กรมอุตุ พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน วันนี้ - 6 มี.ค.67 ตราด - ชลบุรี ร้อนทะลุ 50 องศา
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ของไทยช่วง 4 - 6 มี.ค.67 จ.ตราด - ชลบุรี อากาศร้อนสุดทะลุ 50 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงเทพฯ พุ่งสูงเกินต้าน 48 องศาเซลเซียส
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงาน พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน หรือ Heat Index ของประเทศไทย ซึ่งเป็นค่าอุณหภูมิที่คนรู้สึกได้ถึงอากาศร้อนในขณะใดขณะหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 4 - 6 มีนาคม 2567 พบตัวเลขอุณหภูมิความร้อนที่น่าสนใจดังนี้
จังหวัดที่มีค่าดัชนีความร้อนสูงสุด
วันที่ 4 มีนาคม 2567
- ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ 40.3 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ 39.6 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
- ภาคกลาง กทม. 46.0 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
- ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี 48.3 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
- ภาคใต้ จ.กระบี่ 44.8 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
วันที่ 5 มีนาคม 2567
- ภาคเหนือ: ตาก 39.9 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: นครราชสีมา 38.7 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
- ภาคกลาง: กรุงเทพฯ 48.1 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
- ภาคตะวันออก: ตราด 50.6 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
- ภาคใต้: กระบี่ 42.5 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
วันที่ 6 มีนาคม 2567
- ภาคเหนือ: ตาก 39.6 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: บุรีรัมย์ 39.4 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
- ภาคกลาง: กรุงเทพฯ 48.1 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
- ภาคตะวันออก: ชลบุรี 51.4 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
- ภาคใต้: ภูเก็ต 48.3 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
ดัชนีความร้อน หรือ Heat Index คือ "อุณหภูมิ" ที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นว่า อากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยค่าดัชนีความร้อนสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อน หากพื้นที่ ที่มีอากาศร้อนหากเกิดร่วมกับความชื้นสูงแล้วจะทำให้คนเรารู้สึกเหมือนอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศ ณ ขณะนั้น ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพ
กรมอุตุนิยมวิทยา เผยพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน (HI) มี 4 ระดับ ดังนี้
- สีเขียว หมายถึง ระดับเฝ้าระวัง แทนค่าดัชนีความร้อน 27-32 °C ผลกระทบต่อสุขภาพ คือ อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน
- สีเหลือง หมายถึง ระดับเตือนภัย แทนค่าดัชนีความร้อน 32-41°C ผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
- สีส้ม หมายถึง ระดับอันตราย แทนค่าดัชนีความร้อน 41-54 °C ผลกระทบต่อสุขภาพ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) ได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
- สีแดง หมายถึง ระดับอันตรายมาก แทนค่าดัชนีความร้อน มากกว่า 54 °C ผลกระทบต่อสุขภาพ จะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) โดยมีอาการตัวร้อน เวียนศีรษะ หน้ามืด ซึมลง ระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตได้หากสัมผัสความร้อนติดต่อกันหลายวัน
ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์