดยทั้งเงินค่าเช่าหอพัก ค่าเน็ต ค่าใช้จ่ายประจำวัน และเขาก็ไปกู้ยืมเงินออนไลน์ จนเราก็มีปัญหาหนี้จากที่เขาสร้างมากขึ้น จนกระทั่งคบกันมาได้ 11 เดือน เราเริ่มไม่ไหวและไปปรึกษาพี่สาว และเพื่อน ทุกคนบอกให้เราเลิก เราก็จะเลิก แต่เขาไม่ยอมเลิก เขาขู่จะฆ่าตัวตาย และส่งรูปปืนมาคู่ตลอดเวลา

น.ส.เอ(นามสมมติ)  เล่าต่อว่าเราบอกเลิก เขาก็จะบอกว่าเขาอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีเรา หรือถ้าเขาโมโห เขาก็จะส่งปืนมาว่าจะฆ่าเรา ตอนนั้นเรากลัวมาก แต่ก็สงสารร่วมด้วย จึงให้เพื่อนไปพูดคุย และเขาก็ขู่จะทำร้ายเพื่อนเรา เราเคยคิดจะไปแจ้งความ แต่พ่อเขาเป็นตำรวจ การจัดการตอนนั้น เราใช้วิธีในการตัดช่องทางการติดต่อทุกอย่าง และให้เพื่อนเป็นคนจัดการทุกอย่าง เขาก็หายไป แต่ก็มีการให้คนในครอบครัวทักมาหาเพื่อช่วยกล่อมเราให้กลับไป   ปัจจุบัน 7-8 เดือนที่เขาเงียบหายไป แต่มีการมาส่องในโซเซียลมีเดียต่างๆ ส่วนเราก็ได้ย้ายไปอยู่ใกล้กับคนใกล้ตัวเรา และสภาพจิตใจดีขึ้นมากๆ แล้ว

"อยากให้ทุกคนเวลามีปัญหาความรัก หรือเรื่องอะไร อย่าคุยกับตัวเองมากเกินไป เพราะจะหาทางออกค่อนข้างยาก ขอให้ปรึกษาคนใกลัตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน  หรือคนในครอบครัว และอย่าทนอยู่กับสิ่งที่ไม่โอเค หากความรักไม่ดีก็จะส่งผลต่อใจเรา เราต้องเซฟใจตัวเอง และอย่าให้ตัวเองทนอยู่กับความทุกข์นานเกินไป ต้องรู้จักการชมตัวเองบ่อยๆ" น.ส.เอ(นามสมมติ) กล่าว