ไขปมฝุ่น PM 2.5 รุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ-ภาคเหนือ | TEI

ไขปมฝุ่น PM 2.5 รุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ-ภาคเหนือ | TEI

มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคเหนือของไทย ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบหนักทั้งสุขภาพอนามัย ที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอาการป่วยจากสาเหตุของฝุ่นควันสูงกว่าปกติ รวมถึงเศรษฐกิจที่นักท่องเที่ยวลดลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ของทุกปีซึ่งกระทบต่อเนื่องในภาคธุรกิจต่างๆ กลายเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายระดมความร่วมมือเพื่อหาทางแก้ในการสร้างอากาศบริสุทธิ์กลับคืนมา 

การสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในพื้นที่ รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงค่ามาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นโดยค่า PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ปรับเป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมาตรการต่างๆ จึงจะต้องเข้มงวดและจริงจังมากขึ้น 

ก่อนอื่นจะต้องมาทำความเข้าใจกับปัญหา PM2.5 โดยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในปัจจุบันแหล่งกำเนิดในกรุงเทพมหานครมาจากการจราจร โดยเฉพาะการใช้รถยนต์ดีเซลที่มีกำมะถัน เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดฝุ่น การเผาในพื้นที่โล่งในพื้นที่เกษตรที่ปลูกข้าว และอ้อย

ในพื้นที่ภาคกลางรวมทั้งบางช่วงบางเวลาได้รับผลกระทบจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่มีลักษณะนิ่งจึงมีการสะสมของค่า PM 2.5 สูงตามไปด้วย

ในขณะที่พื้นที่ภาคเหนือตอนบนปัญหาหลักๆ มาจากการเผาในพื้นที่โล่งที่มีการทำเกษตรในพื้นที่ราบ และพื้นที่ป่าไม้ที่มีความลาดชั้นสูง ทั้งเกิดในพื้นที่เองและจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาด้วยการเข้าไปที่แหล่งกำเนิด การใช้มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการส่งเสริมควบคู่กันไป

ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้รวบรวมและวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาพร้อมด้วยแนวทางแก้ไข ดังนี้

1.พื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ลดการจราจรในท้องถนน ปัญหาหลักๆ จากการจราจร อาจจำเป็นจะต้องกำหนดจำนวนรถบางประเภท เช่น รถดีเซล รถเก่า เข้าไปในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น หรือในวันเวลาที่มีปัญหามลพิษทางอากาศ ควบคุมไปกับการส่งเสริมให้ใช้รถขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาด

การส่งเสริมทำงานที่บ้าน หรือเรียนออนไลน์ รวมทั้งการดำเนินมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด ในการตรวจจับรถควันดำหรือการจอดรถในพื้นที่ห้ามจอดที่กีดขว้างการจราจร เป็นต้น

การจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ

2.การควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร จะต้องดำเนินการควบคุมอย่างจริงจัง และใช้มาตรการที่เข้มงวด เช่น การใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมดำเนินการกับเจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดินการเกษตรที่มีการเผา และมีมาตรการส่งเสริมด้านราคาสำหรับผลิตผลที่เกิดจากการไม่เผา

รวมทั้งการรวบรวมนำวัสดุทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ โดยรัฐสนับสนุนโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชน การนำไปเป็นวัตถุดิบใช้ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นต้น

การเผาในพื้นที่เกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่ในการทำเกษตรโดยเป็นวิถีดั้งเดิมในพื้นที่ และจากการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้และมีตลาดรองรับชัดเจน

โดยจะต้องปรับระบบเกษตรแนวใหม่ โดยใช้ตลาดนำระบบเกษตรสู่ระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ เพื่อสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ขับเคลื่อนการพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชทางเลือกตรงตามความต้องการของตลาด 

การเผาในพื้นที่โล่งสร้างฝุ่น pm2.5

การเกิดไฟป่า โดย 80% ในประเทศไทยเป็นไฟที่เกิดในพื้นที่ป่าโดยเฉพาะในพื้นที่ผลัดใบประเภท ป่าเต็งรัง ซึ่งฤดูไฟป่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ของทุกปี

ปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงของไฟป่า คือ การสะสมของเชื้อเพลิง ความชื้น ทิศทางและความเร็วลม และความลาดชันของพื้นที่

ซึ่งการป้องกันการเกิดไฟป่าต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการจากหลายภาคส่วน และคนในชุมชนที่จะร่วมกันดูแลพื้นที่ และกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับของชุมชนที่ชัดเจนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในชุมชน พร้อมการจัดทำแนวกันไฟ การนำโดรน เข้ามาช่วยในการติดตามตรวจสอบและป้องกันและควบคุมการเกิดไฟป่าด้วยอีกทางหนึ่ง 

ประเด็นเรื่องคนอยู่ป่าที่มีการพูดคุยและดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็เป็นไปได้ค่อนข้างช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ รัฐจะต้องวางกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน เช่น การจัดที่ดินให้ชุมชน ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หรือที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จะต้องกำหนดระเบียบและการควบคุมการเผาอย่างเด็ดขาด

ฝุ่น PM 2.5 จากหมอกควันข้ามพรมแดนในภูมิภาค แม้ในภูมิภาคอาเชียนจะมีข้อตกลงเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ที่มีการให้สัตยาบันครบทั้ง10ประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้ว แต่การดำเนินการปฏิบัติการในระดับพื้นที่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรค

ในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงที่มีจุดความร้อนจำนวนมาก ประกอบไปด้วย เมียนมา ลาว กัมพูชา และไทย จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินการร่วมกัน โดยในระยะแรกจะดำเนินการร่วมกัน 3 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา และลาว ตามยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)

ฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน

ดำเนินการโดยโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน เพื่อจัดทำแนวทางและแผนปฏิบัติโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อขยายผลในระดับพื้นที่ ในปี 2567 นี้

โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือทั้งสามประเทศ และจะเพิ่มความร่วมมือกับประเทศกัมพูชาในระยะต่อไป
 
ท้ายที่สุดนี้ เพื่อให้เกิดการแก้ไขมลพิษทางอากาศ และ PM2.5 อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยการขับเคลื่อนข้อกฎหมายที่เข้มงวด และนำแนวทางในร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด มาปรับใช้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ พร้อมกับการส่งเสริมองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญผ่านงานวิจัยที่เป็นข้อมูล นำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมต่อไป.